เขาวิจัยมาแล้ว... หนุ่มสาวชาว Millennial ต้องระวังมะเร็ง 8 ชนิดนี้
“มะเร็ง” เป็นประเด็นสุขภาพที่คนทุกเพศ ทุกวัยให้ความตระหนักว่าเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญ แม้ส่วนใหญ่จะพบในคนที่อายุค่อนข้างเยอะ แต่ผลการศึกษาที่เพิ่งออกมาอาจทำให้หลายคนต้องคิดใหม่
เพราะพบว่าชาว Millennials หรือคนที่เกิดช่วงปี ค.ศ.1980-1996 มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น แม้อายุไม่มากก็ตาม... คำถามคือ เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้ยังไง?
Photo by rawpixel on Unsplash
• ยิ่งอ้วน ยิ่งเสี่ยงมะเร็ง ?
• ยิ่งอ้วน ยิ่งเสี่ยงมะเร็ง ?
วารสาร Lancet Public Health ได้เผยแพร่งานวิจัยของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เวลา 20 ปีในการศึกษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อายุระหว่าง 25-84 ปี พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า คนที่อายุระหว่าง 25-49 ปีป่วยเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น และเป็นชนิดมะเร็งที่เชื่อมโยงกับ “โรคอ้วน”
ชนิดมะเร็งที่เพิ่มขึ้นในคนรุ่นใหม่อเมริกัน คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งไต มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลม่า ที่มักพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปี
เมื่อดูที่รายละเอียดแล้ว พบว่าชาวอเมริกันที่อายุระหว่าง 25-29 ปี ป่วยเป็นมะเร็งไตมากขึ้นปีละ 6.23% ขณะที่กลุ่มอายุ 30-34 ปีป่วยเป็นมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลม่าเพิ่มขึ้นปีละ 2.21% นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรคมะเร็งที่ไม่เกี่ยวกับความอ้วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน คือ มะเร็งระบบทางเดินอาหาร และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
• เมื่อ “น้ำหนักตัว” คือตัวแปรสำคัญ
การศึกษาครั้งนี้ไม่ได้เน้นอัตราการเกิดโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังดูจำนวนคนที่มีน้ำหนักเกินด้วย... พบว่าช่วงปี ค.ศ.1999-2016 ชาวอเมริกันเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยเด็กเพิ่มจาก 13.9% เป็น 18.5% ผู้ป่วยผู้ใหญ่เพิ่มจาก 30.5% เป็น 39.6%
โดยในปี ค.ศ.2018 มีการวิจัยพบว่าความอ้วนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก 60%, มะเร็งถุงน้ำดี 36%, มะเร็งไต 33%, มะเร็งตับอ่อน 17% และเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลม่า 11%
ขณะเดียวกัน นักวิจัยก็มองว่าการเพิ่มขึ้นของมะเร็งระบบทางเดินอาหารและมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ การเป็นโรคทางภูมิค้มกัน และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี
• ลดเสี่ยงมะเร็ง ต้องเลี่ยงยังไง
โรคมะเร็งบางชนิดเราก็ไม่อาจป้องกันได้ แต่เราก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดได้ โดยสำนักงานกองทุนวิจัยมะเร็งโลก ได้แนะวิธีเลี่ยงมะเร็ง ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์
- เลี่ยงการนั่งอยู่กับที่นานๆ ลุกเดินให้บ่อย ออกกำลังกายเนประจำ
- กินผัก ผลไม้ ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี
- เลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง
- เลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป
- เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีรสหวาน
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อย่าพึ่งพาอาหารเสริมที่โฆษณาว่าป้องกันมะเร็งได้
- ทารกต้องกินนมแม่ให้ครบ 6 เดือน
- อย่านิ่งนอนใจถ้าเข้าข่ายเสี่ยงมะเร็ง ควรพบแพทย์ตามนัดหมาย
แน่นอนว่าคำแนะนำเพื่อเลี่ยงมะเร็งเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่เราก็อยากย้ำให้ชัดอีกครั้ง เพราะการป่วยของคุณเพียงคนเดียว สร้างความเสียหายได้มากกว่าที่คุณคิด