เหงื่อไม่ออก...ไม่ได้แปลว่าไม่ร้อน แต่อาจเสี่ยงภาวะขาดเหงื่อ

งงเหมือนกัน ทั้งที่อากาศก็ร้อนอย่างกับอยู่กลางทะเลทราย แต่ทำไมเราไม่ยักกะมีเหงื่อสักเม็ด ในขณะที่ชาวบ้านเขาแค่ออกมาเจออากาศร้อนไม่ถึง 5 นาที ก็เหงื่อท่วมอย่างกับเพิ่งอาบน้ำมา จะว่าเป็นเพราะ “รอยสัก” ตามที่มีผลการวิจัยล่าสุดโดย Alma College ในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา รายงานไว้ว่าการสักตามร่างกายส่งผลข้างเคียงต่อการขับเหงื่อทางผิวหนัง โดยผิวตรงบริเวณที่ถูกสักจะมีเหงื่อออกน้อยกว่าบริเวณที่ไม่มีรอยสัก คือถ้ายิ่งมีรอยสักมากๆ ตามผิวหนังส่วนต่างๆ ก็ยิ่งทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาได้น้อยลงตามไป ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะนี่ไม่มีรอยสักนิด งั้นก็เหลือแค่...ภาวะขาดเหงื่ออย่างเดียวแล้วล่ะ



ร้อนจะตาย แต่ทำไมไม่มีเหงื่อ
ภาวะขาดเหงื่อ (Anhidrosis) หมายถึง อาการที่ไม่มีเหงื่อออก หรือมีเหงื่อน้อยกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน หรือออกกำลังกายอย่างหนักแล้วก็ตาม อาจมีตั้งแต่ในระดับเบา มีเหงื่อออกน้อย ไปจนถึงระดับรุนแรง ที่ไม่มีเหงื่อออกเลย ซึ่งการที่เราไม่มีเหงื่อ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถถ่ายเทความร้อน และลดอุณหภูมิของร่างกายลงได้ ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป จนอาจส่งผลให้เกิดสภาวะที่เป็นอันตราย เช่น ตะคริว เพลียแดด หรือลมแดด เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็อาจเกิดขึ้นแค่เพียงบางส่วนของร่างกาย จึงทำให้ยากต่อการสังเกตและการวินิจฉัย บ่อยครั้งที่ภาวะขาดเหงื่อนั้นอาจจะส่งผลแค่กับบางบริเวณของร่างกาย แต่ส่วนอื่นยังคงมีเหงื่อออกตามปกติ ทำให้ร่างกายสามารถคลายความร้อนได้ และไม่เป็นอันตรายใดๆ

ภาวะขาดเหงื่อ เชื่อว่าเพราะเหตุนี้
ถ้าสังเกตว่าตัวเองมักจะไม่มีเหงื่อออกหรือมีเหงื่อออกน้อย วิงเวียน ร้อนวูบวาบ เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เหนื่อยล้า รู้สึกร้อนมากเกินไป อาการเหล่านี้อาจเป็นได้ที่จะมีภาวะขาดเหงื่อ ที่จะเกิดขึ้น เมื่อต่อมเหงื่อไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง โดยอาจเป็นผลมาจาก...
  • โรคแต่กำเนิด เช่น การเจริญเติบโตผิดปกติ อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต่อมเหงื่อ และทำให้ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติได้
  • โรคทางพันธุกรรมอย่างโรคฟาเบรย์ (Fabry’s disease) ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย 
  • กลุ่มโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue disease) เช่น โรคโจเกรน (Sjogren’s disease) ที่นอกจากจะทำให้เกิดอาการตาแห้งและปากแห้งแล้ว ยังอาจส่งผลให้เหงื่อออกน้อยกว่าปกติได้ด้วย
  • การบาดเจ็บที่ผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน แผลไฟไหม้ หรือแผลจากการฉายรังสีบำบัด ที่ส่งผลต่อการทำงานของต่อมเหงื่อ
  • โรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท เช่น โรคเบาหวาน หรือ โรคพิษสุราเรื้อรัง
  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) หรือการดื่มน้ำน้อยเกินไป ก็อาจทำให้ร่างกายมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะผลิตเหงื่อได้เหมือนกัน
  • การทานยาบางชนิด ที่มีฤทธิ์ข้างเคียงต่อการขับเหงื่อ



ถ้าอยากให้เหงื่อออก (เหมือนคน) ปกติ คงต้องเริ่มที่ตัวเอง ด้วยการกินอาหารเสริมประเภทขิงและถั่วเหลือง ซึ่งช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และทำให้ร่างกายสามารถขับเหงื่อได้ดียิ่งขึ้น ควบคู่กับการดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และช่วยให้ร่างกายมีน้ำมากพอที่จะไปผลิตเป็นเหงื่อ และขับเหงื่อออกจากร่างกายได้ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ อาจมีผลกับผู้ที่มีปัญหาเหงื่อไม่ออกแค่บางจุดของร่างกาย หรือมีเหงื่อออกน้อยเท่านั้น ไม่สามารถรักษาภาวะขาดเหงื่อได้ 


เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้รุนแรงถึงขั้นเป็นลมแดด หรือฮีทสโตรก...ที่ (อาจ) เป็นอันตรายถึงชีวิต ควรหาเวลาไปพบแพทย์สักหน่อยจะดีกว่า
-->