รู้มั๊ย? กินแต่โปรตีน ก็มีสิทธิ์ 'อ้วน' ได้เหมือนกัน
เรามักจะได้ยินกันมาอยู่บ่อยๆ ว่าหนึ่งในเทคนิคของการลดความอ้วน หรือการสร้างกล้ามเนื้อให้สวยและลีน คือการเน้นกินโปรตีน และไฟเบอร์ ส่วนแป้ง และน้ำตาลคือสิ่งที่ต้องหนีให้ไกล ซึ่งเอาจริงๆ เทคนิคพวกนี้ก็ไม่ได้ถูก 100% หรอก เพราะร่างกายก็ยังต้องการทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันที่มีความจำเป็นต่อร่างกายแตกต่างกันไป ข้อแม้คือทุกอย่างควรตั้งอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งล่าสุดเหล่าผู้เชี่ยวชาญเขาก็บอกกันมาแล้วว่าโปรตีนก็ทำให้อ้วนได้ ถ้ากินในปริมาณที่ไม่สัมพันธ์กับความต้องการของร่างกาย
ตั้ง Mind Set ใหม่...โปรตีนไม่ใช่แค่สร้างกล้ามเนื้อเท่านั้น!
ก็อย่างที่บอกแหละว่า “โปรตีน” เป็นคำที่ถูกเอามาใช้ในการทำตลาดมาตลอด ว่าเป็นสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างกล้ามเนื้อต่างๆ แต่จริงๆ แล้วเนี่ยประโยนช์ของโปรตีนมีมากกว่านั้น เพราะโปรตีนจะประกอบไปด้วยกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสร้างได้เองบางส่วน แต่บางส่วนต้องพึ่งจากอาหาร เช่น หมู ไก่ เนื้อวัว ปลา ถั่วต่างๆ เป็นต้น ประโยชน์ของโปรตีนคือ ช่วยการเสริมสร้างและซ่อมแซมมวลกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ ช่วยเรื่องฮอร์โมน และเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยอาหาร ร่างกายคนเราใช้โปรตีนในการขนย้ายออกซิเจนในเลือด ส่งเสริมให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรง รักษาสมดุลของระดับพลังงาน แถมยังดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย นอกจากนี้โปรตีนยังทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นาน นั่นจึงเป็นเหตุว่าทำไมคนที่ต้องการลดน้ำหนักจึงควรกินโปรตีนทุกมื้อ และเปลี่ยนจากการกินอาหารว่างเต็มไปด้วยแป้ง, น้ำตาลมาเป็นโปรตีนแทน
กินโปรตีน “แค่ไหน” ถึงเรียกว่าพอดี
ตามที่หลายๆ คนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณโปรตีนที่เราควรกินในแต่ละวัน คิดกันว่าเป็นโปรตีนกินไปเหอะ กินเท่าไรก็ไม่อ้วนหรอก ซึ่งมันไม่ใช่ซะทีเดียว เราต้องนึกถึงประเภท และปริมาณของโปรตีนที่เรากินเข้าไปด้วย เพราะโปรตีนบางประเภทที่เรากินเข้าไปมีไขมันแทรกอยู่ เช่น สเต็กเนื้อ 170 กรัม มีโปรตีน 38 กรัมก็จริง แต่ก็มีไขมันอยู่ถึง 44 กรัมด้วยเหมือนกัน แถมยังเป็นไขมันอิ่มตัวถึง 16 กรัม ซึ่งในทางกลับกันถ้าเป็นสเต็กปลาเเซลม่อนในปริมาณที่เท่ากัน ให้โปรตีน 34 กรัม แต่กลับมีไขมันแค่ 18 กรัม มีไขมันอิ่มตัวแค่ 4 กรัม แถมยังแน่นไปด้วยไขมันดี หรือบางคนก็มีกินพวกเครื่องดื่มโปรตีนเสริมเข้าไปอีก แต่ลืมนึกไปหรือเปล่าว่าบางยี่ห้อก็มีน้ำตาลสูงไม่ต่างจากนมเลย สุดท้ายแล้วพอร่างกายเอามาใช้ไม่หมด โปรตีนส่วนเกินจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสม ทำให้ร่างกายเราอ้วน น้ำหนักขึ้น พอนานไปก็จะเกิดผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้เหมือนกัน
ซึ่งปริมาณโปรตีนที่เเนะนำในแต่ละวันตามสถาบันการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The National Academy of Medicine) แนะว่าปริมาณสำหรับผู้ใหญ่ควรอยู่ที่ 0.8 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น น้ำหนัก 65.9 กิโลกรัม ก็ควรกินโปรตีนให้ได้ราวๆ 52.7 กรัมต่อวัน แล้วควรที่จะมิกซ์โปรตีนที่กินเข้าไปด้วยระหว่างเนื้อแดงอย่างเนื้อวัว เนื้อหมู แกะ กับเนื้อขาว เช่น ไก่ ปลา ซีฟู้ด รวมถึงโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วต่างๆ คะน้า บร็อกโคลี ฯลฯ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และเฉลี่ยๆ ไขมันกันไปด้วย
ทีนี้หวังว่าหลายๆ คนจะเข้าใจกันเเล้วนะว่า ร่างกายต้องการโปรตีน แล้วโปรตีนก็เต็มไปด้วยประโยนช์ก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกินในปริมาณเท่าไรก็ได้ สุดท้ายการกระจายหมวดหมู่อาหารที่กินเข้าไปให้ให้สมดุลนี่แหละคือสิ่งที่เวิร์คสุดแล้วล่ะ