Love-Hate Relationship เมื่อเธอ ฉัน และความสัมพันธ์ของเรามันบั่นทอนและ Toxic

ความสัมพันธ์ที่เฮลธ์ตี้ เป็นความสัมพันธ์ที่หลายคนปรารถนาที่จะมี แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น Love-Hate Relationship เป็นความสัมพันธ์ที่หลายต่อหลายคู่ต้องเผชิญ ความท็อกซิกและบั่นทอนที่คอยกัดกินหัวใจอยู่นี้ จะค่อยๆ เปลี่ยนความรัก ให้กลายเป็นความเกลียดชังในที่สุด



I Love You, I Hate You เกลียดนิสัย แต่ใจก็ยังรัก?
Dr. Berit Brogaard อธิบายไว้ใน Psychology Today ว่า Love-Hate Relationship ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เดี๋ยวรักเดี๋ยวเกลียดแบบที่หลายคนเข้าใจ แต่ Love-Hate ในที่นี้จะออกมาในรูปแบบของการที่เรารักใครสักคน แต่เราดันรู้สึกเกลียด เบื่อหน่าย หรือถึงขั้นขยะแขยงนิสัยหรือพฤติกรรมซ้ำซากบางอย่างของเขา จนบางครั้งอาจใช้คำพูดรุนแรงที่ทิ่มแทงจิตใจราวกับไม่เคยรักกันมาก่อน เพื่อระบายความโกรธและอัดอั้นตันใจออกมา

สถานการณ์ที่ทำให้เกิด Love-Hate ได้บ่อยที่สุดคือ การที่แฟนหรือคนรักของเรา ตอบสนองความรักของเราไม่มากเท่าที่เราคาดหวังไว้ จนทำให้เราตีโพยตีพายไปว่า ‘รักเราไม่เท่ากัน’ อาจจะคาดหวังให้เค้าบอกรักเราทุกวัน ลงรูปคู่บ่อยๆ หรือแม้แต่การเอาตัวเองเป็นมาตรฐานว่าเค้าจะต้องแสดงออกถึงความรักให้ได้อย่างที่เราทำ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นความคาดหวังที่สูงลิบลิ่ว และเมื่อเราผิดหวัง เมล็ดพันธุ์ของความโกรธและเกลียดชังก็จะค่อยๆ ฝังรากลึกลงในความรักและความสัมพันธ์ครั้งนี้

พื้นที่ส่วนตัว เป็นสิ่งจำเป็นในความสัมพันธ์
การที่เราตกลงปลงใจจะคบหาดูใจกับใครสักคน ไม่ใช่การที่จะเอาเขาเข้ามาอยู่ในโลกทั้งใบของเรา และไม่ใช่การที่จะเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในโลกทั้งใบของเค้า เราคือโลกคนละใบที่มีบางส่วน Intersect กัน ส่วนนั้นถึงจะเรียกว่า ‘โลกของเรา’

การที่คนรักกันใช้เวลาร่วมกันถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่จะอยู่ตัวติดกันแบบ 24/7 นั้นไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ถึงแม้ว่าจะแต่งงานกันไปแล้ว Dr. Berit Brogaard แนะนำว่าในแต่ละวัน แต่ละคนควรมีเวลาส่วนตัวอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงที่จะได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง และเติมเต็มตัวเองบ้างด้วยตัวเอง ไม่ใช่ผูกติดอยู่กับคนรักตลอดเวลา

ไม่เสียสละ ชัยชนะไม่เกิด
ชัยชนะที่ว่านี้ ไม่ได้ให้ไปห้ำหั่นทางอารมณ์กับคนที่เรารักแล้วหาว่าใครจะเป็นฝ่ายที่ชนะหรอกนะ แต่เป็นการถอยกันคนละก้าว เพื่อให้ความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่เป็นฝ่ายเอาชนะความโกรธและความไม่ลงรอยกันไปได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ควรจะทำความเข้าใจเลยคือ การก้าวขาเข้ามาอยู่ในความสัมพันธ์หรือการตัดสินใจรับใครสักคนเข้ามาในชีวิตแล้ว เราต้องทิ้งความเป็นตัวเองบางอย่างไปบ้าง ไม่มีคู่รักคู่ไหนที่ไม่เคยต้องปรับตัวเข้าหากัน เพราะเราล้วนถูกสร้างและเติบโตขึ้นมาผ่านสถานที่และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งสิ้น

Dr. Berit Brogaard บอกว่า การหา ‘ตรงกลาง’ ของความต้องการของคนทั้งคู่ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำเป็นประจำในชีวิตคู่ เราอาจจะเป็นคนติดเพื่อน ชอบสังสรรค์และปาร์ตี้เป็นชีวิตจิตใจ ในขนาดที่แฟนเป็นคนไม่เที่ยวและรักสงบ การทางออกของปัญหานี้ ไม่ใช่การห้ามใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง แต่เป็นการทำข้อตกลงร่วมกัน ที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายพอใจ ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยให้ปัญหาคลี่คลาย และคุยกันได้เข้าใจมากขึ้น

การที่เรามีความสัมพันธ์แบบ Love-Hate ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ในทางกลับกัน มันออกจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ซะด้วยซ้ำ แต่บางครั้งถ้ามันบั่นทอนจนเกินไป ก็ควรจะพูดคุยกันเพื่อหาทางออกในความสันพันธ์ และที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือสุขภาพจิต แล้วความสัมพันธ์ของคุณล่ะ เป็นยังไงบ้าง?
-->