ฟ้าผ่า...ไม่สาบานก็อย่าคิดว่ารอด

สาบานให้ฟ้าผ่าเลย...ถึงจะเป็นเรื่องจริงก็อย่าได้พูดออกมาสุ่มสี่สุ่มห้า แม้ว่าสำนักข่าววีโอเอไทยจะได้รายงานผลการวิจัยล่าสุด ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Nature Communications ว่า ฟ้าผ่าที่โหมกระหน่ำพื้นโลกในยุคดึกดำบรรพ์ได้ปลดปล่อยธาตุฟอสฟอรัสที่ฝังลึกอยู่ในชั้นหินในปริมาณที่สามารถจุดประกายการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกเมื่อประมาณ 3,500 ล้านถึง 4,500 ล้านปีก่อนก็ตาม เพราะถ้าเป็นตอนนี้หากโดนฟ้าผ่าคงไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต แต่น่าจะทำให้ (เจ็บตัวหรือ) เสียชีวิตซะมากกว่า



ฟ้าผ่า...น่ากลัวแค่ไหน
ฟ้าผ่าปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ (ดูเหมือน) ไกลตัว แค่ก็สามารถเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ส่งผ่านทางร่างกายอาจสร้างความเสียหายต่ออวัยวะต่างๆ รวมทั้งเส้นประสาท ซึ่งอาจทำให้มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือรุนแรงจนถึงขั้นหมดสติและอาจเสียชีวิตได้  โดยอาจเกิดจากการทำกิจกรรมกลางแจ้งในขณะที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรือหากอยู่ในร่มแต่โครงสร้างอาคารมีการเดินสายไฟฟ้าหรือท่อโลหะ ผู้พักอาศัยก็อาจเสี่ยงที่จะรับกระแสไฟฟ้าผ่านทางสายโทรศัพท์หรือสวิทช์ไฟ ซึ่งอาการบาดเจ็บจากฟ้าผ่าอาจเกิดในรูปแบบของการที่ฟ้าผ่าลงตัวบุคคลโดยตรง หรือสัมผัสวัตถุที่ถูกฟ้าผ่า ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ หรือเสาไฟฟ้า จนได้รับผลกระทบไปด้วย เช่นเดียวกับการยืนอยู่ใกล้วัตถุหรือพื้นที่ถูกฟ้าผ่า ก็ทำให้ได้รับกระแสไฟฟ้าที่กระจายออกเป็นวงกว้างผ่านทางพื้นได้เหมือนกัน

ฟ้าผ่า...อาการเป็นแบบนี้
อาการของการโดนฟ้าผ่า (ที่ไม่ใช่การถูกบอกเลิก) จะมีความรุนแรงที่ไม่เท่ากัน รวมถึงอาจเกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง สั้นๆ หรือคงอยู่ยาวนานแล้วแต่กรณี โดยจะมีอาการเหล่านี้
  • สับสน มึนงง ปวดหัว
  • ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือหดเกร็ง และอาจทำให้เป็นอัมพาตได้
  • หากปอดได้รับความเสียหายก็จะเหนื่อยง่าย หายใจไม่สุด 
  • มีแผลไหม้ 
  • กระดูกแตก หรือหัก
  • กะโหลกร้าว และบาดเจ็บบริเวณคอจากการกระแทก
  • สูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน
  • หมดสติ ชีพจรอ่อน หรือชีพจรหยุดเต้น
  • ได้รับความเสียหายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ หรือหัวใจอาจหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด


ฟ้าผ่ารักษาอย่างไร ?
แม้จะถูกฟ้าผ่าโดยตรง แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องถึงแก่ชีวิตเสมอไป เพราะฉะนั้นเมื่อพบเห็นเหตุการณ์ที่ว่าจะต้องนำตัวผู้ที่ถูกฟ้าผ่าส่งโรงพยาบาล ซึ่งในรายที่มีอาการไม่รุนแรง คือแค่สับสน มึนงง สูญเสียความทรงจำชั่วคราว และไม่มีเนื้อเยื่อภายในได้รับความเสียหาย อาจไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่หากมีอาการแทรกซ้อน ป่วยรุนแรง จะต้องตรวจร่างกาย เพื่อวางแผนรักษาเพิ่มเติม ซึ่งหากว่าผู้บาดเจ็บหัวใจหยุดเต้นและไม่ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือผ่านการทำ CPR มาก่อน อาจต้องส่งตัวผู้บาดเจ็บเข้าห้อง ICU ทันที เพื่อให้แพทย์ได้ดูแลและเฝ้าระวังอาการใกล้ชิด หลังจากนั้นจึงค่อยรักษาตามอาการ หรืออาจต้องให้ผู้ป่วยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในขั้นต่อไป

เลี่ยงฟ้าผ่าแบบไม่ต้องกลัว...สาบาน
นอกจากจะต้องคอยติดตามอัพเดตสภาพดินฟ้าอากาศแล้ว การปฏิบัติด้วยวิธีเหล่านี้ ก็ช่วยป้องกันและหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะเกิดฟ้าผ่าได้ แต่ถ้าเป็นอาการฟ้าผ่าลงกลางใจ คงต้องตัวใครตัวมันนะ
  • เมื่อได้ยินเสียงฟ้าผ่าให้หาที่หลบที่ปลอดภัย เช่น บ้านพัก อาคารขนาดใหญ่ แต่อย่าอยู่ใกล้ผนังอาคาร ประตู หรือหน้าต่าง
  • ไม่อยู่ในพื้นที่เปิดโล่งหรือบริเวณโครงสร้างแบบเปิด เช่น ระเบียง ชานบ้าน ศาลา สนามเด็กเล่น สนามกอล์ฟ และชายหาด รวมถึงรถเปิดประทุน หรือรถมอเตอร์ไซค์ และหากอยู่ในรถยนต์ ควรปิดกระจกให้มิดชิด
  • ปิดโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เพราะกระแสไฟฟ้าอาจส่งผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ได้ และควรติดตั้งระบบตัดไฟในบ้าน เพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าและการเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร
  • ไม่ใช้โทรศัพท์บ้าน หรือเล่นอินเทอร์เน็ตในขณะที่เกิดฝนตกหนัก เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เสาสัญญาณหรือเสาอากาศนอกบ้าน และกระแสไฟจากฟ้าผ่าจะวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ทำให้โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ รวมทั้งผู้ใช้งานได้รับอันตราย หากจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ ควรเลือกใช้โทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์ไร้สายแทน แต่ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้ง  ด้วยเหตุว่าโทรศัพท์มือถือมีตัวล่อฟ้า ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้

เห็นมั้ยว่าต่อให้พูดความจริง หรือไม่ได้สาบานก็ใช่ว่าจะไม่โดน...ฟ้าผ่า
-->