ฟ้าทะลายโจร & กระชายขาว กินได้มากแค่ไหน ถึงจะไม่อันตรายกลายเป็นโทษ
ต้องบอกว่าตั้งแต่โลกเราเข้าสู่ยุคโควิดมาได้เกือบสองปี สิ่งที่เราได้ยินบ่อยรองลงมาจากอัปเดตจำนวนผู้ติดเชื้อวันนี้ และแทบจะเห็นทุกครั้งที่เข้าไลน์กรุ๊ปครอบครัว ก็คือคำว่า “ฟ้าทะลายโจร”จากสมุนไพรไทย...ได้เป็นหนึ่งในยาสมุนไพรหลัก เพื่อรักษาโควิด
และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ในส่วนของการรักษาโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด19 ก็มีการประกาศจากคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ให้ฟ้าทะลายโจรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร โดยให้ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง โดยต้องมีการควบคุมปริมาณของสาร “แอนโดรกราโฟไลด์” (Andrographolide) ซึ่งสารนี้เองคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ลดโอกาสการเกิดปอดอักเสบ
และในกระบวนการรักษาผู้ป่วยโควิดที่แบบ Home Isolation ฟ้าทะลายโจรก็กลายเป็นยาสมุนไพรที่แพทย์ใช้แทนยาแผนปัจจุบันอย่างยา “ฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อเข้าสู่ปอด ยาที่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้เพราะต้องถูกจ่ายจากแพทย์เท่านั้น การใช้ยาสมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” จึงกลายเป็นทางออกหลักๆ ของโรคโควิดสำหรับชาวไทย ที่หลายคนโหมกระหน่ำแย่งกันซื้อจนแทบขาดตลาด
เมื่อต้องกินฟ้าทะลายโจร...คำนวณให้ถูก กินให้พอดี
ฟ้าทะลายโจร มีทั้งในรูปแคปซูลและแบบเม็ด ซึ่งการจะกินมื้อละเท่าไหร่นั้นจะต้องดูปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่มีอยู่ตามสูตรแล้ว การกินฟ้าทะลายโจรจะเหมาะกับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ และสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่ควรได้รับจะอยู่ที่วันละ 180 มก. ซึ่งมากกว่าการใช้รักษาโรคหวัดถึง 3 เท่า หากใน 1 แคปซูลมีสารนี้อยู่ 20 มก. ในหนึ่งวันก็จะต้องกิน 9 แคปซูล โดยกินครั้งละ 3 เม็ดก่อนมื้ออาหาร 3 มื้อ การอ่านสลากกำกับยาเพื่อให้รู้ค่าของสารแอนโดรกราโฟไลด์จึงสำคัญ
กรณีที่กินฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วันแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้นหรือรู้สึกแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์ โดยห้ามเพิ่มขนาดยาเองเด็ดขาด และควรพักการกินเมื่อผ่านไปแล้ว 5 วัน ที่สำคัญ หากได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เมื่อไหร่ ต้องหยุดกินฟ้าทะลายโจรทันที เพราะการกินยาทั้งสองชนิดร่วมกันจะทำให้ตับอักเสบง่ายขึ้นไปอีก
ห้ามกินเพื่อป้องกัน กินมากไปกลายเป็นโรคตับ
เนื่องจากฟ้าทะลายโจร ไม่ได้มีฤทธิ์ในการยับยั้งไม่ให้เชื้อเข้าสู่เซลล์ ดังนั้นการ “กินดัก” หรือ “กินป้องกัน” การติดเชื้อจึงไม่ได้ผล แถมการกินยาขณะที่ไม่มีการติดเชื้อยังเป็นตัวเร่งให้เกิดพิษในตับ ดังนั้นการกินยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกัน จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ เพราะแทนที่จะได้รับคุณประโยชน์ อาจกลายเป็นโทษในระยะยาว กินแล้วต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียง
อย่างที่บอกแล้วว่า การกินยาต้องกินในขนาดที่เหมาะสม และด้วยฟ้าทะลายโจรเป็นยาที่มีฤทธิ์เย็น การกินมากและติดต่อกันนานเกินไปจะส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด เสี่ยงเกิดอาการแขนขาชา อ่อนเพลีย รวมถึงระบบย่อยอาหารอ่อนแอซึ่งทำให้ท้องเสีย ตับก็ต้องทำงานหนักซึ่งเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบสำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บคอ ก่อนกินฟ้าทะลายโจรต้องแน่ใจก่อนว่าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และหากกินครบ 24 ชั่วโมงแล้วอาการเจ็บคอยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงกว่าเดิม เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น ควรหยุดยาแล้วรีบปรึกษาแพทย์
ฟ้าทะลายโจรไม่ควรกินร่วมกับยาชนิดไหน
ฟ้าทะลายโจรไม่เหมาะกับผู้ที่กินยาลดความดัน ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน ทั้งยังมีข้อห้ามสำหรับสตรีมีครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร ที่สำคัญหากใครกินแล้วแพ้ มีผื่นขึ้น หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ให้หยุดยาทันทีและปรึกษาแพทย์ด่วนหากจะกินเพื่อป้องกัน “กระชายขาว” เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล พูดถึง “สารสกัดกระชายขาว” ว่ามีสาร 2 ชนิด คือ แพนดูราทิน เอ (Panduratin A) และพินอสทรอบิน (Pinostrobin) ที่เมื่อทดสอบในหลอดทดลองแล้ว สามารถลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อ และยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสได้ถึง 100% แต่ปัจจุบันก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยต่อ ซึ่งต้องทำการทดลองในสัตว์ทดลอง และอาสาสมัคร โดยคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) แม้ยังไม่มีผลการทดสอบการต้านไวรัสโควิด19 ในมนุษย์ แต่การกินกระชายขาวก็มีข้อควรระวังในการกินอยู่ก่อนแล้ว เพราะตัวยาจะมีฤทธิ์ร้อนซึ่งตรงข้ามกับฟ้าทะลายโจรที่มีฤทธิ์เย็น การกินติดต่อกันนานหรือมากเกินไปจึงอาจทำให้เกิดแผลร้อนใน เหงือกร่น หรือมีภาวะใจสั่น ดังนั้นจึงควรกินแบบวันเว้นวันหรือเว้นสองวัน และไม่ควรกินต่อเนื่อง โดยต้องดื่มน้ำตามมากๆ ด้วย
นอกจากนี้สมุนไพรกระชายขาวยังไม่เหมาะกับเด็ก หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ช่วงให้นมบุตร รวมถึงผู้ป่วยโรคตับอักเสบ เพราะมีผลต่อการทำงานของตับและไต ทั้งผู้ที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือเกล็ดเลือด และผู้ที่มีโรคเกล็ดเลือดต่ำก็ควรหลีกเลี่ยง เช่นกัน
เพราะการกิน “สมุนไพร” ให้เป็นยา การปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อการใช้ที่ถูกต้องจึงจำเป็น มิเช่นนั้น "คุณ" ที่ควรได้อาจกลายเป็น "โทษ" ที่ร้ายแรง ที่สำคัญ ควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และมีเครื่องหมาย อย. กำกับเสมอ