หยุด 5 พฤติกรรมนี้ซะ ถ้าไม่อยากดูไม่น่ารักเพราะ “น้อยใจ” เกินเหตุ
เคยไหมที่เก็บเรื่องราวมาคิดจนต้องสูญเสียความมั่นใจ วางตัวไม่ถูก หาจุดยืนไม่เจอ หรือกลัวการเข้าสังคมจนต้องปลีกวิเวกอยู่เป็นประจำ ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนชอบนอยด์แบบนี้อยู่บ่อยๆ ล่ะก็ ไม่แน่ว่า! คุณอาจกำลังคิดน้อยใจเกินไปหรือเปล่า? เพื่อความชัวร์ มาเช็คพฤติกรรมหลักกันหน่อยดีกว่า....1. ชอบ “ร้อนตัว” นอยด์ได้เสมอ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิด
เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในคนหมู่มาก แม้ว่าเรื่องนั้นมีส่วนเกี่ยวพันกับคุณเพียงนิดเดียว คุณก็มักพูดออกมาก่อนว่า “ฉันไม่ผิดนะ” หรือ “ไม่ได้ทำอะไรเลยนะ” ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นไวกว่าคนทั่วไปจนน่าสงสัย ทั้งที่ความจริงไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกับคุณเลยสักนิด พูดง่ายๆ ว่า นอยด์เพราะกลัวความผิด คิดไปเองว่าทำผิด เว็บไซต์ Health Place for Your Mental Health บอกไว้ว่า อาการร้อนตัวมักมากับความกังวล กลัวว่าตัวเองจะเป็นคนผิด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนี้มักมาจากปัญหาต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การสูญเสียคนรัก หรือการกลัวสังคมรังเกียจ รวมถึงการโกหกเพื่อปกปิดอะไรบางอย่างมาอย่างยาวนานด้วย
2. แคร์คนอื่นมากเกินไป จนต้องสูญเสียความมั่นใจไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
ถ้าคุณชอบกลัวว่าสิ่งที่พูดไปนั้นผิดหรือเปล่า จะมีคนเกลียดเรามั้ยหากพูดแบบนั้น ซึ่งการที่เรากลัวสังคมรังเกียจนั้น เว็บไซต์ Psychology Today อธิบายว่า การแคร์คนอื่นมากไปหรือขี้นอยด์ เกิดจากจิตใต้สำนึกของเราได้เข้าใจไปแล้วว่า “ตัวเองเป็นคนผิด” และคิดว่าตัวเองไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ชอบพะวงว่าทำอะไรผิดอยู่ตลอดเวลา โดยการตีความผิดๆ แบบนี้ ทำให้สมองสั่งการผิดแบบซ้ำๆ จนเกิดปัญหาด้านความคิด คุณจะคิดลบมากเกินกว่าเหตุ ทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องราวไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นนะ
3. ชอบโทษตัวเองจนเป็นนิสัย
รู้ไหมว่า เวลายอมรับผิดทั้งๆ ที่ยังหาต้นตอของปัญหาไม่ได้เลยนั้น กำลังสะท้อนความวิตกกังวลลึกๆในใจของคุณออกมา เทนย่า เจ.แพทเทอร์สัน (Tanya J. Peterson) ที่ปรึกษาด้านปัญหาสุขภาพจิต บอกว่า คนที่มีความวิตกกังวลหรือชอบคิดมาก มักจะตำหนิตัวเองอยู่เสมอ ยิ่งเวลาที่ปัญหาเกิดขึ้น ก็มักคิดไปเองว่าตัวเองมีส่วนผิด โบ้ยว่าเป็นความผิดของตัวเองคนเดียว และชอบเอ่ยคำว่าขอโทษจนเกินพอดี ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในวัฎจักรของอาการขี้น้อยใจที่เกินกว่าเหตุนั่นเอง
4. กลัวความตาย จนควบคุมตัวเองไม่ได้
ถ้าคุณเป็นคนขวัญอ่อน ขี้ตกใจ และมักคิดว่าตัวเองกำลังจะตาย นั่นเป็นสัญญาณหนึ่งที่มากจากการนอยด์ และคิดกงวลเกินกว่าเหตุจนนำไปสู่ “โรควิตกกังวล” (Anxiety) ในที่สุด แต่อาการนี้สามารถหายเองได้และไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โคล์ บราเทอร์บริจ (Chloe Brotheridge) นักสะกดจิตบำบัด อธิบายไว้ว่า ทุกครั้งที่เราเครียด สมองจะสั่งให้มีความเครียด หรือความหวาดระแวงอยู่ในหัวตลอดเวลา และสมองส่วนที่ต้องควบคุมความคิดและการนอนหลับอย่างทาลามัส (thalamus) จะทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งสารความคิดลบไปยังอะมิกดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์และการตัดสินใจ เป็นเหตุให้เกิดอาการ “ผวา”ขึ้นได้ง่าย เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น ขาอ่อนแรง และความดันโลหิตสูงขึ้น
5. นอนไม่หลับ แบบไร้เหตุผล
โดยปกติ ถ้าง่วง เราก็จะต้องหลับ เพราะร่างกายต้องการการพักผ่อน แต่สำหรับคนที่ทั้งง่วงและเหนื่อย แต่ยังข่มตาหลับไม่ได้ สมองยังคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้เต็มไปหมด นั่นเป็นเพราะระบบสมองคุณนั้นไม่หยุดนิ่ง ซึ่งปัญหานี้เป็นผลมาจากการมีเรื่องกังวลมากมายวนเวียนอยู่ในหัว หากเป็นต่อเนื่องเกินหนึ่งสัปดาห์ นั่นแสดงว่าคุณอาจเป็นโรควิตกกังวลเกินกว่าเหตุเข้าแล้วล่ะ !
และวิธีการที่เราอยากแนะนำให้แก้ไข ก็คือ……
1. การตั้งสติ ปล่อยวาง หลีกเลี่ยงการตอบโต้ รับฟัง หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง จะได้ไม่ต้องเครียดแถมไม่ต้องกลัวมีดราม่าอีกด้วย
2. เมื่อรู้ตัวว่าเป็นคนคิดมากและกลัวถูกเข้าใจผิด ก็ควรจัดลำดับความสำคัญ โฟกัสเรื่องที่สำคัญจริงๆ จะทำให้เรามองคนอื่นในแง่ลบน้อยลงและมองตัวเองในแง่บวกมากขึ้น
3. หากคุณชอบโทษตัวเอง เราอยากให้คุณมองปัญหานั้นอย่างเป็นกลางและอย่ากลัวว่าคนจะมองว่าคุณเห็นแก่ตัว เพราะปัญหาบางอย่างคุณก็ไม่ได้ก่อขึ้น ถ้ายังมองว่าตัวเองผิดต่อไป จะเป็นการบั่นทอนตัวเองเปล่าๆ ดีไม่ดีอาจเป็นโรคซึมเศร้าได้โดยไม่รู้ตัว
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อย่าลืมเช็คพฤติกรรมตัวเอง หากเข้าข่ายสาวกคนขี้น้อยใจละก็ รีบแก้ไขก่อนที่จะสายเกินแก้ และถ้ามีข้อเห็นต่างอย่างไร มาแชร์ให้เราฟังบ้างก็ได้นะ