Work Life (ไม่) บาลานซ์ ทำเสียสุขภาพจริงมั้ย?

พูดถึง Work Life Balance แล้วเป็นงานยากในการที่จะทำให้ทุกอย่างนั้นสมดุล เรามักอุทิศเวลาให้กับงานมากเกินไปจนบางครั้งเราไม่ได้แบ่งเวลาให้กับการพักผ่อน แน่นอนว่าหากเราใช้ชีวิตแบบไม่บาลานซ์แล้วละก็ ย่อมส่งผลถึงสุขภาพของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง



#คุณภาพชีวิตสวนทางกับความเป็นอยู่
สภาพแวดล้อมรอบตัวก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กับการจัดสรรเวลาชีวิตของเรา โดยเว็บไซต์ Getkisi ได้จัดอันดับเมืองที่มี Work-Life Balance ดีที่สุด 50 เมืองทั่วโลกในปี 2021 ซึ่งผลการศึกษาทั้งหมดพบว่า เมืองที่มี Work-Life Balance ดีที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
  • เฮลชิงกิ ประเทศฟิลแลนด์
  • ออสโล ประเทศนอร์เวย์
  • ชูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  • สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
  • โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ส่วน 5 อันดับรั้งท้ายประเทศที่มี Work-Life Balance น้อยที่สุด ทำงานหนักที่สุด ได้แก่
  • ฮ่องกง
  • สิงคโปร์
  • กรุงเทพฯ ประเทศไทย
  • บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา
  • กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ซึ่งจากผลสำรวจของกรุงเทพมหานครที่ถูกจัดอยู่อันดับที่ 3 ระบุว่า มีประชากรที่ทำงานหนักเกินเวลามากถึงร้อยละ 20.2 มีสัดส่วนทำงานแบบ Work From Anywhere น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 16.8 และยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถึงร้อยละ 95.1 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบเคียงกับอีก 49 ประเทศที่เหลือ สถิติชี้ชัดขนาดนี้ต้องให้ความสำคัญให้มากขึ้นแล้วล่ะ
 
#คนไทยเสี่ยงสูง…สุขภาพพังเพราะงานหนัก
การวางตารางชีวิตการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ หากเราละเลยอาจส่งผลโดยตรงกับสุขภาพ การเกิดโรคต่างๆ  สุขภาพจิตเสีย ภาวะทางอารมณ์ที่ส่งผลโดยตรงกับการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ผู้ที่มีพฤติกรรมบ้างาน หรือ Workaholic ถูกนับรวมในกลุ่มโรคย้ำคิดย้ำทำ(Obsessive-Compulsive Disorder) ซึ่งทำให้ไม่สามารถหยุดความคิดและพฤติกรรมได้ และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากสุขภาพจะพังแล้ว สุขภาพจิตยังแย่ เพราะคนบ้างานมักมีความคาดหวังค่อนข้างสูงและทุ่มเทให้กับงานเกินกำลัง
 


#แก้ให้ตรงจุด…ด้วยการวางแผนชีวิต
การวางแผนการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด เพราะนอกจากทำให้ชีวิตเรามีสมดุลแล้ว เรายังมีเวลาพักผ่อนให้กับร่างกายได้อีกด้วย การทำงานต้องมีลิมิตและมีช่องว่างในการพักผ่อน มีกิจกรรมให้ได้ผ่อนคลาย หรือหาทริปต่างจังหวัด ไปสูดอากาศดีๆ ให้รู้สึกมีพลังแล้วค่อยกลับมาทำงานก็ยังได้เลย ดังนั้นเราขอแนะนำสูตร 8 : 8 : 8 เพื่อเป็น guideline ดีๆ เผื่อจะนำไปปรับใช้กับการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นข้อมูลจาก โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) นักเศรษฐศาสตร์และนักปฏิรูปสังคมชาวอังกฤษ โดยเขาได้ตั้งสโลแกนในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพไว้ว่า “ทำงาน 8 ชั่วโมง นันทนาการ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง” จนกลายมาเป็นมาตรฐานของการสร้างสมดุลให้กับชีวิตและการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีหลักการแบ่งเวลา ดังนี้
  • 8 ชั่วโมง สำหรับการทำงาน
  • 8 ชั่วโมง สำหรับการผ่อนคลายหรือนันทนาการ
  • 8 ชั่วโมง สำหรับการนอนหลับพักผ่อน

แต่อย่างไรก็ตามหลักการนี้เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น เราสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเราเองได้ ทั้งนี้สมดุลที่ดีไม่ควรเหลื่อมล้ำเวลาของตารางอื่นๆ เช่น การทำงาน 12 ชั่วโมงและเหลือเวลาพักผ่อนเพียงแค่ 4 ชั่วโมง แบบนี้ก็ไม่ควรเกิดขึ้นเลย ไม่งั้นเราจะกลับไป Work Life (ไม่) บาลานซ์อีกเป็นแน่

สุดท้ายเราขอแนะนำ การออกกำลังกายเป็นประจำ ที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้สุขภาพกายดีเท่านั้น เพราะข้อมูลจากสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา พบว่า การออกกำลังกายทำให้เกิดการหลั่งของนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยให้สมองจัดการกับความเครียดนั่นเอง
 
อย่าให้งานมาเป็นตัวทำลายสุขภาพของเรา ทั้งๆ ที่เราสามารถทำงานและมีสุขภาพดีได้พร้อมๆ กัน
-->