จะนอนแล้วก็ดื่มได้? เมื่อผลวิจัยบอกว่าคาเฟอีนอาจไม่ได้ทำให้ตาค้างอย่างที่เราเชื่อกัน



ถ้าจะบอกว่าจริงๆ แล้ว ‘คาเฟอีน’ อาจไม่ได้ส่งผลต่อการนอนของเราขนาดนั้น คงจะฟังดูแปลกๆ เพราะตั้งแต่จำความได้ เราน่าจะเคยถูกปลูกฝังกันมาว่า การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน โดยเฉพาะกาแฟ จะทำให้เรานอนไม่หลับ ซึ่งก็ฟังดูมีเหตุผล เพราะคาเฟอีนก็เป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัวจริง แต่มันอาจจะไม่เสมอไป เพราะล่าสุดมีงานวิจัยออกมาแย้งแล้ว



‘คาเฟอีน’ ไม่กระทบการนอนอย่างที่คิด
Florida Atlantic University และ Harvard Medical School ได้ตามศึกษากลุ่มตัวอย่าง 785 คน เป็นเวลาเกือบ 15 ปี และบันทึกปริมาณคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และนิโคติน ที่กลุ่มตัวอย่างกินในแต่ละวัน พร้อมทั้งใช้อุปกรณ์ที่ติดไว้กับข้อมือเพื่อประสิทธิภาพในการนอนและการตื่นของแต่ละคน ซึ่งผลการวิจัยออกมาก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ทีเดียว เพราะคาเฟอีนไม่ได้มีผลต่อการนอนของเราอย่างที่คิด ในขณะที่นิโคติน และแอลกอฮอล์ ที่หลายคนมักจะใช้เป็นยานอนหลับแบบบ้านๆ กลับ Disrupt การนอนของเราซะงั้น

บทความของ Dr. Christine Spadola จาก Florida Atlantic University คอนเฟิร์มว่า “การได้รับแอลกอฮอลล์ และนิโคติน ในระยะเวลา 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน จะทำให้การนอนหลับของเราแย่ลง ซึ่งไม่พบความสัมพันธ์ในลักษณะนี้กับคาเฟอีน” เรียกได้ว่าผลที่ออกมาก็ค่อนข้างจะเซอร์ไพรส์ทีมงานอยู่มากเหมือนกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับอย่าง Dr. Neil Stanley ก็ออกมาสนับสนุนผลการวิจัยนี้พร้อมกับให้สัมภาษณ์กับ The Independent แบบตรงๆ ไว้ว่า “แนวคิดที่ว่าการดื่มกาแฟก่อนนอนจะทำให้ตื่นตอนกลางคืน เป็นอะไรที่ Myth มาก”
 

ไม่มีกฎตายตัว ต้องใช้การสังเกตช่วย
บางคนอาจจะอยากให้เราสรุปแบบฟันธงให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย ว่าตกลงแล้ว คาเฟอีนนี่มันมีผลกับการนอนไหม ซึ่งเราต้องขออธิบายก่อน ว่าจริงๆ แล้ว ร่างกายของแต่ละคน ‘ไว’ ต่อคาเฟอีนไม่เท่ากัน ซึ่งเราน่าจะรู้ตัวเองกันอยู่แล้ว ถ้าร่างกายเรา Sensitive กับคาเฟอีน การดื่มชา หรือกาแฟช่วงใกล้เวลาเข้านอนอาจจะไม่ใช้ไอเดียที่ดีสักเท่าไหร่ แต่กับบางคน คาเฟอีนอาจจะออกฤทธิ์ในร่างกายน้อยมาก จนแทบไม่กระทบกับการนอนเลย พูดง่ายๆ ว่าคำตอบคือไม่มีคำตอบที่ตายตัวสำหรับเรื่องนี้

แน่นอนว่าถ้าดื่มกาแฟมาทั้งชีวิต กาแฟดำวันละแก้วบ้าง สองแก้วบ้าง แล้วอยู่มาวันหนึ่งเริ่มพบว่าตัวเองเริ่มมีปัญหาเรื่องการนอน ฟันธงเลยว่าอาการนอนไม่หลับนั้น ไม่เกี่ยวกับกาแฟ หรือคาเฟอีนอย่างแน่นอน แต่ความฟินของคนรักกาแฟยังไม่หมดแค่นี้ เพราะมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน European Journal of Epidemiology เค้าพบว่า การดื่มกาแฟวันละ 2-4 แก้ว ช่วยเพิ่มอายุไขได้ถึง 2 ปี
 

เพราะ ‘ยีนส์’ ต่างกัน เลยตอบสนองต่างกัน
ที่นี้เราลองมาดูกันต่อ ว่ากลไกอะไรในร่างกายเรา ที่มันทำให้แต่ละคนตอบสนองต่อคาเฟอีนต่างกันขนาดนั้น คำตอบคือ ‘ยีนส์คาเฟอีน’ ซึ่งเป็นยีนส์ที่ควบคุมปฏิกิริยาของร่างกายต่อคาเฟอีน ทีนี้เราต้องรู้จักอีกหนึ่งตัวละครที่ชื่อว่า อะดีโนซีน (Adenosine) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าและง่วงนอน
 
ทีนี้เจ้าสารอะดีโนซีนนี้มันจะเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ตอนเราตื่นนอน ในทุกๆ ชั่วโมงที่ล่วงเลยไปในแต่ละวัน ปริมาณอะดีโนซีนก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อเรารับคาเฟอีนเข้าไปในร่างกาย คาเฟอีนเหล่านี้จะไปทำหน้าที่ยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารอะดีโนซีน ทำให้ความรู้สึกเหนื่อยล้าอยากพักผ่อนหายไป ประเด็นคือ ทำไมคาเฟอีนถึงไม่สามารถออกฤทธิ์ หรือออกฤทธิ์ได้น้อยมากในร่างกายบางคน นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบจนได้ออกมาเป็น 3 ทฤษฎีคร่าวๆ คือ

     •   ร่างกายอาจผลิตสารอื่นนอกจากอะดีโนซีน ที่ทำให้ง่วงและเหนื่อยล้าเหมือนกัน
     •   อะดีโนซีนในร่างกายอาจจะแข็งแกร่งมากจนฤทธิ์ของคาเฟอีนไม่สามารถทำอะไรได้
     •   ร่างกายอาจจะขับถ่ายคาเฟอีนออกมาเร็วเกินไป เรียกง่ายๆ คือมันยังไม่ทันออกฤทธิ์นั่นเอง

 

รู้แบบนี้แล้ว ก็ต้องหันกลับมามองตัวเองนะ ว่าร่างกายของเราตอบสนองกับคาเฟอีนมากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับคอกาแฟแล้ว คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ลิ้มรสและละมุนกับกลิ่นของกาแฟแก้วโปรดในทุกๆ วัน เพราะฉะนั้นถ้าร่างกายไม่ Sensitive กับคาเฟอีนแล้วละก็ การจิบกาแฟหอมๆ ก่อนเข้านอน คงจะเป็นอะไรที่ฟินไม่น้อย
 
-->