สงสัยมั้ย? หลับอยู่ดีดี...ทำไมแขนขาถึงชอบกระตุก


เชื่อได้เลย 70 เปอร์เซ็นต์ของคนในโลกนี้ ต้องเคยตกอยู่ในอาการสะดุ้งระหว่างนอน ซึ่งมักเกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายเริ่ม Shut down จะบอกว่าอาการดังกล่าวเป็นกลไกปกติตามธรรมชาติก็พูดได้ไม่เต็มปาก หรือจะว่าเป็นอาการผิดปกติของร่างกายก็ไม่ถูกซะทั้งหมด วันนี้เราจะพามาดูกันว่าอาการนอนสะดุ้ง นอนกระตุกเหมือนมีคนมาดึงหรือกระชากแขนนั้น สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร



 
สมองที่ว่าฉลาด..บางครั้งก็สับสนได้เหมือนกัน
ตามปกติแล้วเมื่อร่างกายเริ่มเข้าสู่ห้วงภวังค์แห่งนิทรา ระบบสมองจะเป็นระบบแรกที่ค่อยๆ พักผ่อน จากนั้นระบบประสาทของร่างกายที่มีอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ กล้ามเนื้อ ก็จะค่อยๆ ลดการทำงานลง ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลง ชีพจร และระบบหายใจมีอัตราการทำงานที่ลดลงตามลำดับ ระหว่างนั้นเองระบบสมองที่ชิงหลับไปก่อนก็เกิดตื่นตูมสุดขีด เพราะคิดว่าระบบประสาทในร่างกายกำลังจะหยุดทำงาน เลยรีบสะดุ้งตื่นและสั่งงานไปปลุกอวัยวะส่วนต่างๆ ให้ตื่นทันที ภาพที่เห็นจึงออกมาเป็นการกระตุกกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในบางรายสมองอาจจะสั่งงานให้ร่างกายมีอาการวูบคล้ายตกจากที่สูง เพื่อทำการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อและระบบประสาทส่วนต่างๆ กลับมาทำงานเป็นปกติ 
 
ซึ่งทาง National Institutes of Health ให้ข้อมูลว่าอาการดังกล่าวทางการแพทย์นั้นเรียกว่ากลุ่มอาการ Hypnic Jerks ซึ่งทาง Bangkok Health Research Center ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาวะนอนสะดุ้งนี้มักเกิดขึ้นระหว่างการนอน Stage ที่ 1 หรือระยะที่เปลี่ยนจากช่วงตื่นเป็นนอนหลับ มากกว่าใน Stage ที่ 2 และ 3 หรือระยะหลับตื้น และหลับลึกตามลำดับ และอย่าแปลกใจถ้าอาการสะดุ้งเกิดขึ้นหลังจากนอนไปแล้วหลายชั่วโมง เพราะกลไลการนอนนั้นจะวน cycle จากระดับ 1-3 ไปเรื่อยๆ ประมาณ 5-6 cycle ในหนึ่งคืน มากไปกว่านั้นนิตยสาร ScienceDirect ยังเปิดเผยข้อมูลวิจัยว่า อาการ Hypnic jerks นั้นมักพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องน่าตกใจเพราะเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ เว้นเสียแต่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะประติดประต่อเรื่อง เหมือนกับว่ามีสิ่งเร้นลับคอยปลุกลูกน้อย ในทางกลับกันถ้าอาการกล้ามเนื้อกระตุกระหว่างการนอนเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ สิ่งนั้นอาจเป็นผลข้างเคียงมาจากระบบประสาท กล้ามเนื้อ หรือระบบจิตใจโดยตรง
 
