ร้อนตับแตก อาการนี้มีจริงมั้ย?
“ร้อนตับจะแตก” คำพูดที่เราได้ยินกันเป็นประจำ ยิ่งในช่วงเวลาที่อากาศร้อนๆ แบบนี้ด้วยแล้ว จนบางครั้งก็แอบกลัวว่าตับจะแตกขึ้นมาเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า “ตับ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอวัยวะในร่างกายของเรา แต่หมายถึงใบจากที่ใช้มุงหลังคาเรียงกันเรียกว่า "ตับจาก" ซึ่งเมื่อโดนแดดจัดๆ ร้อนจนร้อนมากๆ จะแตกหรือโก่งตัวเบียดกันระหว่างใบในตับจนเกิดเสียงดังให้ได้ยินจนเรียกกันว่า "ตับแตก"
ถึงแม้ว่าความร้อนจะไม่ได้ทำให้ตับ (ในร่างกาย) แตก แต่จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าระหว่างปี 2558-2561 มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เข้าข่ายการเฝ้าระวังการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน โดยอาจมีสาเหตุจากอาการตับวายได้
ร้อนมากไป ทำให้ตับวาย?
ด้วยความที่ความร้อนนั้นนำมาซึ่งโรคลมแดดหรือ heat stroke เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสร่วมกับมีการเปลี่ยนเเปลงทางระบบประสาท เช่น วิงเวียนศีรษะ สับสน พูดไม่ชัด กระสับกระส่าย เห็นภาพหลอน ไปจนถึงหมดสติ ซึ่งเกิดจากร่างกายไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ มักพบได้บ่อยในคนที่ออกกำลังกายอย่างหนัก โดยโรคลมแดดก่อให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะหลายส่วนในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ไต กล้ามเนื้อ และสามารถพบใน ‘ตับ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะตับวาย เป็นอันตรายถึงเเก่ชีวิตได้ สำหรับคนไข้โรคลมเเดดส่วนใหญ่ ภาวะดังกล่าวสามารถเเก้ไขได้หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม เเต่ในบางรายที่อาการรุนเเรงก็อาจจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายตับ
ทั้งนี้เราสามารถป้องกันโรคลมแดด ต้นเหตุของตับวาย ได้ด้วยการ
+ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ+ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเพิ่มการขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายเสียน้ำมากขึ้น
+ เลือกใส่เสื้อผ้าที่บางเบา ระบายความร้อนได้ดี และไม่รัดแน่นจนเกินไป
+ ลดการทำกิจกรรมที่ใช้กำลังเยอะในช่วงเวลากลางวันที่อากาศร้อนอบอ้าว
+ ไม่อยู่ในที่ที่มีแดดจัดเป็นเวลานาน
ดูแลตับยังไง...ให้แข็งแรง
เพราะตับก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะสำคัญ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตน้ำดี สะสมไกลโคเจน สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ทั้งยังกำจัดสารพิษต่างๆ เราจึงควรต้องดูแลอวัยวะส่วนนี้ให้แข็งแรง โดยวิธีการ ดังนี้
1. กินอาหารที่ช่วยในการทำงานของตับ เช่น ขิง ขมิ้นชัน กระเทียม มะขามป้อม สาหร่าย และผักใบเขียว 2. หลีกเลี่ยงอาหารมัน ที่จะทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ
3. ไม่กินยาเกินความจำเป็น เพราะยาจะส่งผลโดยตรง และทำให้ตับทำงานหนักขึ้น
4. พักผ่อนให้เพียงพอ โดยช่วงเวลาที่ตับจะทำงานได้ดีที่สุดก็คือช่วงเวลาระหว่าง 22.00 – 02.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตับเริ่มจ่ายความร้อนออกมาทำให้เลือดไม่เย็น และไม่หนืด ฉะนั้นร่างกายจึงควรต้องได้รับการพักผ่อนในช่วงเวลาดังกล่าว