Smartphone ต้นเหตุการจบชีวิตของวัยรุ่นยุค iGen
ไม่ว่าคุณจะมองสมาร์ทโฟนเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย แต่ก็ยอมรับเถอะว่า ยิ่งเวลาผ่านไปเทคโนโลยีนี้ยิ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา แต่เคยสังเกตมั้ยว่าการครอบครองโทรศัพท์รุ่นใหม่สุด แพงที่สุด หรืออัพเดทเป็นเวอร์ชั่นล่าสุด กลับไม่ได้ทำให้เรามีความสุขอย่างที่คิด
Photo by Andrew Le on Unsplash
ทำไม Smartphone ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุ?
นพ.ฌอง ทเวนจ์ จิตแพทย์ชาวอเมริกันได้ให้สัมภาษณ์กับ UNILAD ว่าในช่วง 5 ปี หลังมานี้ สุขภาพจิตของวัยรุ่นอเมริกันทรุดโทรมลงอย่างมาก และตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา วัยรุ่นมากกว่า 75% ก็มีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง
“ผลการศึกษาชิ้นใหม่แสดงให้เห็นว่าเด็กและวัยรุ่นหรือ iGen ที่เกิดช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 หรือคนที่อายุต่ำกว่า 24 ปีลงไปกำลังถูกความเหงาและวิตกกังวลเข้าเล่นงานโดยมีสมาร์ทโฟนเป็นต้นเหตุ โดยในช่วง 5 ปีหลัง วัยรุ่นอเมริกันมากถึง 33% มีความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าและไม่มีความสุข และส่วนใหญ่มักป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายก็เพิ่มขึ้นเป็น 23% ของวัยรุ่นทั้งหมด”
“เมื่อดูที่วัยรุ่นอายุ 13-18 ปี อัตราการฆ่าตัวตายจะสูงถึง 31% โดยมีสาเหตุจากสุขภาพจิตอันย่ำแย่ ซึ่งสูงกว่าวัยรุ่นในคนเจน millennial เยอะมาก ที่เป็นอย่างนี้ส่วนหนึ่งมาจากการใช้สมาร์ทโฟน... ที่น่าหนักใจคือปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก ความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายเกิดกับวัยรุ่นทุกกลุ่มโดยไม่เกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหญิง”
ยิ่งใช้มาก ยิ่งเสี่ยงโรคซึมเศร้า
ผลการวิจัยครั้งนี้ของ นพ.ทเวนจ์ ตีพิมพ์ใน Clinical Psychological Science วารสารจิตวิทยาคลินิกของอเมริกัน โดยมีรายละเอียดว่า วัยรุ่นที่ใช้เวลากับสมาร์ทโฟนวันละมากกว่า 5 ชม. มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่ใช้เวลาน้อยกว่าถึง 71%
ที่เป็นเช่นนี้เพราะขาดการปฏิสัมพันธ์ ไม่ได้เจอเพื่อน... โดย นพ.ทเวนจ์ อธิบายว่าการได้เจอหน้าเพื่อน พูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกันเปรียบเสมือนน้ำพุแห่งความสุข ซึ่งถ้าไม่ได้ทำล่ะก็ อารมณ์ความรู้สึกเราจะค่อยๆ ดิ่งลงจนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด ซึ่งความรู้สึกโดดเดี่ยวในสังคม รู้สึกไม่เหลือใคร เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนเราฆ่าตัวตาย
ยังมีปัจจัยอื่น ที่เป็นต้นเหตุ
อาการซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ... นพ.ทเวนจ์ อธิบายว่าสาเหตุอื่นๆ มีตั้งแต่ความบกพร่องทางพันธุกรรม สภาพแวดล้อมในครอบครัว การถูกรังแกและพบเจอเรื่องเลวร้าย ก็เป็นต้นเหตุของปัญหาเหมือนกัน
“วัยรุ่นบางคนมีปัญหาสุขภาพจิตไม่ว่าเขาจะเกิดในยุคไหน และอีกแง่หนึ่ง วัยรุ่นที่สภาพจิตใจเปราะบางอาจไม่มีปัญหาสุขภาพจิต แต่ก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้หากใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป ซึ่งทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นและพักผ่อนไม่เพียงพอ"
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเกิดในอังกฤษด้วย... แม้จะไม่ใช่ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่คนที่นั่นก็ใช้เวลากับอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่โทรทัศน์ อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง ซึ่ง นพ.ทเวนจ์ บอกว่ายิ่งใช้มากก็ยิ่งต้องระวังโรคซึมเศร้า
ป้องกันปัญหาได้ แค่ใช้ให้น้อยลง
นพ.ทเวนจ์ แนะว่า ควรจำกัดการใช้ไม่ให้เกินวันละ 2 ชั่วโมง ที่สำคัญคืออย่าให้ช่วงเวลาของการใช้รบกวนเวลานอน ตอนกลางคืนควรชาร์ตไว้นอกห้องนอน และไม่ควรปิดอุปกรณ์ต่างๆ อย่างน้อย 30 นาทีก่อนนอนเพื่อให้มั่นใจว่าจะหลับสนิท เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้”
อย่าลืมว่า กลุ่มวัยรุ่นในวันนี้จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนสังคมและโลกในอนาคต หากทราบปัญหาแล้วยังไม่รีบแก้ไข สุดท้ายแล้วเราอาจทำได้แค่เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น