รับมือยังไง เมื่อคนใกล้ตัวกำลังจะเข้าสู่ ‘วัยทอง’

ถ้าเค้าจะปรี๊ด... (เรา) นั่งอยู่เฉยๆ เค้าก็ปรี๊ด อาการแบบนี้กำลังเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวของคุณบ้างหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด เพราะว่าถ้าใช่ นั่นอาจแปลว่าคุณต้องเตรียมการรับมือกับอาการ ‘วัยทอง’ ของคนรอบตัวแล้วล่ะ



 
ช่วงไหนที่เรียกว่า ‘วัยทอง’
วัยทอง เป็นช่วงเวลาของทั้งผู้ชายและผู้หญิงเมื่อย่างเข้าสู่หลัก 4 ที่ฮอร์โมนเพศในร่างกายได้มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยแพทย์หญิงสเตฟานี ฟาเบียน ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สมาคมแพทย์นรีเวชวัยทองของอเมริกาเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แบ่งช่วงระยะเวลาวัยทองของผู้หญิงออกเป็น 3 ระยะ คือ 
  1. ระยะก่อนหมดประจำเดือน 2 – 3 ปี 
  2. ระยะหมดประจำเดือนเริ่มเมื่อประจำเดือนไม่มาต่อเนื่อง 1 ปี และ 
  3. ระยะหลังหมดประจำเดือน เมื่อหมดประจำเดือนครบ 1 ปี 
ซึ่งจะแตกต่างจากผู้ชายที่การผลิตฮอร์โมนของเพศชายจะค่อยๆ ลดลงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเมื่อย่างเข้าสู่ อายุ 30 ปี ก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการวัยทองในช่วงอายุ 45 – 50 ปี และมีอาการมากขึ้นในช่วงอายุ 70 ปีขึ้น เราจึงมักเห็นหนุ่มใหญ่หลายคนยังคุยโวได้ว่าตัวเองยังเต๊ะปี๊บดังอยู่ 
 
โดยเมื่อเข้าสู้วัยทองแล้วอาการที่แสดงออกของแต่ละคนก็จะมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ทั้งนี้คนใกล้ตัวก็สามารถช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ด้วยการ...
 
1. ทำความเข้าใจอาการวัยทอง
เมื่อถึงวันหนึ่งไม่ว่าใครก็ต้องเจอกับอาการวัยทองด้วยกันทั้งนั้น เพราะเมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศน้อยลง ก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้อารมณ์แปรปรวน ขี้น้อยใจ ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย ขี้หลงขี้ลืม แต่หากคนรอบตัวมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจ การรับมือและปรับตัวกับอาการต่างๆ ที่เปลี่ยนไปของพ่อ แม่ หรือญาติผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
 
2. ใจเย็นเข้าไว้
เพราะอาการวัยทองจะส่งผลกับภาวะทางอารมณ์เป็นสำคัญ ฉะนั้นนอกจากจะต้องทำความเข้าใจแล้ว คนรอบตัวยังจะต้องมีความอดทนอย่างมาก (เน้น! มากกก) เพราะหากเมื่อไหร่ที่พ่อ แม่ หรือญาติผู้ใหญ่ของคุณมีอาการหงุดหงิด โมโห แล้วคุณเกิดเก็บอารมณ์ไม่ได้ เผลอหงุดหงิด หรือแสดงอารมณ์โมโหใดๆ ออกมาก็ตาม อาจเป็นการราดน้ำมันบนกองไฟ ทำให้บรรยากาศในบ้านกลายเป็นสนามรบย่อมๆ ได้ 
 
3. ให้ความรัก เอาใจใส่
นอกจากจะทำความเข้าใจแล้ว ยังต้องแสดงออกถึงความรักและเอาใจใส่ด้วย เพราะเมื่อคนวัยทองมีอารมณ์แปรปรวน การแสดงออกด้วยความรัก ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูด หรือการกระทำ รวมถึงการเอาใจเป็นพิเศษ จะทำให้อารมณ์หงุดหงิด ร้อนเป็นไฟของคนวัยทอง เบาลงได้ 
 
4. ดูแลสุขภาพ
นอกเหนือจากเรื่องอารมณ์ สุขภาพร่างกาย ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญของคนใกล้ตัวที่ต้องดูแล เพราะถ้าสุขภาพกายแข็งแรง ก็จะช่วยลดความเครียด ความหงุดหงิดไปได้ โดยการดูแลจะต้องเริ่มจากอาหารการกิน คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว หรืออาหารที่มีฮอร์โมนเพศเพื่อปรับฮอร์โมนให้สมดุล เช่น น้ำมะพร้าว น้ำเต้าหู้ ลูกพรุน ลูกเดือย นมผึ้ง และหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม รสจัด และอาหารที่มีคอลเลสเตอรอลสูง จากนั้นหาเวลาว่างพากันไปออกกำลังกาย ผ่อนคลายอารมณ์และทำร่างกายให้แข็งแรง ที่สำคัญต้องไม่ลืมตรวจร่างกายประจำปี เพื่อติดตามอาการเปลี่ยนแปลง
 
5. ทำกิจกรรมเสริม เพิ่มความผ่อนคลาย
เมื่อมีเวลาว่างจากการทำงาน ให้ลองหากิจกรรมอื่นๆ ทำ โดยอาจเป็นกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น การช้อปปิ้ง ดูหนัง ฟังเพลง กินข้าว ท่องเที่ยว อ่านหนังสือ หรือทำอาหาร เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการได้ใช้เวลาร่วมกันแล้ว ยังจะสร้างบรรยากาศความผ่อนคลายให้เกิดขึ้นได้ทั้งกับคุณและคนใกล้ตัว 
 
แต่ถ้าหากว่าทำทุกอย่างแล้วยังมีเรื่องให้หงุดหงิดใจอยู่ล่ะก็สิ่งที่คนใกล้ตัวอย่างเราจะทำได้คือ การปล่อยวาง... ให้ทุกอย่างเป็นไปตามทำธรรมชาติ แล้วย้อนกลับไปทำข้อหนึ่งใหม่ 
-->