Smiling depression ภายใต้รอยยิ้ม อาจมีความ(ซึม)เศร้าซ่อนอยู่
สารภาพเลยว่าหลายๆ ครั้ง การจากไปของคนที่ป่วยซึมเศร้า ก็ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้เรามากเท่าไหร่ เพราะก็พอจะเคยเห็นข้อความตัดพ้อของใครคนนั้นผ่านหน้าฟีดเฟซบุ๊คอยู่บ่อยๆ แต่กลับกัน! ถ้าคนที่จากไปคือนักเอนเตอร์เทนตัวแม่ หรือโจ๊กเกอร์ประจำกลุ่มล่ะ นี่ก็คงทำให้ใครหลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ?” แต่เราอยากจะบอกว่ามันไม่แปลกหรอก เพราะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนไม่น้อยที่ปกปิดความหดหู่นี้ไว้ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ หรือที่นักจิตบำบัดเรียกกันว่า...อาการ Smiling depression นั่นเอง!!
Melanine Greenberg นักจิตวิทยาคนดัง เจ้าของผลงานหนังสือ The Stress-Proof Brain ได้ให้คำจำกัดความถึง Smiling depression ว่าเป็น “high- functioning depression” หรือภาวะของผู้ที่ป่วยซึมเศร้า แต่ยังคงดำเนินชีวิตได้ราวกับปกติ ซึ่งเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นเลือกที่จะแสดงอีกด้านหนึ่งของอารมณ์นั้น มาจาก...
# การไม่อยากเป็นภาระ(ทางความรู้สึก) ให้กับคนอื่น
ในขณะที่เราต่างเข้าใจและตัดสินไปแล้วว่า การปลอบประโลม การโอบกอด การจับมือ คือสิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การกระทำเหล่านี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเลือกแสดงอารมณ์ที่ตรงข้ามกันออกมา เพียงเพราะพวกเขาไม่อยากให้ตัวเองกลายเป็นภาระ หรือถูกมองด้วยสายตาของความสงสาร
# อายเกินกว่าจะยอมรับ
ด้วยความคิดที่มองว่า “ซึมเศร้า” เท่ากับ “อ่อนแอ” บวกกับการไม่อยากต้องเป็นภาระทางจิตใจของคนรอบข้าง ผู้ป่วยจึงสร้างเกราะป้องกัน อย่าง Smiling depression ขึ้นมาปกปิดความเศร้าหมองที่เกิดขึ้นภายในใจเอาไว้ และเข้าใจว่าการยิ้มบ่อยๆ หัวเราะบ่อยๆ หรือหันเหความสนใจด้วยสิ่งที่ชอบ จะช่วยให้อาการซึมเศร้าเหล่านั้นหายไปเอง
# การถูกตัดสินจากคนอื่น
นี่ก็นับว่าเป็นอีกหัวใจสำคัญที่ก่อให้เกิด Smiling depression ได้เหมือนกัน เคยมั้ย? ที่เมื่อคุณร้องไห้ แต่กลับถูกมองว่าเรียกร้องความสนใจหรือกลายเป็นคนขี้แพ้ หรือตรรกะความเชื่อที่ว่าเป็นผู้ชายห้ามร้องไห้! การถูกตัดสินแบบนี้นี่แหละที่ทำให้พวกเขาต้องเก็บและกดความรู้สึกจริงๆ ไว้ จนวันหนึ่งก็กลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า...และยังคงไม่มีใครรู้!
# ความกังวลในเรื่องของสังคมหรืออาชีพ
เพราะในบางอาชีพต้องมีความน่าเชื่อถือ ต้องมีพลัง ต้องเป็นแรงบันดาลให้ใครหลายคน การพบว่าตัวเองมีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก ผู้ป่วยเลยเลือกที่จะปกปิดความรู้สึกหดหู่นี้ไว้ แล้วแสดงอาการ Smiling depression ออกมาแทน และนั่น...อาจกลายเป็นการคว้านแผลให้กว้างและลึกขึ้น จนนำไปสู่จุดจบที่หลายคนไม่คาดคิด
# เสพติดความเป็น perfectionists
แน่ล่ะ! เพราะการรู้ว่าความจริงว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ย่อมทำให้ภาพลักษณ์การเป็น perfectionists ของคุณหายวับไปกับตา และด้วยการพยายามปฏิเสธว่าฉันไม่ได้ป่วย ฉันสบายดี ฉันไม่ได้ผิดปกติ ยิ่งส่งผลให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้าแบบรุนแรงได้
Smiling depression เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง!
Amy Morin นักจิตบำบัดได้บอกไว้ว่า ผู้ป่วยที่มีอาการ smiling depression นั้น จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการซึมเศร้าทั่วไป! เนื่องจากว่าผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีอาการ หดหู่ สิ้นหวัง คิดเรื่องการตายและมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย มักขาดพลังงานที่จะวางแผนการฆ่าตัวตาย ต่างจากผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการแบบ smiling depression กลุ่มนี้ไม่เพียงไม่เคยได้เข้ารับการรักษา แต่ยังมีพลังงานมากพอที่จะวางแผนเกี่ยวกับการตายของตัวเองได้อีกด้วย
นี่ทำให้เราได้มองเห็นอีกมุมของโลกแห่งความเป็นจริงว่า ความสดใสร่าเริงของใครบางคน...อาจปะปนไปด้วยความทุกข์อย่างแสนสาหัส! เพราะฉะนั้น อย่าลืมหมั่นใส่ใจคนข้างๆ หรือแม้แต่คุณเอง ว่านิสัยร่าเริง หัวเราะง่าย ยิ้มเก่ง ที่เป็นอยู่นั้นไม่ได้มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นอยู่ อ่ะ! แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าตัวเองเข้าข่ายหรือไม่ ก็สามารถเข้าไปทำแบบประเมินโรคซึมเศร้าจากกรมสุขภาพจิต กันได้...ที่ลิ้งค์นี้เลย https://bypichawee.com/test/depression/