เมื่อ ‘ไทรอยด์’ กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวจนน่าตกใจ
ดูเผินๆ หลายคนอาจจะคิดว่าไทรอยด์เป็นโรคที่ไกลตัว และก็ไม่น่าจะมีความรุนแรงอะไร แต่รู้มั้ยว่าปีๆ หนึ่งมีคนเป็นโรคนี้กันไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่มีสถิติว่ามักจะพบโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 5 เท่า ซึ่งถ้าปล่อยไว้จนถึงวันที่เข้าขั้นวิกฤติ ก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่ทำให้เป็นอันตรายได้
เพราะ ‘ต่อมไทรอยด์’ เป็นเหมือนศูนย์สั่งการ
ต่อมไทรอยด์นั้นได้ชื่อว่าเป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากต่อมนี้มีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และมีส่วนในการควบคุมกระบวนการเผาผลาญต่างๆ กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายและการหลั่งของเหงื่อ ซึ่งเมื่อต่อมนี้ทำงานผิดปกติ หรือมีภาวะต่อไทรอยด์โต ก็จะทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายรวนตามไปด้วย
สิ่งสำคัญคือต้องสังเกต ‘อาการ’ ที่ชี้ว่ามีความเสี่ยงต่อไทรอยด์ผิดปกติ
ถ้าพูดถึงโรคไทรอยด์นั้น ที่คุ้นหูกันบ่อยๆ คงจะเป็นเรื่องของไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งจริงๆ แล้วโรคไทรอยด์นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด คือ ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเกินหรือไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนต่ำ และก้อนที่ไทรอยด์ ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีความแตกต่างและอาการที่แตกต่างกัน
#1 ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเกิน หรือไทรอยเป็นพิษ
ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเกินหรือเรียกอีกอย่างว่า Hyperthyroid คือโรคไทรอยด์ที่มีการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่มากเกินไป ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงเกินไป ทำให้มีการทำงานของเซลล์ในร่างกายเร็วกว่าปกติ ซึ่งไทรอยด์ชนิดนี้สามารถเกิดได้กับทุกช่วง โดยจุดสังเกตอาการคือ จะมีอาการมือสั่น ใจสั่น ขี้ร้อน ขี้หงุดหงิด นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหนื่อย ขาดสมาธิ ผมร่วง ต่อมไทรอยด์โต ตาโปน กินเยอะแต่น้ำหนักลดเหมือนว่าร่างกายมีการเผาผลาญตลอดเวลา ซึ่งน้ำหนักอาจลดลง 5-10 Kg. ภายใน 1 เดือน ทั้งๆ ที่ก็ทำตัวปกติ ไม่ได้ออกกำลังกายอะไร การรักษาในกลุ่มนี้จะเป็นการให้กินยาต้านประมาณ 2 ปี และหลังจากหยุดยาก็จะมีการตรวจซ้ำอีกครั้ง เพราะยังคงมีความเสี่ยงสูงถึง 70% ในการกลับมาเป็นใหม่
#2 ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนต่ำ
ชนิดนี้เรียกว่า Hypothyroid เนื่องจากต่อมไทรอยด์มีการทำงานที่น้อยเกินไป ทำให้ระบบฮอร์โมนในเลือดต่ำเกินไป ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ในร่างกายช้ากว่าปกติ จุดสังเกตอาการคือ น้ำจะขึ้นง่าย ร่างกายไม่ค่อยเผาผลาญ เลยทำให้อ้วนขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่จำเป็นว่าคนอ้วนจะต้องเป็นคนที่เป็นไฮโปไทรอยด์ทุกคน ซึ่งข้อต่างของคนที่เป็นไทรอยด์ชนิดนี้คือเมื่อไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนต่ำก็สามารถรักษาด้วยการกินยาฮอร์โมนไทรอยด์เข้าไป เพื่อให้ฮอร์โมนกลับมาอยู่ในระดับที่สมดุล ร่างกายสามารถเผาผลาญได้ตามปกติ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะต้องกินไปตลอดชีวิต
#3 ก้อนที่ต่อมไทรอยด์
ในเคสที่เจอก้อนที่บริเวณต่อมไทรอยด์ ทำให้หลายคนกังวลว่าจะเป็นเนื้อร้ายหรือเปล่า ซึ่งทางคณพแทพย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลก็บอกว่าไม่จำเป็นเสมอไป เพราะการที่จะรู้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่นั้น คือต้องเจาะก้อนที่ต่อมไทรอยด์เพื่อนำเซลล์ไปตรวจ ซึ่งจากสถิติแล้วพบว่ามีแค่ 5% เท่านั้นที่ตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง นอกนั้นก็เป็นแค่ก้อนธรรมดาที่ไม่ได้อันตรายอะไร ซึ่งหากไม่ได้กระทบต่อชีวิตประจำวันแพทย์ก็อาจไม่ได้แนะนำให้ผ่าตัด เนื่องจากบริเวณนั้นจะมีทั้งเส้นเลือดและเส้นเสียงจำนวนมาก
#4 มะเร็งต่อมไทรอยด์
ส่วนใหญ่แล้วชนิดนี้มักเป็นการที่โรคนั้นพัฒนามาจากก้อนที่ต่อมไทรอยด์ หรือภาวะไทรอยไม่เป็นพิษ ซึ่งอาการของการเป็นโรคชนิดนี้มักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่ถ้าทางครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็ง หรือเคยมีการฉายแสงที่คอ มีอาการกลืนลำบาก เสียงแหบ หรือมีก้อนที่คอโตเกิน 4 ซม. ซึ่งหากผลจากการเจาะก้อนมาตรวจแล้วปรากฎว่าเป็นเซลล์มะเร็งก็จะรักษาด้วยการผ่าตัด หรืออาจมีการรักษาเพิ่มเติมด้วยรังสีไอโอดีนหลังผ่าตัด ส่วนการรักษาด้วยรังสีและเคมีบำบัดนั้นอาจจะยังไม่มีการใช้ในการรักษามะเร็งในส่วนนี้ในการรักษามะเร็งไทรอยด์ชนิดที่พบได้บ่อย
ฟังดูแล้วอาจจะน่ากลัว แต่หากเราตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว และเข้ารับการรักษาได้เร็ว ก็มีโอกาสหายได้ และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจทำให้ตัวโรครุนแรงได้