นอนสะดุ้งในผู้ใหญ่...อาจไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป
อาการนอนสะดุ้งในผู้ใหญ่ มีผลวิจัยจาก Sleep Medicine Clinic รายงานว่าคนๆ นั้น อาจมีความเครียดหรือพะวงก่อนที่จะล้มตัวลงนอน เมื่อร่างกายเริ่มพักผ่อน จิตใต้สำนึกลึกๆ ก็สั่งการมาให้ร่างกายตื่น เพื่อคลายปัญหาให้เสร็จก่อนถึงจะนอนได้ แต่ถ้าพูดถึงกลุ่มโรคหรืออาการทางสรีระ โรงพยาบาลกรุงเทพให้ข้อมูลสนับสนุนอีกว่าการที่กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนนึงกระตุก โดยเฉพาะที่ขาระหว่างการนอนนั้น จัดอยู่ในกลุ่ม restless leg syndrome ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่ายังไม่นอนก็ตาม โดยจะเกิดขึ้นระหว่างที่คนๆ นั้นกำลังนั่งพักผ่อน แต่เมื่อเทียบแล้ว กลุ่มโรคขาไม่อยู่สุขมักจะเกิดขึ้นในระหว่างการนอนซะมากกว่า
 
มากไปกว่านั้นจากการเก็บข้อมูลเชิงสถิติของ Sleep Medicine ยังให้ข้อมูลเตือนอีกว่า จากกรณีเคสจริงที่ทำการรักษาโรคนอนสะดุ้ง ได้พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีกลุ่มโรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดในสมองแตก-ตีบ-ตัน ไตวาย ร่วมด้วย ทั้งที่รู้และไม่เคยรู้ตัวมาก่อน เพราะสำหรับกลุ่มโรคเหล่านี้คือกลุ่มโรคที่ระบบอินซูลิน และระบบไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านประสาทต่อร่างกาย และยังมีการค้นพบอีกว่าอาการนอนสะดุ้ง เกิดจากผลข้างเคียงของการรับยาแก้โรคซึมเศร้า และผู้ที่หยุดยานอนหลับได้เช่นกัน ซึ่งสองปัจจัยหลังนี้จะเป็นผลมาจากการทำงานผิดปกติของระบบสมองโดยตรง
 
ความหนักเบาของอาการ...แต่ละคนไม่เท่ากัน
อย่างไรก็ตามอาการนอนสะดุ้งหรือกล้ามเนื้อกระตุกระหว่างการนอน อาการที่แสดงจะมีตั้งแต่เล็กน้อยเช่นปลายนิ้วมือหรือนิ้วเท้ากระตุกเบาๆ โดยผู้นอนจะไม่รู้สึกตัวและสามารถนอนหลับต่อได้ จนไปถึงการเหวี่ยงแขนขาฟาดกับสิ่งต่างๆ รอบตัวจนได้รับบาดเจ็บ สำหรับผู้ที่มีอาการบ้างแต่ไม่ถี่ ถามว่าอาการนอนสะดุ้งนั้นอันตรายหรือไม่ ก็พูดเลยว่าถ้ายังไม่รบกวนระบบการนอนก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใครที่เป็นคนนอนหลับยากอยู่แล้ว ยังมาเจอปัญหาแบบนี้อีก เห็นทีที่จะต้องพบแพทย์เฉพาะทาง โดยการรักษาในปัจจุบันจะไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยใช้ยานอนหลับ จากข้อมูล นพ.ชัญญา ชมเชย ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาช่วยเรื่องการนอน ยังพบว่ามีอาการนอนสะดุ้งหรือกล้ามเนื้อกระตุกอยู่ และยังส่งผลเสียระยะยาวกับระบบนาฬิกาชีวิตของผู้ป่วย เพราะบางครั้งอาจตื่นขึ้นมาในขณะที่ฤทธิยายังสลายไม่หมด จะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า และง่วงระหว่างวัน ดังนั้นแพทย์ส่วนใหญ่จึงนิยมใช้การรักษาแบบผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยการให้ยาที่มีฤทธิ์เพิ่มสารโดพามีนในกระแสเลือด เนื่องจากตัวยานี้สามารถลดทั้งอาการขากระตุก และ การถูกปลุกให้ตื่นได้ ซึ่งการรักษาแบบนี้ได้ผลได้ดีกว่ายานอนหลับมาก
 
