กร๊อบแกร๊บ...เสียงที่ได้ยินแล้วเป็นต้องเข่าทรุด
ใครบ้างที่นั่งเพลินๆ นานๆ พอลุกขึ้นยืนปั๊ป ก็มีเสียง กร๊อบ! หันซ้ายหันขวาก็ไม่มีใครกินขนมขบเคี้ยวอยู่นี่นา คุณนั่นแหละไม่ต้องไปหันมองใคร เสียงกร๊อบ! ที่ว่ามาจากเข่าของคุณนั่นเอง ผ่าม ผ่าม ผ่าม! ซึ่งเสียงที่ได้ยินนั้น เป็นเสียงของอาการที่ทักทายกรุบกริบจากโรคที่เรียกว่า “โรคข้อเข่าเสื่อม” นั่นเอง ซึ่งหากไม่มีการป้องกันหรือวิธีการดูแลรักษาที่ดี จากเสียงทักทายเป็นครั้งคราว จะเริ่มมาทักทายถี่ขึ้น และจะพ่วงมาด้วยอาการเจ็บเสียวหรือเจ็บแปล๊บในหัวเข่าเป็นของแถม ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันผ่านได้ด้วยความยากหรืออาจจะลำบากเลยก็ว่าได้เมื่อความเสื่อม...มักมาคู่กับอายุที่เพิ่มขึ้น
โรคที่มากับคำว่าเสื่อม ถ้าไม่ได้มาจากการใช้งานที่ไม่ปลอดภัยและมากเกินไป ก็จะมากับอายุที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม โรคจอประสาทตาเสื่อม หรือโรคข้อเข่าเสื่อมก็เช่นกัน โดยปกติแล้วว่ากันตามกายวิภาคศาสตร์ ข้อเข่าเกิดจากกระดูก 3 ส่วน คือปลายกระดูกต้นขามาเชื่อมต่อกับส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้ง และมีด่านหน้าคือกระดูกลูกสะบ้า จะมีเยื้อหุ้มข้อและกระดูกอ่อนวางตัวอยู่เพื่อรองรับแรงกระแทกต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับข้อเข่า และมีเส้นเอ็นสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความมันคงให้กับตัวข้ออีก 4 เส้น แต่การจะวินิจฉัยว่าเป็นข้อเข่าเสื่อมหรือไม่นั้น นอกจากจะซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้ว ส่วนมากจะยืนยันจากผล X-ray หรือผล MRI ซึ่งจะชี้ชัดได้จากความเสื่อมของผิวกระดูกอ่อนที่กระดูกทั้ง 3 ชิ้นในข้างต้น เช่น ช่องว่างของข้อแคบลง, หินปูนเกาะตามขอบกระดูก เป็นต้น หรือเกิดจากน้ำไขข้อที่น้อยหรือมากเกินไปจนเกิดการอักเสบของข้อต่อได้ ซึ่งหากปล่อยไว้นานโดยไม่ดูแลรักษาให้ดี จะทำให้กระดูกอ่อนที่ผิวข้อเสื่อมเร็วมากขึ้น
การใช้งาน...ตัวช่วยเร่งความเสื่อม
นอกจากเรื่องของอายุที่เพิ่ม ที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมแล้ว ยังมีเรื่องของการใช้งานที่ผิดและไม่ปลอดภัย เช่น ชอบนั่งยองๆ หรือคุกเข่าเป็นเวลานาน ซึ่งการนั่งแบบนี้จะทำให้เกิดการกดอัดกันของลูกสะบ้าที่อยู่ด้านหน้าเข่ากับกระดูกต้นขาและหน้าแข้ง ทำให้เกิดการสึกหรืออักเสบของกระดูกอ่อนที่ผิวข้อได้ หรืออาจจะเกิดจากโรคข้อเรื้อรังในผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกขาโก่ง โรคเกาต์ หรือรูมาตอยด์ที่ทำให้ข้ออักเสบ การเกิดอุบัติเหตุ เช่น ลูกสะบ้าหลุด เคลื่อน แตกหรือแม้แต่น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมที่อาจเจอได้ในวัยรุ่น
ทำอย่างไรเพื่อให้เสื่อมช้าที่สุด
ถ้าเป็นโรคที่มากับอายุแล้ว ไม่ว่าใครก็หนีไม่พ้น ยกเว้นเสียแต่ว่า จะหมดอายุขัยลาโลกนี้ไปก่อนที่จะแก่ ความเสื่อมของข้อต่อก็เช่นกัน ไม่ว่าใครก็ต้องประสบพบเจอแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่มนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆ จะทำได้ก็คือ ชะลอความเสื่อมให้ได้นานที่สุด หรือเสื่อมแล้วจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข มาดูกัน
