จริงมั๊ย? ที่เขาบอกกันว่า 'เนื้อปลาแซลมอนเลี้ยง' ยิ่งกิน ยิ่งอันตราย
ถ้าใครที่โตมากับการนั่งหน้าจอรอดูสารคดีเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกแล้วล่ะก็ น่าจะพอจำโมเม้นท์อาการตื่นเต้นที่ได้เห็นปลาสีส้มแดงตัวใหญ่ใต้ท้องสีชมพูว่ายทวนน้ำเพื่อไปผสมพันธุ์และวางไข่ แต่รู้มั๊ยว่าไม่ใช่ทุกตัวที่จะสามารถรอดพ้นอุปสรรคไซส์ยักษ์อย่างหมีกริซลีที่คอยจ้องจะจับกินเป็นอาหารได้
ซึ่งนอกจากแซลมอนจะมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศแล้ว มนุษย์เราก็รู้ซึ้งถึงประโยชน์ที่ดีงามของเนื้อปลาชนิดนี้กันเป็นอย่างดี เริ่มแรกอาจเป็นการล่าอย่างเป็นธรรมชาติเพื่อมาบริโภค แต่ ณ วันหนึ่งที่คนเริ่มล่ากันเยอะขึ้น แน่นอนว่าระบบบนิเวศเริ่มสั่นคลอน เมื่อมีผู้ล่ามากกว่าผู้ถูกล่า ทำให้เริ่มมีการทำฟาร์มปลาแซลมอนขึ้น เพื่อส่งต่อไปยังตลาดปลาทั่วโลก ตอบสนองบรรดาแซลมอนเลิฟเวอร์แบบถึงใจ และถึงแม้มันจะทำให้มีจำนวนปลาเพิ่มขึ้นก็จริง แต่นั่นก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งเรื่องของมลพิษจากฟาร์มปลาที่กระทบสภาพแวดล้อมทางน้ำ โรคจากฟาร์มปลาที่แพร่กระจายสู่สัตว์น้ำตามธรรมชาติ และบางกระแสก็บอกว่าเนื้อปลาแซลมอนฟาร์มมีสารพิษสะสมอยู่มาก !!!
อย่างข้อมูลจาก www.organicconsumers.org มีการระบุว่า แซลมอนเลี้ยงคืออาหารที่อันตรายที่สุดในโลก... ซึ่งจากการทดสอบเนื้อปลาก็พบว่ามีความเป็นอาหารขยะมากกว่าอาหารเพื่อสุขภาพ!!!
คำถามก็คือแล้วเรื่องนี้เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน แล้วถ้าเราเลือกที่จะกินต่อไป มันยังปลอดภัยหรือเปล่า? เราจะพาคุณมาดูเรื่องที่คนกำลังถกเถียงกัน และเราจะให้คุณเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเดินหน้าต่อกับเรื่องนี้ยังไง
ฟาร์มปลาแซลมอนที่ประเทศนอร์เวย์
• แซลมอนฟาร์ม มีสารก่อมะเร็งมากกว่า แซลมอนธรรมชาติ 8 เท่า
เว็บไซด์ organicconsumers.org ได้พูดถึงอุตสาหกรรมเลี้ยงปลาแซลมอนว่าส่วนใหญ่จะอยู่แถบอเมริกาเหนือ ยุโรป และชิลี ซึ่งเรียกว่าเป็นแหล่งใหญ่ในการส่งออกเนื้อปลาแซลมอนราคาถูกไปทั่วโลก และในขณะเดียวกันแซลมอนที่เลี้ยงในมหาสมุทรแอตแลนติกนี้เองที่อันตรายที่สุด เพราะมีการพบสารพิษตกค้างมากถึง 13 ชนิด และหนึ่งในนั้นคือสารโพลีคลอริเนตไบฟีนิล (Polychlorinated biphenyls: PCB) ที่นอกจากเป็นสารก่อมะเร็งแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นพิษต่อระบบประสาทและระบบสืบพันธุ์
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก (University of Pittsburgh) สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ ได้ศึกษาเรื่องคุณภาพน้ำและอาหารที่แซลมอนกินเข้าไป พบว่าเนื้อปลาแซลมอนฟาร์มทั่วไปที่วางขายในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร มีสารพิษที่อาจกระทบต่อพัฒนาการเด็กอย่างสารหน่วงไฟโพรลิโบรมิเนต ไดฟีนิล อีเทอร์ (PBDE) ซึ่งโดนสั่งแบนในสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรปหลายประเทศ
Carla Ng ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชาวิศวรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก อธิบายไว้ว่าเมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกเผา สาร PBDE จะลอยขึ้นไปในอากาศจนเกิดสารพิษตกค้างทั้งบนบกและในมหาสมุทร ซึ่งเขาได้ตรวจพบสารนี้ในสาหร่ายและแพลงตอนที่เป็นอาหารของเนื้อปลาที่ถูกนำไปผลิตเป็นอาหารปลาแซลมอน เมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก ก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งเรื่องของพัฒนาการ โรคตับ และที่สำคัญคือรวมถึงมะเร็งด้วย
"เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเนื้อปลาแซลมอนที่แล่มาอย่างสวยงาม วางขายในซูเปอร์มาเก็ตนั้นมีการปนเปื้อนสารพิษมากน้อยเพียงใด และแม้การกินเพียงน้อยนิดจะไม่ส่งผลต่อสุขภาพ แต่ถ้าใครที่กินเนื้อปลาแซลมอนสัปดาห์ละหลายครั้งก็ควรจะตระหนักถึงเรื่องสุขภาพด้วยเช่นกัน... อย่ากินปลาชนิดเดิมจากแหล่งจำหน่ายหรือตลาดเดิมๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจเป็นเนื้อปลาที่มีการปนเปื้อนที่ทำให้ร่างกายคุณต้องสะสมสารพิษไว้เป็นจำนวนมาก” Carla Ng แนะนำ
ภาพจาก Photo by Giovanna Gomes on Unsplash
• ถึงจะเป็นแซลมอนเลี้ยง ก็กินได้ ไม่ได้มีอันตรายอะไร
แม้จะมีกระแสเชิงลบเกี่ยวกับเนื้อปลาแซลมอนเลี้ยงมามากมายอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีนักวิชาการไทยออกมายืนยันแล้วว่า กินได้
อย่างใน facebook ของ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนไว้ว่าเนื้อปลาแซลมอนเลี้ยงมีความปลอดภัยถ้าจะกิน แม้จะมีแซลมอนตามธรรมชาติวางจำหน่ายแต่ก็ราคาสูงกว่าแซลมอนเลี้ยง ขณะที่ฟาร์มเลี้ยงแซลมอนในแถบยุโรปทางเหนือมีมาตรฐานการควบคุมการเลี้ยงตามกฏของสหภาพยุโรป (EU) ให้ออกมาใกล้เคียงกับธรรมชาติ ถูกตรวจสอบตามขั้นตอนของกฏอียูทุกๆ อย่าง รวมถึงการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีต่างๆ ด้วย ซึ่งข้อดีของการเพาะเลี้ยงก็คือลดการทำลายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ
• อยากได้โอเมกา 3 ... ปลาไทยก็มีเหมือนกัน
อีกหนึ่งประเด็นที่เราอยากนำเสนอก็คือเรื่องของราคา เมื่อเทียบกันที่ราคาแล้ว เนื้อปลาแซลมอนค่อนข้างราคาแพงทีเดียวเมื่อเทียบกับปลาไทยที่ขายตามท้องตลาด สิ่งที่น่าสนใจคือ...ถ้าเทียบกันที่สารอาหารโดยเฉพาะกรดไขมันโอเมกา 3 แล้วปลาไทยอาจจะมีเยอะกว่า
ข้อมูลจาก ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา คณะกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอเมกา 3 ในปลาไทยไว้ว่า ปลาสวายเนื้อขาว มีโอเมกา 3 สูงถึง 2,570 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ปลาช่อนมีโอเมกา 3 ถึง 870 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ขณะที่ปลาแซลมอลมีโอเมกา 3 ประมาณ 1000-1,700 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ปลากะพงขาว 310 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ซึ่งส่วนใหญ่ปลาน้ำจืดจะมีราคาต่ำกว่าปลาทะเล แต่อาจจะต้องเลือกใช้วิธีในการปรุงอาหารเป็นการต้มหรือการนึ่ง ไม่ควรทอดหรือผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม เพราะโอเมกา 3 เมื่อผ่านความร้อนสูงจะสลายตัวได้
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ขอบอกก่อนเลยว่าเราไม่ได้อยากดิสเครดิตเนื้อปลาสีส้มที่เป็นอาหารจานโปรดของหลายๆ คน แต่อยากนำเสนอข้อมูลอีกด้านเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงที่มาของอาหารในจานว่าเฮลธ์ตี้อย่างที่คิดจริงมั้ย... ส่วนอำนาจการตัดสินใจ ว่าจะกินต่อไปรึป่าว ก็อยู่ที่ตัวคุณแล้วล่ะ