อาการนอนสะดุ้ง...มีความเกี่ยวเนื่องยังไงกับกลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อ
นอกจากระบบสมองและประสาทที่คอยเป็นหัวเรือใหญ่ในการควบคุม ของ Body Movement แล้ว อาการนอนกระตุกยังสามารถเกิดขึ้นกับตัวกล้ามเนื้อโดยตรง ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักจนกล้ามเนื้อล้า ประกอบกับหลังการออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อไม่พอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นหดเกร็งจากการใช้งาน เมื่อถึงเวลาพักผ่อน กล้ามเนื้อก็ค่อยๆ คลายตัวออกในรูปแบบของการกระตุก ซึ่งสำหรับปัจจัยนี้ กลุ่มผู้หลงใหลในการออกกำลังกายควรใส่ใจเรื่องการยืดเหยียดกล้ามเนื้อมากขึ้น เพื่อให้การเข้าสู่ระบบนิทราของตัวเองไม่มีสิ่งรบกวนและนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
เชื่อหรือไม่...ว่าเราทานอาหารเพื่อรักษาอาการนี้ได้
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เรากล้ามเนื้อกระตุกระหว่างการนอน นอกเหนือจากเรื่องระบบสมอง ประสาท และกล้ามเนื้อ คือด้านโภชนาการ อาหารที่มักทำให้มนุษย์เรามีอาการ Hypnic jerks คือการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วิธีแก้ที่ง่ายแสนง่ายคือลดอาหารกลุ่มนั้นซะ และหันมารับประทานอาหารกลุ่มที่มีแมกนีเซียมและแคลเซียมเพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้กับร่างกาย โดยอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง จะเป็นอาหารกลุ่ม พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช ผักใบเขียวโดยเฉพาะบร็อกโคลี และกลุ่มอาหารที่มีแคลเซียมสูง คือ ชีส โยเกิร์ต นม และอัลมอนด์
 
Sleep Test...อีกหนึ่งวิธีประเมินคุณภาพการนอน 
ด้วยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ได้มีผู้คิดค้นวิธีการตรวจคุณภาพการนอน โดยเรียกวิธีการตรวจแบบนี้ว่าวิธี Polysomnography (PSG) หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อของการทดสอบ Sleep Test ซึ่งวิธีนี้นอกจากที่เราจะรู้ว่าอาการนอนสะดุ้งของเราเกิดบ่อย หรือ รุนแรงแค่ไหน ยังรู้ว่าระบบการทำงานของหัวใจ การหายใจ และปริมาณออกซิเจนของเรามีปัญหาหรือไม่ระหว่างการนอน โดยวิธีนี้อาจจะดูยุ่งยากนิดนึงเพราะต้องใช้เครื่องมือติดตามอวัยวะต่างๆ ราว 6-8 ชั่วโมงขณะนอนหลับ แต่ก็ถือซะว่าเราไม่ได้ตรวจด้วยวิธีนี้บ่อยๆ และเพื่อที่เมื่อได้ผลชัดเจนแล้วคุณหมอจะสามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างตรงจุด ขอกระซิบว่าวิธีนี้ถูกนำมารักษาและหาสาเหตุของการนอนกรนได้ด้วยนะ
 
การนอนถือว่าเป็นช่วงพักผ่อนที่มีน้อยเมื่อเทียบกับอัตราการใช้ร่างกายระหว่างวัน เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสพักผ่อน ควรใช้เวลาช่วงนั้นให้เต็มที่และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับใครที่มีปัญหานอนสะดุ้งอยู่บ่อยๆ อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด เพราะปัญหาเหล่านี้อาจจะกระทบไปถึงระบบอื่นๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบจิตใจ คุณคงไม่อยากตื่นขึ้นมาด้วยอาการหงุดหงิดหรืองัวเงียใช่มั้ย ถ้าคำตอบของคุณคือใช่ก็บอกเลยว่า ปัญหามีไว้แก้ไข ไม่ได้มีไว้เพื่อเรื้อรัง
 
 
 
 
-->