นอนละเมอ ระวังเจอ 'พาร์กินสัน' ถามหา

“ซ่าส์ แต่แบบสั่นๆ ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ...ว่าจะใช่พาร์กินสันหรือเปล่า” ยิ่งใครที่ชอบนอนละเมออยู่บ่อยๆ ด้วย เพราะถึงแม้จะมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications บอกไว้ถึงสาเหตุของโรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) ว่าเมื่อมนุษย์แก่ตัวลง โปรตีนในร่างกายจะจัดระบบใหม่ โดยระบบควบคุมคุณภาพส่วนโปรตีนสมองที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุขัยจะเสื่อมถอย ทำให้โปรตีนสูญเสียความสามารถในการจับคู่กับเนื้อเยื่อเฉพาะส่วน จนไม่สามารถป้องกันโรคต่างๆ รวมถึงโรคพาร์กินสัน แต่การนอนละเมอ ก็เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนของโรคที่ต้องระวัง...อยู่ดี



พาร์กินสัน...นั้นเป็นอย่างนี้
โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) หรือบางคนอาจรู้จักในชื่อ โรคสันนิบาตลูกนก เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาท (Progressive Neurodegenerative Disease) ที่สร้างสารสื่อประสาท “โดพามีน” ทำให้การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายทำงานผิดปกติพบมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ โดยจากสถิติพบผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมากกว่าล้านคนทั่วโลก มักพบในประชากรที่อายุมากกว่า 55 ปี และมีแนวโน้มว่าผู้ป่วยโรคดังกล่าวในประเทศไทยจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 



ไม่ใช่แค่นอนละเมอ ที่ (อาจ) เจอว่าเป็นพาร์กินสัน
นอกจากอาการนอนละเมอ จะเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนของโรคพาร์กินสันแล้ว ยังอาจมีอาการเหล่านี้ ที่ใครล่ะจะคิดว่าเป็นคำเตือนของโรค
  • สั่น ถึงจะเป็นอาการที่เรารู้กันอยู่แล้ว แต่อาการมือสั่นก็อาจพบได้ในคนปกติที่เพิ่งเสร็จจากการออกกำลังกาย มีภาวะตึงเครียด ตื่นเต้น วิตกกังวล หรือเป็นผลจากยาบางชนิด เพราะฉะนั้นอาจต้องลองสังเกตว่าตัวเองมีอาการสั่นเล็กน้อยที่บริเวณนิ้วมือ ข้อมือ คางเวลานั่งอยู่เฉยๆ บ้างหรือเปล่า
  • เขียนหนังสือตัวเล็กลง ซึ่งโดยปกติเมื่ออายุมากขึ้นก็เป็นเหตุให้การมองเห็นลดลง จนอาจจะทำให้ลายมือเปลี่ยนได้ แต่การเขียนอย่างต่อเนื่องแล้วตัวหนังสือค่อยๆ เล็กลงหรือติดๆ กัน นี่ก็ชักจะน่าสงสัย
  • สูญเสียการได้กลิ่นหรือรับรส เดี๋ยวนี้การไม่ได้กลิ่นหรือรับรสอาหาร อาจเป็นสิ่งที่ต้องกังวล เพราะมีหลากหลายโรคที่สามารถนำมาซึ่งอาการดังกล่าว รวมทั้งโควิด-19 และการ์กินสันด้วย เพราะฉะนั้นเช็คหน่อยก็ดี
  • เคลื่อนตัวลำบาก ไม่ใช่เพราะว่าขี้เกียจหรืออะไรหรอกนะ แต่อาจเพราะรู้สึกว่าแขนขาติดขัด เกร็ง ขยับไม่ค่อยสะดวก ซึ่งอาจสะกิดคนข้างๆ ให้ช่วยสังเกตดูว่าแขนข้างใดข้างหนึ่งแกว่งไม่เท่ากับอีกข้างหรือเปล่า และอาจสังเกตความรู้สึกตัวเองเวลาก้าวเดินดูว่ามีความรู้สึกว่าเท้าติดขัด ก้าวขาไม่ค่อยออก จนพาลจะล้มบ่อยๆ บ้างไหม
  • ท้องผูก ถึงจะดูเป็นอาการปกติ อาการนี้อาจเกิดได้เป็นอาการแรกๆ ของโรคพาร์กินสันเช่นกัน
  • พูดเสียงเบา หรือพูดไม่ชัด ถ้าใครมาทักว่าพูดเบา หรือฟังไม่ค่อยออกอยู่บ่อยๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยเป็น ให้คอนระวังโรคพาร์กินสันนี้ไว้ด้วยก็ดี
  • หน้าเฉย ทั้งๆ ที่เคยแสดงออกอารมณ์ทางสีหน้า แต่อยู่ๆ มาวันดีคืนดีก็ไม่มีความรู้สึกซะงั้น แบบนั้นอาจต้องระวังไว้บ้าง
  • เวียนหัวหรือเป็นลมบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนแปลงท่าทาง ซึ่งมักเป็นผลจากความดันโลหิตที่ลดตอนที่เปลี่ยนท่า นั่นก็ (อาจ) เพราะว่าพาร์กินสันได้เหมือนกัน
  • เดินก้มหรือหลังโค้งงอ แม้ว่าคนเราพอแก่ตัวลงจะมีอาการหลังค่อมจากการที่กระดูกผุกร่อน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกว่ายืนตัวยืดตรงไม่ได้ รวมถึงมีคนใกล้ชิดทักว่าหลังโค้งไปข้างหน้า หรือลำตัวเอนไปด้านใดด้านหนึ่งแบบผิดปกติ นี่ก็อาจเป็นอาการของโรคพาร์กินสันได้
 
ทีนี้ก็รู้แล้วนะว่านอนละเมอ (รวมถึงอาการอื่นๆ ที่ว่ามา) ไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยเบลอ ไม่ใส่ใจได้
-->