ระวัง! ภัยไฟดูด…ช่วงฤดูฝน
“อย่าเล่นกับไฟ” คำเตือนที่ยังคงใช้ได้จริงเสมอ ต่อให้ยุคนี้จะมีไฟฟ้าใช้แล้วก็เถอะ แต่เรื่องฟืนไฟก็ยังเป็นดาบสองคม ที่หากใช้ไม่ระวังก็อาจนำมาซึ่งอันตราย...ถึงชีวิตได้เลยเชียว อ่ะ! นี่ไม่ได้ขู่ เพราะถึงแม้ว่ากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จะได้ให้ข้อมูลงานวิจัยว่าช่วงอายุที่เสี่ยงต่อการโดนไฟดูดคือกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพราะความซุกซน และอยากรู้อยากเห็น แต่ในหน้าฝนที่เต็มไปด้วยความชื้นแบบนื้ ถึงจะเป็นผู้ใหญ่หากไม่ระวังมีหวัง “ไฟดูด” เอาได้ง่ายๆ เหมือนกันแบบไหนที่เรียกว่า...ไฟดูด
ไฟดูด เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไปสัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้าหรือกับสายไฟที่มีการรั่ว ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายและลงสู่พื้นดิน ซึ่งอวัยวะที่เป็นทางผ่านของกระแสไฟฟ้า ได้แก่ หัวใจ กล้ามเนื้อ กระดูก อวัยวะในช่องท้อง ระบบประสาท ซึ่งเมื่อไฟฟ้าไหลผ่านอวัยวะดังกล่าวจะทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย คือ
- ถ้าไหลผ่านหัวใจ จะทำให้คลื่นหัวใจเปลี่ยนแปลงและหัวใจหยุดทำงาน
- ถ้าไหลผ่านช่องท้อง ทำให้อวัยวะช่องท้องบาดเจ็บ
- ถ้าไหลผ่านกล้ามเนื้อ ทำให้แขนขาบวมตึง ขาดเลือดรุนแรง ไปจนถึงสูญเสียอวัยวะ
โดยความรุนแรงของไฟฟ้าดูด ไฟช็อต ขึ้นอยู่กับ จำนวนโวลท์ (Voltage) และแอมแปร์ (Amperage) ของกระแสไฟฟ้าที่ผ่านเข้าสู่ร่างกาย ความต้านทานของเนื้อเยื่อที่กระแสไฟฟ้าผ่านเข้าไป ชนิดของกระแสไฟฟ้า และระยะเวลาของการสัมผัสอยู่กับกระแสไฟฟ้า บางคนอาจมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หายใจเร็ว หมดสติ หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นหัวใจทำงานผิดจังหวะ และเต้นอ่อนลงจนหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด โดยสาเหตุของไฟดูดเกิดขึ้นได้จากหลายกรณี เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดทำให้มีกระแสไฟรั่วออกมา
https://tenor.com : Homer Simpsom Electrocuted GIF
เมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าดูดขึ้น สิ่งแรกที่ควรทำคือตั้งสติ แล้วปฏิบัติตัวตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. ดึงปลั๊กไฟฟ้าออกจากเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ หรือปิดคัตเอาท์ลงเพื่อตัดกระแสไฟฟ้าออก
2. ถ้าไม่สามารถปิดคัตเอาท์เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าออกได้ ให้ยืนบนพื้นที่แห้งและไม่เป็นสื่อกระแสไฟฟ้า เช่น หนังสือพิมพ์แห้ง สมุดหรือหนังสือหนาๆ กระดานไม้ เป็นต้น
3. แยกผู้ป่วยออกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าว ด้วยการใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อกระแสไฟฟ้าเพื่อดันตัวผู้ป่วยออกมา เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกที่แห้ง สายยาง เป็นต้น
4. หากถูกไฟฟ้าแรงสูงดูด ให้รีบโทรแจ้งบริษัทไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องในการตัดกระแสไฟฟ้าบริเวณดังกล่าว โดยไม่ควรแยกผู้ป่วยออกจากที่เกิดหตุด้วยตัวเอง หากคุณอยู่ใกล้บริเวณนั้นด้วย และเริ่มรู้สึกชาที่ขาหรือส่วนล่างของร่างกาย ให้กระโดดเท้าข้างเดียวหรือกระโดด 2 เท้าพร้อมกัน เพื่อไม่ให้ถูกไฟดูดจากพื้นดินด้วยแรงดันช่วงก้าว (step voltage) และไปยังที่ปลอดภัยจนกว่ากระแสไฟฟ้าตรงบริเวณนั้นจะถูกตัดออก
5. ในระหว่างที่เข้าไปให้การช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นจะต้องรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างถูกวิธี เพราะผู้ป่วยจะได้รับอันตรายมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ถูกไฟฟ้าดูด รวมถึงการช่วยเหลือที่ทันเวลาและถูกวิธีจะเพิ่มโอกาสรอดให้กับผู้ป่วยมากขึ้นอีกด้วย
ไฟดูด…ป้องกันได้
ถึงแม้ว่า “ไฟดูด” จะเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด แต่ก็สามารถป้องกันไม่ให้ความสูญเสียเกิดขึ้นได้ด้วยการ...
คอยตรวจเช็คอุปกรณ์และสายไฟ ซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุด
- วางสายไฟให้พ้นทางเดิน ไม่ควรวางสิ่งของหนักๆ ทับสายไฟ เพราะอาจทำให้สายไฟขาดหรือชำรุดได้ง่าย
- ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ
- ห้ามซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเองโดยที่ไม่มีความรู้
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายประเภทในเต้าเสียบอันเดียว
- ต่อสายดินกับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้น (ที่จำเป็น) เพื่อให้ไฟฟ้าลงดิน
- หากร่างกายเปียกชื้นห้ามแตะอุปกรณ์ไฟฟ้าเด็ดขาด เพราะจะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายได้สะดวก เป็นอันตรายถึงชีวิต
- ควรจะติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้าน เพื่อความปลอดภัยและเป็นการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
เรื่องฟืนไฟอย่าได้เผลอ ถ้าไม่อยากเจอ...ดูด