อะนอเร็กเซีย vs บูลิเมีย สองโรคคลั่งผอมที่ (อาจ) ทำชีวิตพัง

“ผอม หุ่นดี” ใครก็อยากมีแหละ แต่ใช่ว่านึกอยากมีก็มีได้ขึ้นมาอย่างใจซะเมื่อไหร่! ต่อให้จะมีงานวิจัยที่กล่าวโดย “ไซเมนา รามอส ซาลาส” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนโยบายภาวะความอ้วนของแคนาดาว่า ‘โรคอ้วนนั้นเป็นโรคเรื้อรังที่ควรได้รับการรักษาในระยะยาว’ โดยแพทย์ควรให้คำแนะนำในการรักษามากกว่าวิธีการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ก็ยังต้องอาศัยวินัยและความพยายามด้วยตัวเองอยู่ดี นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายๆ คนมองหาทางลัด ที่ดู (เหมือนว่า) จะทำให้หุ่นปัง แต่อาจแลกมาด้วยความพังในชีวิตนะ...จะดีเหรอ?


 
เรียนรู้เรื่องโรค...คลั่งผอม
 
อะนอเร็กเซีย เนอร์โวซ่า (Anorexia nervosa) หรือ โรคคลั่งผอม
เป็นโรคกลัวความอ้วนที่ส่งผลให้มีพฤติกรรมการกินผิดปกติ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีความคิดผิดๆ เกี่ยวกับร่างกายตัวเองโดยมองว่าตัวเองอ้วนกว่าความเป็นจริงเสมอ เป็นผลให้มีน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อเทียบกับอายุและส่วนสูง จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพเพราะผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้มักมีความกลัวอย่างมากว่าน้ำหนักจะขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าปกติด้วยซ้ำ ทำให้มีความรู้สึกไม่อยากกินอาหาร ออกกำลังกายอย่างหักโหม จนทำให้น้ำหนักลดลงมากจนถึงขั้นเสี่ยงขาดสารอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนอาจถึงขึ้นใช้วิธีผิดๆ เช่น กินยาลดความอ้วน ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ จนทำให้ร่างกายเริ่มมีอาการผิดปกติ
 
อาการด้านอารมณ์ของผู้ป่วยอะนอเร็กเซีย เป็นยังไงกัน?
● คิดฟุ้งซ่านเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร รวมทั้งนับจำนวนแคลอรี่ของอาหารที่จะรับประทานอยู่เสมอ
● ปฏิเสธที่จะรับประทานอาหาร เลี่ยงการรับประทานอาหาร
● เกิดอาการเบื่ออาหาร
● ไม่ยอมรับว่าน้ำหนักตัวต่ำจนอยู่ในเกณฑ์อันตราย
● รู้สึกภูมิใจเมื่อน้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง
● ไร้อารมณ์ความรู้สึกกับสิ่งรอบตัว รวมทั้งแยกตัวออกจากสังคม
● หงุดหงิดและฉุนเฉียวง่าย หรือรู้สึกซึมเศร้า
● ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเพศลดลง
● คิดฆ่าตัวตาย


บูลีเมีย เนอร์โวซ่า (Bulemia nervosa) 
เป็นโรคที่ผู้ป่วยซึ่งมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เมื่อกินอาหารเข้าไปแล้วเกิดความรู้สึกผิด กลัวอ้วน จึงล้วงคอตัวเองให้อาเจียนเอาอาหารที่กินเข้าไปแล้วออกมา ซึ่งเมื่อทำไประยะเวลาหนึ่งร่างกายจะเริ่มอาเจียนออกมาหลังกินอาหารเองโดยอัตโนมัติ รวมถึงมีการใช้ยาขับถ่าย ขับปัสสาวะในบางรายเหมือนผู้ป่วยอะนอเร็กเซีย ถึงแม้รูปร่างอาจไม่ผอมซูบเท่าผู้ป่วยอะนอเร็กเซีย แต่ก็ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อร่างกายได้เช่นกัน นอกจากนี้ผู้ป่วยบูลิเมียยังอาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม และคนรอบตัวด้วย

อาการด้านอารมณ์ของผู้ป่วยบูลีเมีย เป็นยังไงกัน?
● มีความวิตกกังวลหรือกลัวว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเวลายาวนาน
● คุยแต่เรื่องความอ้วน
● หมกหมุ่นอยู่กับน้ำหนักและรูปร่างของตัวเอง
● มีความคิดแง่ลบต่อภาพลักษณ์ของตัวเอง
● รับประทานอาหารปริมาณมากในช่วงเวลาสั้นๆ
● บังคับให้ตัวเองอาเจียน
● มีการทานยาระบายหรือยาขับปัสสาวะมากเกินไป
● ใช้อาหารเสริมหรือยาลดน้ำหนัก
● ออกกำลังกายอย่างหนัก
● ไม่ยอมรับประทานอาหารต่อหน้าคนอื่น
● หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางสังคม



ชีวิตพังเพราะคลั่งผอม
ไม่ว่าจะเป็นอะนอเร็กเซีย หรือบูลิเมีย ต่างก็เป็นโรคคลั่งผอม ที่จัดเป็นความผิดปกติทางจิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบ และทำลายสุขภาพจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายรูปแบบอาการ จนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ดังนี้
 
● โลหิตจาง
● โรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจยาว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ หรือหัวใจวาย
● มีปัญหาเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท 
● มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการทางร่างกายสำหรับผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น
● เกิดปัญหาสุขภาพทางเพศ ทำให้มีลูกยาก
● มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร 
● ไตมีปัญหา
● ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน และอาจเกิดความพยายามฆ่าตัวตายได้
● ในรายที่ตั้งครรภ์ อาจทำให้แท้ง คลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวต่ำ และอาจต้องเข้ารับการผ่าคลอดได้
● ร่างกายขาดสารอาหาร
● เยื่อบุหลอดอาหาร กระเพาะอาหารฉีกขาดเนื่องจากอาเจียนมาก
● เกิดอันตรายขณะสำลักหลังล้วงมือเอาอาหารออกมาทางคอ
● มีเลือดออกทางเดินอาหาร
● มีลมรั่วในช่องทรวงอก
● ความสมดุล กรด-ด่าง ในร่างกายผิดปกติ
 
 
การรักษาจะสำเร็จขึ้นอยู่กับอะไร
โรคคลั่งผอมต้องใช้ความตั้งใจและกำลังใจจากครอบครัวเป็นอย่างมากในการก้าวผ่านโรคนี้ไปให้ได้ ผู้ป่วยต้องใจสู้สุดๆ ต้องปฏิบัติตามการบำบัดอย่างเคร่งครัด อย่าชั่งน้ำหนักหรือส่องกระจกบ่อยเพราะอาจมีผลต่อความคิดเกี่ยวกับรูปร่างของตัวเอง
 
 ‘โรคคลั่งผอม...รักษาได้ยากและต้องใช้ความตั้งใจ 
แต่ถ้าหากตั้งใจแล้วสุขภาพร่างกายและจิตใจต้องดีขึ้นมากอย่างแน่นอน
ขอเพียงอย่ายอมแพ้ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคคลั่งผอมทุกคน’
-->