น้ำหนักขึ้นอย่าเพิ่งวิตก! เพราะนักวิจัยบอก...ผอมไปอาจทำให้อายุขัยลดลง

 
ยุคที่เทรนด์รักสุขภาพมาแรงแบบนี้ เราก็พอจะรู้กันอยู่แล้วล่ะ ว่าการมีน้ำหนักตัวเกินหรือค่าดัชนีมวลกาย( BMI) เกินมาตรฐาน อาจนำไปสู่โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน หรือโรคหัวใจ และด้วยการที่ถูกป้อนข้อมูลแบบนี้มาซ้ำๆ ทำให้หลายคนสรุปกับตัวเองว่า “งั้นฉันก็ต้องผอมเพื่อให้สุขภาพดี ไม่เสี่ยงต่อโรค” แต่เมื่อเราได้พบกับข้อมูลงานวิจัยหนึ่ง ก็เริ่มทำให้เราลังเลกับความเชื่อที่ว่าผอมแล้วดี ว่ามันอาจจะเป็นมายเซ็ตที่ไม่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้!


งานวิจัยชิ้นนี้ถูกเขียนลงใน  www.sciencealert.com เป็นผลการศึกษาของ Børge Nordestgaard นักชีวเคมีจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Copenhagen ที่ศึกษาในกลุ่มผู้ทดลองจำนวน 100,000 คน โดยเทียบกับเกณฑ์ค่าดัชนีมวลกายที่ระบุเอาไว้ว่า 
  • ค่า BMI 18.5-24.9 คือมีสุขภาพดี
  • ค่า BMI 25-29.9 คือมีน้ำหนักเกิน 
  • ค่า BMI มากกว่า 30 ขึ้นไป คือจัดอยู่ในประเภทโรคอ้วน 
ซึ่งจากผลการศึกษาที่กินระยะเวลานานกว่า 15 ปี ก็พบว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มโรคอ้วนนั้นมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเช่นเดียวกันกับผู้ที่มีค่า BMI ปกติ
 
ทำไมคน (ที่มีค่า BMI) ปกติ ถึงกลายเป็นมีโอกาสเสียชีวิตสูง ?
นั่นอาจสอดคล้องกับที่ Esther Landhuis นักข่าวด้านวิทยาศาสตร์ เคยได้มีการพูดถึงการศึกษาหนึ่งที่ทำการสำรวจและพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 โดยส่วนใหญ่แล้วคือผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ! หรือที่  Rexford Ahima คุณหมอจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้บอกว่า ค่า BMI เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการประเมินสุขภาพและแนวโน้มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของคนๆ นั้นได้

ซึ่งถ้าจะพูดกันจริงๆ ทุกวันนี้เราก็สังเกตเห็นได้ว่า คนผอมบางคนก็ตรวจเจอว่าเป็นเบาหวาน บางคนตรวจเจอว่าระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งนั่นก็อาจจะทำให้คิดได้ว่า ต่อให้มีค่า BMI ต่ำกว่า 25 นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีสุขภาพดี เฮลธ์ตี้กันทุกคน
 
แต่ก็สรุปไม่ได้ว่า...มีค่า BMI มากกว่า 25 จะไม่เสี่ยงโรค
ถึงแม้ว่าการมีค่า BMI ต่ำกว่า 25 จะไม่ได้แปลว่าคุณสุขภาพดีเสมอไป แต่การมีค่า BMI มากกว่า 25 ก็ยังคงเป็นบุคคลที่เสี่ยงโรคอ้วนและโรคอื่นๆ ได้อยู่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ อย่าง the Lancet ที่ว่าการมีน้ำหนักเกินหรือต่ำกว่ามาตรฐาน สามารถลดอายุขัยลงได้ถึง 4 ปี รวมถึงอีกหนึ่งผลการศึกษาทางการแพทย์ด้านเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ที่บอกไว้ว่าอายุขัยของผู้ป่วยโรคอ้วนนั้นจะสั้นกว่าคนที่มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี ประมาณ  4.2 ปีสำหรับผู้ชาย และ 3.5 ปีสำหรับผู้หญิง
 
เอ๊ะ! แล้วแบบนี้เราควรมีระดับค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI เท่าไหร่ถึงเรียกว่า “สุขภาพดี”
นี่คือข้อมูลหนึ่งที่มีการเขียนลงใน www.dietdoctor.com โดย Dr. Andreas Eenfeldt แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ได้สรุปคร่าวๆ จากหลายๆ ผลการศึกษา โดยเขาเชื่อว่าคนที่มีอายุยืนยาวที่สุด ส่วนใหญ่จะมีค่า BMI อยู่ที่ประมาณ 20-22 หรืออย่างน้อยต่ำกว่า 25 ในขณะเดียวกัน ด้าน Dr. Krishnan Bhaskaran ศาสตราจารย์ภาควิชาระบาดวิทยาโรคไม่ติดต่อ จาก The London School of Hygiene & Tropical Medicine ได้บอกกับ BBC News ว่าผู้ที่มีค่า BMI ต่ำกว่า 21 จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น
 
แต่ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว คำว่าสุขภาพดีจะต้องมีค่า BMI ที่เท่าไหร่ อย่างน้อยเราก็รู้แล้วว่า “ความผอม” ไม่ใช่เกณฑ์การวัดความเฮลธ์ตี้อย่างที่เราเข้าใจ เพราะฉะนั้น ใครที่น้ำหนักขึ้นขีดสองขีดก็จิตตก เราอยากให้คุณเปลี่ยน mindset ใหม่ ก่อนที่สุขภาพจะพังเพราะมัวแต่โฟกัสตัวเลขบนตาชั่งนะ


 
-->