เครื่อง UV แบบพกพา ฆ่าเชื้อโรคได้จริงมั้ย?


ช่วงนี้นอกจากหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ กำลังเป็นที่ต้องการสูงมากกกกจนขาดตลาดแล้ว ยังมีอีกหนึ่งไอเท็มที่ฮิตไม่แพ้กัน นั่นก็คือ Portable UV Light ที่เป็นเหมือนแท่งไฟส่องแสงยูวีเพื่อฆ่าเชื้อโรค ว่าแต่มันใช้ฆ่าเชื้อโรคได้จริงมั้ย?





แสง UV มีกี่แบบ
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า แสงยูวี หรือ Ultraviolet นั้นเป็นพลังงานในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นช่วงแสงที่เรามองไม่เห็น โดยแสงยูวีนั้นจะแบ่งประเภทตามช่วงความยาวคลื่น ทำให้มีทั้ง ยูวีเอ (UV-A) ยูวีบี (UV-B) และก็ยูวีซี UV-C ซึ่ง 2 ตัวแรกนั้นเราคงเคยได้ยินกันมาเยอะแล้ว คราวนี้เราเลยจะมาพูดถึงแสง UV-C กันบ้าง

UV-C รังสีนี้ แตกต่างยังไง
เว็บไซด์ insider ได้พูดถึงรังสียูวีซี ไว้ว่า เป็นรังสีที่มีช่วงความยาวของคลื่นสั้นที่สุดเมื่อเทียบกับรังสีอีก 2 ประเภท โดยอยู่ระหว่าง 100-280 นาโนเมตร (nm) นอกจากนี้รังสี UV-C ยังเป็นรังสีที่มีความเข้มข้นสูง และมีพลังในการทำลายการจับคู่ของคู่นิวคลีไทด์บนสายดีเอ็นเอ ทำให้เกิดสภาพไพริมิดีนไดเมอร์ (Pyrimidine dimer) ซึ่งจะไปหยุดยั้งการทำงานของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และโปรโตซัวชนิดต่างๆ ได้ แต่ปกติแล้วรังสีนี้จะถูกดูดซับด้วยโอโซนในชั้นบรรยากาศ ทำให้ไม่สามารถทะลุมาถึงโลกที่เราอยู่ได้ และนั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์มีการประดิษฐ์คิดค้นการสังเคราะห์แสง UV-C เลียนแบบธรรมชาติขึ้น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการฆ่าเชื้อนั่นเอง

การใช้งานในทางการแพทย์
มีการใช้รังสียูวีในโรงพยาบาล ในห้อง Lab เพื่อฆ่าเชื้อโรค หรือในอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่นการใช้บำบัดน้ำเสียมานานแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็มีการนำมาทำเป็นโปรดักซ์เพื่อใช้ในบ้านมากขึ้น ทั้งกล่องฆ่าเชื้อโรคที่ให้เอาของใส่ลงไป หรือแม้แต่แท่งไฟที่เอาไว้ส่องฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ซึ่ง Alex Berezow นักจุลชีววิทยาได้เคยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า แสงยูวีนั้นสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสได้ด้วยความถี่สูง โดยจะเข้าไปทำลาย DNA และหยุดยั้งการเจริญเติบโตของมัน ซึ่งเขายังบอกอีกว่า “แสงยูวีนั้นฆ่าทุกอย่าง ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัส ซึ่งมันก็น่าจะฆ่าเชื้อโคโรน่าไวรัสได้ด้วยเหมือนกัน” แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ได้มีการทดสอบกับเชื้อโคโรน่าไวรัสจริงๆ 

ใช้ประโยชน์ได้...แต่ก็ต้องระวังด้วย
Berezow ก็ยังเชื่อมั่นว่าอุปกรณ์ที่ใช้แสงยูวีเหล่านี้สามารถลดการแพร่กระจายของโรคได้ ในกรณีที่เป็นพวกอุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก นี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำมาใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ แต่อาจจะต้องใช้กับสิ่งของที่มีพื้นผิวเรียบเท่านั้น ถึงจะได้ประสิทธิภาพที่ดี ในขณะเดียวกัน Purvi Parikh นักวิทยาภูมิคุ้มกัน ก็ได้พูดถึงอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคแบบพกพานี้ว่ามันสามารถใช้ประโยชน์ได้กับสิ่งของบางอย่าง เช่น โทรศัพท์มือถือ แต่ไม่ควรใช้กับผิวหนังเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ อย่างอุปกรณ์บางอย่างที่เราเห็นในท้องตลาด จะเห็นว่ามันจะหยุดการทำงานทันทีที่เราพลิกด้านที่มีแสงยูวีขึ้น นั่นก็เพื่อเขาต้องการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสายตาได้นั่นเอง 

และไม่ว่าอย่างไร การเลือกใช้อุปกรณ์ใดๆ ก็ควรทำการศึกษาจากคู่มือให้ดีซะก่อน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นสิ่งของทุกอย่างจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังที่สุด เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของตัวคุณเอง 

 
-->