7 ประโยชน์ที่คาดไม่ถึงของ “แมกนีเซียม”

แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกายไม่น้อยไปกว่าวิตามินและเกลือแร่อื่นๆ ถึงขนาดที่นักวิทยาศาสตร์เปรียบว่ามนุษย์เราเป็น “สิ่งมีชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยแมกนีเซียม” แต่แร่ธาตุชนิดนี้กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก
 
สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา บอกว่ากระบวนการทางชีวเคมีมากกว่า 300 กระบวนการในร่างกาย ต่างก็ต้องพึ่งพาแมกนีเซียมทั้งสิ้น โดยผู้หญิงควรได้รับแมกนีเซียม 300-320 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ผู้ชายต้องการ 400-420 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับจากอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละวัน
 
เรามาดูหน้าที่ของแมกนีเซียมกันดีกว่า... ว่าซับซ้อนและแปลกขนาดไหน


• จำเป็นต่อการสื่อสารของเซลล์ต่างๆ
แต่ละเซลล์ในร่างกายของเราล้วนสื่อสารกับเซลล์อื่นๆ ตลอดเวลา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต่างก็ต้องใช้แมกนีเซียมทั้งสิ้น... กระบวนการนี้ส่งผลโดยรวมต่อร่างกาย ตั้งแต่การเผาผลาญน้ำตาลไปจนถึงการทำงานของสมอง และยังมีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน แน่นอนว่าถ้าแมกนีเซียมเหลือน้อยหรือได้รับไม่เพียงพอ เราก็จะป่วยง่ายขึ้น

• ดีต่อความจำ
ถือเป็นบทบาทของแมกนีเซียมที่เหนือความคาดหมาย นั่นคือช่วยให้ความจำดีขึ้น
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) พบว่าการรักษาระดับแมกนีเซียมให้คงที่ ช่วยลดโอกาสการสูญเสียความทรงจำได้ ทั้งนี้ ในปี 2010 ยังมีการค้นพบว่าแมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญเพิ่มความยืดหยุ่นของสมอง ช่วยให้สามารถเปลี่ยนและรับข้อมูลชุดใหม่ๆ ได้ดี ทั้งยังช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมองโดยรวม โดยเฉพาะด้านความคิดความเข้าใจ
 
• “นาฬิกาจับเวลา” ของร่างกาย
ในปี 2016 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าแมกนีเซียมในเซลล์ทำหน้าที่เสมือนตัวจับเวลา
ร่างกายของเราแต่ละคนต่างมีนาฬิกาจับเวลา ทำให้เรารู้สึกง่วงนอนหรือตื่นนอน ผ่านการหลั่งฮอร์โมนและสัญญาณอื่นๆ ที่ส่งจากสมอง เรียกว่าจังหวะเซอร์คาเดียน (Circadian Rhythms) โดยระดับของแมกนีเซียมจะเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นวงรอบภายใน 24 ชม. ขึ้นอยู่กับการตื่นนอนและเข้านอน... แต่วงจรนี้จะถูกรบกวนเมื่อเราอดนอนหรือมีอาการเจ็ทแล็ก (Jet lag)
 
• “ยาคลายกล้ามเนื้อ” ตามธรรมชาติ
แมกนีเซียมทำหน้าที่คล้ายยาคลายกล้ามเนื้อ ป้องกันการหดตัวของใยกล้ามเนื้อ
จากข้อมูลใน Healthline ระบุว่า แคลเซียมจะไปจับกับโปรตีนอย่าง troponin C และ myosin ซึ่งกระบวนการนี้จะเปลี่ยนรูปร่างของโปรตีนและทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยแมกนีเซียมจะทำหน้าที่เหมือนพระเอกช่วยยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อที่อาจเกิดขึ้น 
ขณะที่สถาบัน Linus Pauling Institute มหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท ระบุว่า ด้วยประโยชน์นี้เองจึงมีการใช้แมกนีเซียมไปป้องกันอาการชักหรือรักษาคนที่มีความผิดปกติในการควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ร่วมกับมีอาการชัก แพทย์ก็มักจะให้แมกนีเซียมเพื่อป้องกันอาการชักด้วย
 
• ช่วยให้การคลอดบุตร ปลอดภัยมากขึ้น
ในปี 1994 มีงานวิจัยที่สร้างความฮือฮาในวงกว้างเมื่อมีการพบว่าหญิงใกล้คลอดที่ปากมดลูกเริ่มเปิด จะมีปริมาณแมกนีเซียมในมดลูกน้อยกว่า จึงเกิดการฉีดแมกนีเซียมเข้าร่างกายเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
หลังจากนั้นในปี  2005 ยังมีการค้นพบว่าการเพิ่มแมกนีเซียมในคุณแม่ระยะใกล้คลอด ลดความเสี่ยงการเป็นไข้หวัดของแม่และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับทารก หนึ่งในนั้นคือ Floppy Infant Syndrome หรือกลุ่มอาการทารกกล้ามเนื้อปวกเปียก นั่นเพราะระดับแมกนีเซียมที่สูงขึ้นจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทั้งของมารดาและทารก
 
• กุญแจสำคัญของการได้วิตามิน D จากแสงแดด
หากเราใช้ชีวิตกลางแจ้งเพื่อหวังได้รับวิตามิน D จากแสงแดดโดยมองข้ามความสำคัญของระดับแมกนีเซียมในร่างกาย คุณอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากแสงแดดมากอย่างที่คิด... นั่นเพราะแมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์วิตามิน D ในร่างกาย เราต้องแน่ใจว่าแต่ละวันได้รับแมกนีเซียมเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อให้สามารถได้ประโยชน์สูงสุดจากวิตามิน D 
 
• มีผลต่อรูปร่างของโครโมโซม
เมื่อปีที่ผ่านมามีการศึกษาชิ้นใหม่ พบว่าระดับของแมกนีเซียมไอออนมีส่วนสำคัญต่อการพับและการจัดระเบียบของโครโมโซม ซึ่งการพับของโครโมโซมนี่เองที่มีผลต่อการแบ่งเซลล์ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของมนุษย์เรา... แม้จะยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดว่ารูปร่างและการจัดระเบียบโครโมโซมมีผลต่อสุขภาพของเราอย่างไรบ้าง แต่แมกนีเซียมก็มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการนี้อยู่ดี

ทราบประโยชน์ของแมกนีเซียมกันแล้ว หลายคนคงอยากพุ่งตัวไปซื้ออาหารเสริมกันเลยล่ะสิ... แต่ช้าก่อน แมกนีเซียมนั้นพบมากในผักโขม เมล็ดฟักทอง อัลมอนด์ ถั่วดำ อะโวคาโด ดาร์กช็อคโกแลต กล้วยหอม เพียงแค่เราเลือกกินอาหารให้หลากหลาย ร่างกายก็ได้รับแมกนีเซียมเพียงพอแน่นอน


 
-->