รู้หรือไม่? เด็กเล็กมีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ (มากกว่า) ที่เราคิด
สุขภาพของเด็กๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่อย่างเราต้องใส่ใจ ซึ่งแม้ว่าการดูแลเด็กๆ อาจจะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ จนบางครั้งก็เผลอทำไปแบบผิดบ้างถูกบ้าง แต่เชื่อเถอะว่ายังดีกว่าไม่ทำ วันนี้เราเลยจะมาแชร์เทคนิคการดูแลสุขภาพของลูกน้อยที่ทำได้ตั้งแต่แรกเกิด รวมไปถึงวิธีรับมือกับเหตุการณ์บางอย่างเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายกับลูกน้อย จะมีอะไรกันบ้าง มาดูกัน!# เด็กๆ จำเป็นต้องตรวจสุขภาพภาพ จริงมั้ย?
มาเริ่มที่การดูแลสุขภาพกันก่อน พ่อแม่หลายๆ ครอบครัว มักมองข้ามความสำคัญของการตรวจสุขภาพของลูกน้อย เพราะคิดว่าภายนอกก็ดูแข็งแรงดี คงไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ และที่สำคัญก็ไม่อยากให้ลูกเจ็บตัว
ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ทำการสำรวจเด็กอายุ 1 เดือน ถึง 15 ปี จำนวน 79 คน เพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรคในเด็ก ที่ไม่มีโรคประจำตัวและมีสุขภาพแข็งแรงดี แต่มารักษาตัวด้วยอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน และติดเชื้อรุนแรงคุกคามต่อชีวิต ด้วยวิธี mPCR ซึ่งครอบคลุมเชื้อ 33 ชนิดที่พบบ่อย ได้ผลสรุปว่า เด็กมีภาวะซ็อกจากการติดเชื้อจำนวน 17 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 และมีอาการปอดอักเสบรุนแรงจำนวน 62 คน คิดเป็นร้อยละ 78.5 ซึ่งเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุสำคัญที่ตรวจพบในเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย
ดังนั้นการตรวจสุขภาพเด็ก ถือเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองโรคเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ไม่มีความผิดปกติ หรืออาจจะมีเพียงเล็กน้อย เพื่อที่จะประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพียงเท่านั้น หากพบความผิดปกติก็จะได้เข้าสู่กระบวนการการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพในระยะยาวได้อีกด้วย เห็นมั้ยว่าไม่มีอะไรเสียหายเลย ถ้าเราจะเริ่มพาลูกน้อยของเราไปตรวจสุขภาพ
#เพราะอุบัติเหตุไม่คาดคิด สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ
นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ‘ความปลอดภัย’ ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการประมาทเพียงเสี้ยววินาที อาจอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว เราเลยลองลิสต์อุบัติเหตุติดท็อปที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ก็ยังมีเกิดขึ้นให้ต้องเสียน้ำตากันอยู่บ่อยๆ พร้อมวิธีรับมือให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวป้องกัน
1. ลืมเด็กไว้บนรถ
หลายครั้งที่เราเห็นข่าวเด็กเสียชีวิตจากการโดนทิ้งไว้บนรถตามลำพัง แต่รู้หรือไม่ว่า การขาดอากาศหายใจ ไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิตเสมอไป ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เคยอธิบายไว้ว่า การที่เด็กอยู่ในรถที่จอดอยู่กลางแดดเพียงแค่ 5 นาที อุณหภูมิในรถก็จะสูงขึ้นจนแทบทนไม่ได้แล้ว หรือถ้านานถึง 30 นาที อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะเมื่อเจอความร้อนที่สูงมากจนร่างกายทนไม่ไหว กระบวนการขับความร้อนที่ออกมาเป็นเหงื่อจะหยุดทำงาน จนทำให้เด็กเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ช็อก หมดสติ และสมองบวมตามมาได้ หลังจากนั้นจะหยุดหายใจ และอวัยวะทุกอย่างก็จะหยุดทำงาน
2. เด็กจมน้ำ
