ที่ชอบเหงื่อออกตอนนอน เป็นเพราะพฤติกรรม หรือสัญญาณของโรคกันแน่!
เคยมั้ยระหว่างนอนหลับ ทั้งๆ ที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ แต่ทำไมเหงื่อถึงชุ่มเหมือนเพิ่งวิ่งมาสิบกิโล ถ้าคุณมีอาการเหงื่อโชกระหว่างนอนหลับทำให้ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก ซึ่งนอกจากจะขัดจังหวะการนอนของเราแล้ว ชุดนอน หมอน ผ้าปูเตียง ก็เปียกเหงื่อไปหมด วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีเหงื่อระหว่างนอนหลับกัน ว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่!!!
ต้องบอกก่อนว่าอาการเหงื่อออกระหว่างนอนหลับอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุเบสิคๆ อย่างสภาพอากาศในห้องนอนที่อุ่นเกินไป ผ้าห่มหนาเกินไป หรือนอนฝันร้าย ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เราสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ด้วยการเปลี่ยนผ้าห่มให้บางลงและระบายอากาศดี ปรับอุณภูมิในห้องนอนให้เหมาะสม หรือจัดการกับความเครียดเพื่อหลีกเลี่ยงการนอนฝันร้าย และรู้มั้ยว่า? สิ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าอาจเป็นสาเหตุของอาการเหงื่อออกระหว่างนอน… อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้เหมือนกัน
โรควิตกกังวล (Anxiety disorders)
ถือเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งทำให้เกิดความกังวลที่มากกว่าปกติทั่วไป โรควิตกกังวลก็จะเเบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น โรคกลัวสังคม โรคกลัวแบบเฉพาะหรือโฟเบีย รวมถึงโรคแพนิก และอาการแพนิคตอนกลางคืน (Nocturnal Panic Attacks) ซึ่งสามารถทำให้คุณตื่นตระหนกตกใจตื่นขึ้นกลางดึกโดยไม่มีเหตุผล มีอาการเหงื่อออกมาก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ร้อนวูบวาบ หายใจสั้น หายใจลำบากร่วมด้วย แต่สักพักอาการก็จะดีขึ้นและสามารถนอนต่อได้
แม้ว่าโรคนี้จะไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาการของโรคนั้นดันไปคล้ายกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นอย่างโรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน
ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis)
เป็นภาวะที่ร่างกายขับเหงื่อออกมาทางผิวหนังมากผิดปกติแม้กระทั่งเวลานอน ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดจากความบกพร่องของระบบประสาท ระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ เกิดจากกรรมพันธุ์หรืออาการข้างเคียงของโรคต่างๆ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคอ้วน มักจะมีเหงื่อออกมากบริเวณหน้า มือ รักแร้ จนกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับการรักษาหากเป็นเคสที่เกิดจากอาการข้างเคียงของโรค แพทย์ก็จะทำการรักษาตามสาเหตุของโรคนั้นๆ แต่หากเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เกิดจากโรค ก็จะมีทั้งวิธีผ่าตัดส่องกล้องเพื่อทำลายปมประสาทบางส่วนที่ส่งสัญญาณหลั่งเหงื่อมายังบริเวณที่เหงื่อออก หรือการใช้ยากลุ่ม aluminum chloride หรือฉีดโบท็อกซ์บริเวณใต้ผิวหนังเพื่อระงับเหงื่อชั่วคราว
วัยทอง (Menopause)
วัยทองเป็นวัยที่สุขภาพร่างกายและจิตใจถูกบั่นทอนจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น รวมถึงความบกพร่องของฮอร์โมนเพศซึ่งมีอิทธิพลต่อการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้มีอารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ ซึ่งเป็นความรู้สึกร้อนขึ้นมาที่ผิวบริเวณศีรษะหรือหน้าอก มีเหงื่อออกมากแม้กระทั่งตอนกลางคืน อ่อนเพลีย และวิงเวียนศีรษะได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถปรึกษาสูตินรีแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินปัสสาวะ โดยแพทย์อาจมีการให้ฮอร์โมนทดแทนตามความจำเป็นและเหมาะสม
การใช้ยาบางชนิด (Medications)
ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้เหงื่อออกมากขึ้นได้ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ การรักษาโรคเบาหวาน การรักษาโรคมะเร็ง หรือยากระตุ้นฮอร์โมน ถ้าคุณสงสัยว่ายาที่รับประทานอยู่ทำให้เหงื่อออกจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หรือแม้แต่การนอน ให้ลองปรึกษาแพทย์เพื่อปรับวิธีการรักษา ไม่ควรหยุดยาไปเองแบบดื้อๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการแผนรักษาได้
ร่างกายติดเชื้อ
เมื่อคุณมีอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อหรือมีไวรัสอยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการไข้ได้ ถือเป็นกลไกธรรมชาติที่ร่างกายจะต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม และขับเหงื่อออกมามากขึ้นเพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ใครวัดอุณภูมิแล้วสูงถึง 38 องศาเซลเซียส หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
เคสนี้ถือเป็นเคสที่มีโอกาสเกิดน้อยมาก จากสถิติของ National Cancer Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา ในประชากร 1 ล้านคน พบผู้ป่วยเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมาเพียง 2-8 คนต่อปีเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง มักเกิดที่บริเวณต่อมหมวกไตข้างใดข้างหนึ่ง แต่ก็มีโอกาสเกิดได้ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเนื้องอกนี้จะปล่อยฮอร์โมนที่ทำให้ความดันโลหิตสูง รวมถึงมีอาการเหงื่อออกมาก ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น ตัวซีด หายใจสั้น สามารถตรวจเจอได้จากการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง เอ็มอาร์ไอสแกน และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มักหายเป็นปกติหลังจากเข้ารับการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกไปแล้ว
เห็นมั้ยว่าอาการเหงื่อออกตอนนอนสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สภาพอากาศไปจนถึงโรคแอบแฝงอย่างเนื้องอก การเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างละเอียดและทำการรักษาอย่างตรงจุดจึงถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อสุขภาพที่ดีและการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