ข้อเข่านอกจากจะประกอบไปด้วยกระดูกและเส้นเอ็นแล้ว ส่วนสำคัญที่ทำให้เข่าสามารถงอ เหยียด หรือทำงานได้ก็คือ การหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อรอบๆ เข่านั่นเอง กล้ามเนื้อที่สำคัญที่เราควรรู้จักก็คือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (Quadriceps) กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstrings) และกล้ามเนื้อน่อง (Gastrosoleus) ที่อยู่ใต้ต่อข้าเข่า (จริงๆ แล้วอีกส่วนที่สำคัญกับการทำงานของข้อเข่ามากๆ คือ กล้ามเนื้อสะโพก แต่จะขอเก็บไว้พูดในโอกาสต่อไป) ซึ่งกล้ามเนื้อทั้ง 3 นี้ จะต้องมีความแข็งแรง เพื่อช่วยในการรับน้ำหนัก ที่ถูกส่งผ่านมาจากลำตัวช่วงบนในขณะที่เราใช้งานไม่ว่าจะยืน เดิน หรือวิ่ง และยังช่วยพยุงข้อ ทำให้เข่ารับน้ำหนักน้อยลง แปลว่าโอกาสที่กระดูกอ่อนจะเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควรก็จะลดน้อยลงด้วย และแน่นอนว่านอกจากความแข็งแรงที่เราจะต้องเพิ่มให้กับกล้ามเนื้อแล้ว การเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อดังกล่าวก็สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากหากเราใช้งานมากหรือทำ weight training exercise โดยที่ไม่ได้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อมีความตึงตัวมาก จนไปจำกัดการเคลื่อนไหวและการทำงานของข้อเข่า มากไปกว่านั้นยังส่งผลถึงการไหลเวียนเลือด อันหมายถึงการนำของเสียออกและการนำสารอาหารเข้าสู่เซลล์นั้นถูกจำกัดไปด้วย จึงสรุปได้ว่า การเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจำเป็นต้องทำควบคู่กันไปเพื่อให้ข้อเข่าเรามีสภาพที่พร้อมกับการใช้งาน และหากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วัยหนุ่มสาว รับรองว่าถ้าอายุมากขึ้น ต่อให้ข้อเข่ามีความเสื่อมก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบายมากกว่าคนที่ไม่ได้เตรียมตัวต้อนรับความเสื่อมที่จะมาเยือนไม่ช้าก็เร็วอย่างแน่นอน
ถ้ามีอาการอย่าละเลย...เพราะจะไม่ใช่แค่เรื่องของเข่า
การออกกำลังกายเพื่อป้องกันและชะลอความเสื่อม ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากหากปล่อยให้เกิดอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม แล้วไม่ได้ดูแลรักษาอย่างจริงจัง ผลสุดท้ายคือจะมีปัญหาในเรื่องข้อต่ออื่นๆ ตามมาด้วย ลองคิดภาพตามว่า หากเข่ามีอาการปวดหรืออักเสบบริเวณข้อเข่า การใช้ชีวิตประจำวันจะลำบากขึ้น เช่น หากต้องเดินเป็นระยะเวลานาน เข่าข้างที่ปวดจะส่งผลให้ลักษณะการเดินผิดไปจากปกติ คือจะมีการลงน้ำหนักข้างที่ไม่ปวดมากกว่าข้างที่ปวด ซึ่งแน่นอนว่าหากเดินลงน้ำหนักขาสองข้างไม่เท่ากัน กล้ามเนื้อหลังสองข้างก็จะทำงานไม่เท่ากัน และหากกวาดสายตามองต่ำลงมา จะเห็นว่าข้อเท้าของข้างที่ลงน้ำหนักมากกว่า ก็จะถูกใช้งานหนักกว่าอีกข้างด้วย
เห็นไหมว่า ไม่ต้องเข้าสู่ช่วง Black Friday แค่โรคข้อเข่าเสื่อมก็ลด แลก แจก แถมความเจ็บปวดปวดไปที่บริเวณอื่นถึงถึงสองที่ ซึ่งก็อยากจะขอแนะนำ ณ ที่นี้ว่า หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งการรักษาเบื้องต้นจะมีการทานยาแก้อักเสบ ยากลูโคซามีน หรือฉีดยาเพื่อลดอาการปวด แต่หากพบว่าเข่านั้นเสื่อมมากเกินที่จะเยียวยา การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมก็เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดและผู้ที่ได้รับการผ่าตัดสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ก่อน/ขณะ/หลัง การผ่าตัด อีกทางเลือกหนึ่งที่คนในสังคมผู้สูงอายุสนใจกันมากขึ้น คือการปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อเรียนรู้ท่าออกกำลังกายที่และนำมาทำเองที่บ้านอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ดังคำกล่าวที่หลายคนอาจจะเคยได้ยิน “ออกกำลังชะลอชรา”