ความหิว... ทำให้เราตัดสินใจแย่ลง
ใครที่เคยสั่งอาหารตอนหิวๆ คงพอนึกภาพออกว่าพออาหารมาเสิร์ฟและเริ่มกินไปได้สักระยะ ก็รู้สึกว่า “นี่กูทำอะไรลงไปวะเนี่ย” เพราะไม่มีทางกินหมดแน่ๆ เป็นความหน้ามืดที่คนหิวจัดๆ เท่านั้นจะเข้าใจ
แล้วกระบวนการนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง ส่งผลกับแค่เรื่องกินเท่านั้นหรือเปล่า?
Photo by Franky Van Bever on Unsplash
Hunger Hormones คือต้นเหตุเกรลินได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความหิว โดยมันจะหลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหาร แล้วส่งสัญญาณได้ยังสมองว่าหาอะไรมากินได้แล้ว... โดยทีมวิจัยของศูนย์การแพทย์ Sahlgrenska Academy มหาวิทยาลัยกอเทนเบิร์ก ประเทศสวีเดน พบว่า นอกจากฮอร์โมนเกรลินจะเพิ่มความอยากอาหารแล้ว ยังส่งผลเสียต่อกระบวนการตัดสินใจและความยับยั้งชั่งใจอีกด้วย
แคโรไลนา สคีบิกคา หนึ่งในทีมวิจัย บอกว่า เมื่อจำกัดผลกระทบของเกรลินในหนูทดลอง ให้มีผลต่อสมองส่วนระบบการรับรางวัล จะทำให้หนูตัดสินใจเร็ว มีความหุนหันพลันแล่นมากขึ้น แต่เมื่อปิดกั้นฮอร์โมนเกรลิน พฤติกรรมหุนหันพลันแล่นของหนูทดลองก็ดูจะลดลงอย่างมาก
ไม่ใช่แค่เรื่องกิน... แต่ความหิวยังกระทบถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ด้วย
ไม่เพียงการตัดสินใจเรื่องการกิน แต่รวมถึงเรื่องธุรกิจและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย... งานวิจัยชิ้นนี้มีที่ว่าจากความสงสัยของ ดร.เบนจามิน วินเซนต์ จากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Dundee ในสกอตแลนด์ ว่าความหิว กระทบความอดทนของเราหรือเปล่า? เขาเริ่มหากลุ่มตัวอย่าง 50 คนมาทำการทดลองเรียกว่า "marshmallow test" เริ่มจากการถามผู้ร่วมวิจัยว่าคุณอยากได้ของรางวัลชิ้นเล็กๆ ตอนนี้ หรือถ้ารอนานอีกหน่อยจะได้ของรางวัลที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งของรางวัลในงานวิจัยของ ดร.วินเซนต์ มีทั้งเงิน อาหาร และการดาวน์โหลดเพลงฟรี โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้กินข้าวเช้าก่อน ขณะที่อีกกลุ่มไม่ได้กิน
ความหิว ทำให้เราลืมเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
ความหิวทำให้พวกเราพอใจกับอะไรเล็กๆ น้อยๆ แทนที่จะเป็นของรางวัลชิ้นใหญ่ที่ต้องรอนานหน่อย จึงไม่ใช่เรื่องดีนักหากเราต้องตัดสินใจขณะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และอาจไม่ได้ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นเท่าไหร่นัก
“เมื่อคนเราหิว จะต้องการอาหารทันที แม้ว่าถ้ารออีกหน่อยจะได้รับอาหารที่ดีกว่าหรือของรางวัลที่ดีกว่า" การค้นพบนี้ไม่ได้ทำให้ ดร.วินเซนต์ ประหลาดใจนัก แต่ที่โดดเด่นเตะตาพวกเขามากก็คือ กลุ่มตัวอย่างตัดสินใจได้แย่ลงแม้สิ่งที่ต้องอดใจรอจะไม่ใช่อาหาร หรือของที่บรรเทาความหิว ซึ่งดร.วินเซนต์ สรุปว่า คนหิวจะมีความหุนหันพลันแล่น ต้องการของรางวัลทันที แม้ว่าจะไม่ใช่อาหารก็ตาม
นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบอีกว่าคนส่วนใหญ่สามารถรอรางวัลชิ้นใหญ่ได้นานถึง 35 วัน แต่ถ้าพวกเขาหิว ก็จะรอได้เพียง 3 วันเท่านั้น แม้ว่าของรางวัลที่ว่าอาจมีคุณค่าน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึงครึ่งหนึ่ง
งานจากนักวิจัยทั้งสองชาติทำให้เราประมาทอานุภาพของอาหารไม่ได้จริงๆ ยืนยันว่า 'เรื่องกินเรื่องใหญ่' เพราะถ้าไม่กินก็อาจตัดสินใจได้แย่ลง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจต้องเสียน้ำตา ที่รีบร้อนตัดสินใจทั้งที่ถ้ารอคอย ก็อาจบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และคุ้มค่ากว่าที่เราคิดไว้ก็ได้