เรามักจะเห็นข่าวเด็กจมน้ำอยู่บ่อยครั้ง โดยถือเป็นอุบัติเหตุอันดับ 1 สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งถ้าหากเด็กจมน้ำ จะมีโอกาสเพียงแค่ 4 นาที ก่อนที่จะขาดอากาศหายใจและส่งผลทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรจะต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะเวลาพลัดตกน้ำหรือจมน้ำ เขาจะตกใจ แม้ว่าเด็กๆ จะว่ายน้ำเป็นแล้วก็ตาม หากเด็กๆ ลงเล่นน้ำ ควรมีคนดูแลอย่างใกล้ชิดและไม่ควรปล่อยให้เด็กๆ ว่ายน้ำโดยลำพัง
3. รถชน
อุบัติเหตุบนถนนยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ยิ่งถ้าเรามีเด็กๆ อยู่ในรถไม่ว่าจะรถเล็กหรือรถใหญ่ ก็ควรระมัดระวังเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกกระแทกแบบรุนแรง มีสิทธิ์ที่จะกระเด็นไปกระแทกกับของแข็งในรถ หรืออาจจะรุนแรงกระเด็นออกจากตัวรถ ซึ่งมีความเสี่ยงถึงขั้นชีวิตเลยทีเดียว ดังนั้นพ่อแม่ควรจะให้ความสำคัญกับอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เช่น คาร์ซีทสำหรับเด็กเล็ก หรือ คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่เดินทาง ซึ่งสามารถช่วยให้ลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
4. หมากัด
จริงๆ บรรดาสัตว์เลี้ยงก็น่ารักสำหรับเด็กๆ นั่นแหละ ถ้าเคยเห็นจากคลิปที่น้องหมาเลี้ยงเจ้าตัวน้อยหรือคอยดูแลเด็กๆ แทนพ่อแม่ มันก็น่ารักดีอะนะ แต่อย่าลืมว่าสัญชาตญาณสัตว์ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์อย่างเราควบคุมได้ยาก ยิ่งเป็นสุนัขหรือแมวจร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก หากโดนกัดก็เสี่ยงเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เด็กๆ จะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรค หากโดนกัดจนเป็นแผลถลอก มีเลือดออกชิบๆ หรือโดนกัดจนมีรอยเขี้ยว ดังนั้นระวังไว้ดีกว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาคงไม่คุ้มเอาซะเลย
5. ไฟดูด
เรื่องไฟฟ้าก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับทุกคนจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ก็เช่นกัน บางครั้งเด็กๆ กำลังเข้าสู่วัยกำลังซุกซน เขาก็ทำอะไรไปโดยไม่ได้ระวัง ซึ่งหากเด็กๆ โดนไฟดูด กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านหัวใจ เสี่ยงหัวใจหยุดเต้นได้เลย นอกจากนี้ก็ยังมีอวัยวะอื่นๆ ที่อาจส่งผลด้วยเหมือนกัน เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก อวัยวะในช่องท้อง และระบบประสาท ดังนั้นถ้าป้องกันเอาไว้ก่อน ก็คงจะดี ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยอุปกรณ์เซฟความปลอดภัย เช่น อุปกรณ์ปิดช่องสวิตซ์ไฟ หรือถ้าบ้านไหนอาจจะเดินสายไฟให้สูงขึ้น เด็กๆ จะได้จับไม่ถึงก็จะดีมากๆ เลย
6. พลัดตก หกล้ม
การพลัดตก หกล้มเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้สำหรับเด็กๆ แต่ก็ไม่ควรละเลยให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพียงเพราะคิดว่าแค่หกล้มเข่าถลอกเอง ซึ่งเด็กๆ กำลังมีความอยากรู้ อยากลอง และมีความซนตามวัย โดยการพลัดตกหรือหกล้มอย่างรุนแรงเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะมีโอกาสโดนอวัยวะที่สำคัญ เช่น ศีรษะแตก หรือได้รับการกระทบกระเทือนถึงระบบประสาท ตาบอด ฟันแตกหัก ปากแตก ช้ำใน หรือแขนขาหัก หรือแม้กระทั่งเพียงแค่เสียววินาทีที่เราไม่ทันระวัง เด็กๆ อาจจะวิ่งออกจากบ้าน มีความเสี่ยงถูกรถชนได้ ซึ่งนอกจากเราจะประมาทไม่ดูแลเด็กๆ ให้ดีแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถ ใช้ถนนอีก
การดูแลลูกน้อยอาจจะมีรายละเอียดมากกว่าเรื่องอื่นๆ พ่อแม่สามารถเลือกปรึกษากุมารแพทย์เพื่อวางแผนสุขภาพในระยะยาว ควบคู่กับการดูแลและเอาใจใส่ลูกน้อยให้มากกว่าเดิม
สนใจ แพ็กเกจสุขภาพ คลิก!