เรื่อง (ทำ) เล็บ ไม่ใช่เรื่องเล็ก! จะสวยคุ้มเสียจริงหรือ?

 
เพราะวงการทำเล็บ เป็นอีกหนึ่งวงการที่เข้าแล้วออกยาก ไม่เชื่อก็ลองไปถามสาวๆ ทั้งหลายดู รับรองว่าหลายๆ คนก็ต้องยอมรับเป็นเสียงเดียวกัน ก็แหม! ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้หญิงนี่หน่า เลยต้องดูแลความสวยความงามกันสักหน่อย ซึ่งการดูแลตัวเองให้สวยงามนี้ก็คงดีอยู่หรอกถ้าไม่ได้มีรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับสุขภาพที่ลงใน ‘Environment International’ ฉบับเดือนมกราคม 2016 ได้ศึกษาและรายงานเกี่ยวกับอันตรายของยาทาเล็บว่าอาจมีผลต่อระบบการเจริญเติบโตของร่างกาย 
โดยงานวิจัยนี้ได้ทำการเก็บตัวอย่างจากผู้ที่ใช้ยาทาเล็บทั้งหมด 24 คน พบว่าภายใน 10 ชั่วโมงหลังการทาเล็บ สาวๆ ทั้ง 24 คน มีสารตกค้างที่ชื่อ ‘ไตรเฟนิลฟอสเฟต’ (triphenyl phosphate) อยู่ในร่างกาย ซึ่งคุณสมบัติของสารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ ที่ทำหน้าที่เป็นโปรแกรมควบคุมการทำงานของฮอร์โมน กระบวนการเมตาบอลิซึม รวมทั้งระบบการสืบพันธุ์และการเจริญเติบโต 
 
นี่ยังไม่รวมถึงการต่อเล็บ และการทำเล็บแบบอื่นๆ อีกนะ เอาล่ะสิ! ท่าทางเรื่อง (ทำ) เล็บ คงจะไม่ใช่เรื่องเล็กซะแล้ว...  คงต้องมาดูกันว่าการทำเล็บอาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่นๆ อะไรอีกบ้าง จะสวยคุ้มเสียหรือไม่ก็ลองตัดสินใจกันดู


 
ทาเล็บบ่อยเสี่ยงมะเร็ง?
จากข้อมูลของหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในน้ำยาทาเล็บนั้นมีสารบางชนิดที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ระบบฮอร์โมน รวมถึงเกี่ยวข้องกับการก่อมะเร็ง เช่น
 
#สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งเป็นสารที่มีกลิ่นฉุนและไม่มีสี ช่วยให้น้ำยาทาเล็บแข็งตัว หากใช้บ่อยจะทำให้เล็บแห้ง เปราะได้ง่ายขึ้น ตามกฎหมายอนุโลมให้ใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเล็บได้โดยต้องมีความเข้มข้นไม่เกิน 5%
 
#สารโทลูอีน (Toluene) เป็นสารเคมีที่ช่วยให้น้ำยาทาเล็บมีผิวเรียบเมื่อทาลงบนเล็บ ซึ่งหากสูดดมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อลำคอ และปอดได้ ตามกฎหมายอนุโลมให้ใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเล็บได้โดยต้องมีความเข้มข้นไม่เกิน 25%
 
แม้ว่าสารทั้งสองชนิดนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อมะเร็ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทาเล็บแล้วจะทำให้เป็นมะเร็งนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก เนื่องจากน้ำยาทาเล็บในปัจจุบันระเหยและแห้งค่อนข้างเร็ว ดังนั้นหากเรารู้จักวิธีการทาเล็บให้ถูกวิธี ก็จะทำให้สามารถลดความเสี่ยงได้


