อาการ “บ้านหมุน” ไม่ใช่แค่กลับหัวแล้วก็หายนะเทอออ
เคยมั๊ย อยู่ดีๆ ก็เวียนหัว เดินเซ เหมือนทุกอย่างหมุนติ้ววว จนเกือบล้มทั้งยืน ถ้าใครมีอาการแบบนี้อย่าคิดว่าเป็นแค่เรื่องเล่นๆ เพราะที่จริงแล้วมันเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการทรงตัวเลยล่ะ
พญ.ดลจิตต์ ทวีโชติภัทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลพญาไท 2 เคยอธิบายไว้ว่า การทรงตัวของคนเรานั้นเกิดจากการทำงานร่วมกันของอวัยวะ 3 ส่วนที่สำคัญ คือ สายตา ระบบประสาทการรับรู้ และประสาทหูชั้นใน ซึ่งทั้งหมดนี้มีสมองเป็นคนสั่งการและคอยควบคุมการทำงานต่างๆ ให้เกิดความบาลานซ์หรือสมดุล และบางครั้งที่เรารู้สึกปวดหัวก็มีสาเหตุมากจากความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นนั่นเอง
เวียนหัวแบบไหน เรียกว่า “บ้านหมุน”
อันดับแรกเราต้องรู้ก่อนว่าอาการเวียนหัวแบ่งออกได้เป็น 2 แบบคือ
- กลุ่มที่มีอาการมึนหัว คือแค่รู้สึกเวียนหัวอย่างเดียว แต่ไม่ได้มีอาการบ้านหมุน คือจะรู้สึกงงๆ เบาๆ ลอยๆ หรืออาจจะมีอาการหน้ามืด วูบได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งอาการนี้เกิดจากการที่แรงดันเลือดและปริมาณเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมองไม่พอ ส่วนใหญ่มักจะเจอในกลุ่มของผู้สูงอายุหรือในคนที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด อย่างโรคหัวใจ โรคความดันโลหิต หรือโรคเบาหวาน
- กลุ่มที่มีอาการหลอนของการเคลื่อนไหว คนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าทุกอย่างรอบตัวหมุนติ้ว ทั้งๆ ที่ตัวเองก็นิ่งอยู่กับที่ จะรู้สึกเหมือนกับคนเมาเหล้า ที่เสียการทรงตัว เดินไม่ค่อยสะดวก บางคนอาจจะมีการคลื่นไส้อาเจียนด้วยได้เหมือนกัน โดยสาเหตุก็มาจากความผิดปกติของหูชั้นในที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและสมดุลต่างๆ ในร่างกายนั่นแหละ เช่น โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด โรคแรงดันน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน หรือมีการติดเชื้อลึกเข้าไปที่หูชั้นใน ซึ่งจะเรียกอาการกลุ่มนี้ว่า “อาการบ้านหมุน” (Vertigo)
สรุป!! บ้านหมุน...เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่
เอาแบบสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ อาการบ้านหมุนมีสาเหตุมากจาก 2 ส่วนหลักๆ คือ การเสียการทรงตัวที่ระบบทรงตัวส่วนปลายในหูชั้นใน เช่น หูชั้นกลางอักเสบ หูน้ำหนวก การกระทบกระเทือนของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน หรือการได้รับสารพิษหรือยาที่เป็นอันตราย และการเสียการทรงตัวที่ระบบประสาทส่วนกลางและสมอง เช่น เนื้องอกประสาทการทรงตัวที่ลามไปยังสมอง ศูนย์ทรงตัวในก้านสมองขาดเลือดไปเลี้ยง หรือแม้แต่การบาดเจ็บของก้านสมองที่เกิดจากการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ
เช็ค "บาลานซ์" ให้ชัวร์ ตรวจได้ด้วยเครื่อง CDP
CDP หรือ Computerized Dynamic Posturography คือเครื่องวัดการทรงตัวที่ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ โดยใช้การตรวจวัดระดับความสมดุลของการทรงตัวและการเคลื่อนไหว เครื่องนี้จะช่วยในการประเมินระบบการทรงตัวของผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการทรงตัวที่มีสาเหตุมาจากอาการเวียนหัวอยู่บ่อยๆ มีอาการบ้านหมุน หรือเดินเซเป็นเวลานานๆ รวมถึงยังช่วยในการวิเคราะห์และค้นหาความเสี่ยงต่อการหกล้มของกลุ่มเสี่ยงได้ อย่างกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น และช่วยในการออกแบบวิธีฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีปัญหาการทรงตัวหลังจากเกิดอุบัติเหตุ เช่น ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอก ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด หรือผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่งในการตรวจนั้นจะมีอยู่ 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ
- การตรวจดูการตอบสนองของระบบประสาทสัมผัสที่ควบคุมทรงตัวในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ทดสอบการทรงตัวขณะหลับตา ลืมตา หรือการขยับของพื้นผิวสัมผัสหรือสิ่งแวดล้อมภายนอก
- การตรวจประเมินความสามารถการตอบสนองการทรงตัวแบบอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งรบกวนจากภายนอกมากระตุ้น
- การตรวจประเมินความสามารถการตอบสนองการทรงตัวแบบอัตโนมัติเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวที่เอียงโดยไม่คาดคิด
เห็นมั๊ยล่ะ! ว่าอาการบ้านหมุนไม่ใช่แค่เรื่องปวดหัวธรรมดาๆ อย่างที่หลายคนคิด ทางที่ดีเราขอแนะนำให้เข้ามาพบคุณหมอเพื่อรับการปรึกษาและวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องและตรงจุดจะดีกว่า