เช็คกันหน่อย!!! คุณติด “หวาน” เกินไปหรือเปล่า

เราอาจจะแซวกันขำๆ ว่ากินหวานมาก ระวังเป็นเบาหวานนะจ้ะ... ซึ่งไม่เกินเลยความจริงเท่าใดนัก

นอกจากโรคเบาหวาน ประเภท 2 แล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกายมีมากกว่านั้น สิ่งแรกที่คุณสังเกตเห็นคือน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น งานวิจัยอีกหลายชิ้นยังยืนยันตรงกันว่าความหวานที่คุณเติมเข้าร่างกายทุกวัน เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมะเร็งบางชนิดอีกด้วย

ถ้าคุณยอมรับว่า “ติดหวาน” แล้วเริ่มลดหวานลงบ้าง ก็ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีต่อสุขภาพ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ปฏิเสธและไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็เป็นอีกคนที่ขาดหวานไม่ได้... มาดู 5 สัญญาณที่เรานึกไม่ถึงกันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง

Photo by Pete Wright on Unsplash
1) ปิดบังว่าเป็นคนติดหวาน
บางคนก็รู้ตัวดีว่าตัวเองเป็นคนติดหวาน แต่แทนที่พวกเขาจะหาทางลดปริมาณน้ำตาลลงบ้าง กลับปิดบังมันไว้... ดร.เคน เบอร์รี่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจากสหรัฐอเมริกา บอกว่าการหาข้อแก้ตัวหรือตกลงกับตัวเองว่าทุกครั้งที่กินขนมหรือน้ำหวานไม่ใช่เรื่องแย่ เป็นสัญญาณชัดเจนว่าคุณติดหวาน

2) กินของหวานแม้แต่ตอนที่ยังไม่หิว
หลายคนน่าจะเคยแซวคนใกล้ตัวว่ามีกระเพาะสำหรับของคาวและของหวานแยกกัน แม้จะจัดบุฟเฟต์ชาบู หมูกระทะ หรืแม้แต่แซลมอนไปชุดใหญ่ แต่ก็ยังกินไอศกรีม น้ำแข็งใส หรือเค้กชิ้นโตได้อีก... ซึ่ง ลิซ่า เรเชล สไนเดอร์ โค้ชด้านการกินชาวอเมริกัน บอกว่า การกินขนมหวานโดยที่ไม่หิวหรืออิ่มมากๆ ไม่ใช่ความหิวทางกาย คุณแค่อยากได้น้ำตาลเพราะติดหวานต่างหาก

3) อยากกินอะไรเค็มๆ
เราเองก็ว้าวกับข้อนี้เหมือนกัน... ความอยากอาหารรสเค็มเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าร่างกายของเราได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ขณะที่นักโภชนาการต่างก็เห็นพ้องกันว่า คนที่ติดหวานมักได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
ลิซ่า ริชาร์ดส์ นักโภชนากรชาวอเมริกัน อธิบายว่า คนที่กินหวานเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นขนมนมเนย อาหารหรือเครื่องดื่ม ร่างกายมักได้รับโปรตีนและไขมันดีไม่มากพอเท่าที่ร่างกายต้องการ ถ้าใครรู้สึกอยากกินของรสเค็ม ก็ถึงเวลาที่คุณต้องตัดหวานและหาของดีมีประโยชน์ให้ร่างกายบ้างแล้วล่ะ... อีกแง่หนึ่งคือถ้าคุณติดกินเค็ม คุณจะรู้สึกอยากของหวานหรืออยากกินแป้ง วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือปรับสมดุล กินอาหารที่หลากหลายให้ร่างกายได้รับสารอาหารหลักและสารอาหารรองอย่างครบถ้วนจะดีที่สุด

4) หายเศร้าได้เพราะของหวาน
เคยเป็นมั้ย? หลังจากดูหนังเศร้าๆ เจอกับวันแย่ๆ หรือเพิ่งเลิกกับแฟนแล้วอยากกินของหวาน ถ้าเป็นแบบนี้ต้องระวังแล้วล่ะ... ลิน แอนเดอร์สัน นักบำบัดผู้เชี่ยวชาญการติดยาเสพติด บอกว่านี่เป็นอาการทางจิตของคนติดหวาน ที่มักจะเปลี่ยนความพึงใจจากรสหวานเป็นเครื่องบรรเทาความกดดัน ความเบื่อ ความวิตกกังวลหรือแม้แต่โรคซึมเศร้า ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อสุขภาพโดยรวมเลย 
ที่สคำญ นักวิจัยจาก University of Warwick ยังพบว่าน้ำตาลไม่ได้ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นเลยด้วย
 
5) รู้สึกผิดทุกทีที่กินหวาน
ความรู้สึกผิดที่เกิดจากการกิน (ไม่ว่าจะรสชาติไหน) อาจสะท้อนว่าคุณกำลังป่วยเป็นโรค Eating disorder คนป่วยโรคนี้มักมีพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ ทำให้น้ำหนักตัวมากหรือน้อยกว่าเกณฑ์ทั้งยังอันตรายถึงชีวิตเลยนะ... ถ้าคุณเองรู้สึกผิดทุกทีที่กินหวานแต่ก็หยุดหรือห้ามตัวเองไม่ได้ อาจถึงเวลาที่คุณต้องพบแพทย์แล้วล่ะ
 
สำหรับใครที่ติดหวานและกลัวว่าตัวเองจะป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วยหรือเปล่า... พญ.ศศิภัสช์ ช้อนทอง อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม รพ.พญาไท นวมินทร์ แนะว่า หากใครติดหวานและกังวลว่าจะป่วยเป็นเบาหวาน ก็สามารถป้องกันได้โดยการลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาลและไขมัน เน้นโปรตีนและผักผลไม้ รวมทั้งเพิ่มการออกกำลังกาย ก็ช่วยป้องกันได้แล้วล่ะ



 
-->