พฤติกรรมทำ (ร้าย) เล็บ
• อบเล็บ
ในขั้นตอนการอบเล็บจะมีรังสียูวีจากเครื่องอบ ซึ่งรุนแรงกว่ารังสียูวีจากดวงอาทิตย์ถึง 4 เท่า เพราะฉะนั้นสาวๆ ที่ทาเล็บเจลเป็นประจำ โดยเฉพาะคนที่เริ่มทาเล็บเจลตั้งแต่อายุยังน้อย อาจได้รับรังสียูวีสะสม เป็นเหตุให้เกิดปัญหาผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นการที่ผิวหนังถูกทำลายจากรังสียูวี ผิวแก่ก่อนวัย รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังด้วย 
• ขูดเล็บ
การทาเล็บเจลจะต้องมีการขูดแลตะไบหน้าเล็บเพื่อเอาสีเก่าออกไป ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายให้กับเล็บ ทำให้เล็บบางลงหรือฉีกขาด ยิ่งนานวันเข้าก็จะยิ่งอ่อนแอจนหน้าเล็บไม่แข็งแรงในที่สุด
• แซะโคนเล็บ
ในการเตรียมหน้าเล็บให้พร้อมจะต้องมีการแซะโคนเล็บ ซึ่งขั้นตอนนี้เองที่จะทำให้โคนเล็บและจมูกเล็บด้านและแห้งแตกง่ายกว่าปกติ อันเนื่องมาจากการโดนเสียดสี
• ตัดหนังบริเวณโคนเล็บ (Cuticle)
ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่โคนเล็บ จึงอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราได้
• ล้างเล็บ
การใช้น้ำยาล้างเล็บอาจทำให้ผิวหนังโดยรอบเกิดการแพ้ ระคายเคือง จนติดเชื้อได้ในที่สุด
• ต่อเล็บ
ในการใช้เล็บพลาสติกต่อเพื่อให้เล็บยาวขึ้นจะต้องใช้กาวเพื่อยึดติด โดยในกาวมักมีสารที่อาจก่อให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัสได้ ทั้งยังมีรายงานด้วยว่าพบอาการเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบหรือหอบหืดในบางรายที่ทำด้วย
• ใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด
เพราะการทำเล็บต้องใช้อุปกรณ์เพื่อการตัดแต่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดบาดแผล และเกิดการติดเชื้อลุกลามได้


ทำเล็บ (สวย) อย่างปลอดภัย
1. ความสะอาดต้องมาก่อน โดยเฉพาะหากเป็นการทำเล็บที่ร้าน ควรเลือกร้านที่ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่สะอาด ได้มาตรฐาน และผ่านการฆ่าเชื้อ
2. หาตัวช่วยกันรังสียูวี ไม่ว่าจะเป็นครีมกันแดดหรือถุงมือ โดยหากเป็นครีมกันแดดก็ควรเลือกชนิดที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป พร้อมด้วยคุณสมบัติกันน้ำ สามารถออกฤทธิ์ในกว้าง (Broad spectrum) ช่วยป้องกันรังสีทั้งยูวีเอ (UVA) และยูวีบี (UVB) เพื่อลดความเสี่ยงจากมะเร็งผิวหนัง และผิวหนังแก่ก่อนวัย
3. ทำเล็บแล้วอย่าลืมบำรุงด้วย โดยควรจะบำรุงเล็บและผิวหนังโดยรอบ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นเป็นประจำ เพื่อให้เล็บคงความยืดหยุ่น และไม่เปราะฉีกง่าย
4. ไม่ควรทาหรือทำเล็บเจลติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน และควรพักเล็บอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ก่อนจะทำในครั้งต่อไป 
5. อย่าแกะเล็บเจลออกเอง เพราะอาจทำให้เล็บจริงเสียหายได้
6. เวลาล้างเล็บ ไม่ควรให้น้ำยาล้างเล็บสัมผัสกับผิวหนังบริเวณอื่นนอกจากเล็บ เพื่อป้องกันการระคายเคือง
7. หากเล็บอ่อนแอ เปราะบาง หรือมีผิวหนังแพ้ง่ายอยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการทาสีเล็บเจล
-->