ผดผื่นเต็มตัว รับมือยังไงให้รอดช่วงหน้าร้อน

อากาศก็ร้อนเกือบ 40 องศาทุกวัน มีเหรอจะรอดจากผื่นแดง อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้นเช่นนี้ เห็นทีจะต้องรีบหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยด่วน!



‘ลมพิษ’ คือ ตัวการของเรื่องนี้!
โรคลมพิษ (Urticaria) หรืออาการ ‘ลมพิษ’ เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยได้ทุกเพศ ทุกวัย ข้อสังเกตของลมพิษมักจะมีผื่นแดง หรือมีปื้นนูนแดงที่เห็นได้อย่างชัดเจนทั่วทั้งร่างกาย รวมทั้งอาจจะมีอาการคันร่วมด้วย โดยประเภทของโรคลมพิษมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ
 
  • ลมพิษชนิดเฉียบพลัน สำหรับลมพิษชนิดนี้เป็นลักษณะอาการทั่วไปที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยลมพิษ ซึ่งจะมีอาการต่อเนื่องไม่เกิน 6 สัปดาห์ ซึ่งสาเหตุก็เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แมลงสัตว์กัดต่อย หรืออาจจะติดเชื้อบางชนิด สิ่งที่เป็นข้อสังเกตของผู้ป่วยลมพิษชนิดเฉียบพลัน มักเกิดจากการแพ้อาหาร ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ดังนั้นหากเรามีความเสี่ยงในอาหารชนิดต่างๆ ควรสังเกตอย่างละเอียดและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านั้น
  • ลมพิษชนิดเรื้อรัง สำหรับลมพิษชนิดนี้มักจะเป็นๆ หายๆ แต่จะเป็นอย่างต่อเนื่องและเป็นติดต่อกันนานเกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่กลุ่มคนที่เป็นลมพิษชนิดเรื้อรัง มักจะหาสาเหตุไม่ได้ และมักจะถูกกระตุ้นให้เกิดลมพิษได้ง่าย กว่าคนที่เป็นลมพิษชนิดเฉียบพลัน ดังนั้นหากมีลักษณะอาการที่หนักและไม่มีที่มาไปของอาการแพ้ ให้รีบพบแพทย์โดยด่วนที่สุด

รู้เขา รู้เรา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลี่ยง ‘ลมพิษ’
อย่างที่เราทราบกันดีว่า ลมพิษ มีสาเหตุของการเกิดโรคค่อนข้างเยอะ มีปัจจัยและความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่บุคคล ซึ่งทางรอดที่เราจะหนีจากลมพิษได้ คือต้องรู้ว่าตัวเองสุ่มเสี่ยงในเรื่องอะไรบ้าง จะได้ป้องกันเพื่อให้ไม่ให้เกิดลมพิษได้ในที่สุด


1. อาหาร เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของผู้ป่วยลมพิษ ควรระมัดระวังการกินอาหารดังต่อไปนี้
  • อาหารจำพวกโปรตีน เช่น กุ้ง หอย ปลา ถั่ว นม ไข่ หรือแม้กระทั่งผลไม้
  • ผักและผลไม้บางชนิด ที่มีสารประเภท Salicylate ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดลมพิษได้ เช่น แอปเปิล ส้ม แตงกวา มันฝรั่ง มะเขือเทศ มะนาว ปวยเล้ง พริกไทย เป็นต้น
  • อาหารและเครื่องดื่มที่มียีสต์ เช่น ขนมปัง เหล้า เบียร์
  • สารปรุงแต่งอาหารหรือขนม เช่น สีผสมอาหาร โดยเฉพาะสีเหลืองหรือสีเขียวที่มักใช้สีประเภท Tartrazine พบมากในอาหารประเภท สลิ่ม ข้างพอง ขนมชั้น วุ้นกรอบหลากสี ครองแครง อมยิ้ม ฝอยทองกรอบ เป็นต้น
  • วัตถุเจือปนในอาหาร เช่น สารกันบูด

2. ยา เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่มีโอกาสเกิดลมพิษได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะพวก เพนิซีลินซัลฟา ยาแก้ปวด ยานอนหลับ หรือวิตามินบางชนิด ดังนั้นหากได้รับยาแล้ว ให้สังเกตตัวเองดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากปล่อยให้นานเกิน 7-10 วันอาจจะทำให้สังเกตความผิดปกติได้ยากมากขึ้น

3. แมลงตัวร้าย มักก่อให้เกิดอาการแพ้ ไม่เว้นแม้แต่ลมพิษ ซึ่งอาจจะเกิดจากการสัมผัส เช่น ไรน้องแมวและสุนัข นก บุ้ง หรือการถูกกัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน มดแดงไฟ เป็นต้น บางรายอาจจะมีอาการรุนแรงทั้งลมพิษ และอาการบวม ดังนั้นหากมีความผิดปกติควรรีบพบแพทย์โดยด่วนที่สุด
อากาศร้อนชื้น เย็นจัด หรือ อากาศที่มีผลพิษ ส่งผลให้เกิดลมพิษได้ทั้งสิ้น หากเรารู้ว่าตัวเองสุ่มเสี่ยงต่อสภาพอากาศใดๆ ก็ตาม หรือแพ้ฝุ่น ละออง เกสร ควรหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด

4. ปัจจัยอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนแอ มีความเสี่ยงที่จะเป็นลมพิษได้
  • ภาวะความเครียด วิตกกังวล เป็นสาเหตุหนึ่งของลมพิษเรื้อรัง
  • เหงื่อ มักเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมที่สูญเสียเหงื่อเยอะ เช่น ออกกำลังกาย วิ่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ในบริเวณแขนและขา
  • รอยขีดข่วน บางคนผิวหนังมีความไวต่ออาการแพ้ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เมื่อมีรอยขีดข่วน จะเกิดอาการบวมแดงเกิดขึ้น
  • โรคติดเชื้อ สามารถทำให้เกิดลมพิษได้
  • การสัมผัสสารเคมีอันตราย เช่น เครื่องสำอาง สเปรย์ ยาฆ่าแมลง

แต่ละบุคคลจะมีลักษณะอาการแพ้ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นหากเรารู้ว่าตัวเรามีความเสี่ยงในเรื่องใด ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนั้นเป็นลำดับแรก ทั้งนี้หากอาการลมพิษไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและเข้ารับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
-->