4 โรคเสี่ยง ที่คนชอบ ‘เวิร์คเอ้าท์’ หนัก ต้องระวังไว้ให้ดี !!!

อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นคนออกกำลังกายเป็นปกติอยู่แล้ว แล้วจะลอยตัวเรื่องสุขภาพได้ เพราะสำหรับใครที่เป็นสายออกกำลังกายแบบหนักหน่วง รู้มั้ยว่าพวกคุณก็มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคบางอย่างได้มากกว่าคนปกติได้เช่นกัน 



เสี่ยง...หัวใจวายเฉียบพลัน
เพราะเวลาที่เราออกกำลังกายนั้น หัวใจจะมีการสูบฉีดเลือดมากกว่าปกติ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นกว่าเดิม และเมื่อหัวใจเต้นเร็ว ความดันก็ขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจนั้นต้องปรับตัวเมื่อต้องทำงานหนักขึ้น และนี่ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิด “กล้ามเนื้อหัวใจหนา” ที่บริเวณหัวใจห้องล่างทั้งซ้ายและขวาได้นั่นเอง โดยการออกกำลังกายที่เพิ่มความเสี่ยงนี้ก็คือการทำเวทเทรนนิ่งที่เน้นเพาะกล้ามเนื้อ และการปั่นจักรยานมาราธอน ที่กล้ามเนื้อหัวใจจะมีการขยายออกรวมถึงหนาขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดและการทำงานของหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ “หัวใจวายเฉียบพลัน” ได้

เสี่ยง...ค่าตับพุ่งสูง
ปกติแล้วเวลาที่เราตรวจสุขภาพ ถ้าพูดถึงค่าตับเราก็จะดูที่ค่า SGOT และ AST ซึ่งอาจจะเคยได้ยินคุณหมอพูดให้ฟังกันมาบ้างว่ามันมีความสัมพันธ์กับการออกกำลังกายด้วยเหมือนกัน แต่ในบางครั้ง การออกกำลังกายที่มากเกินไป ก็ส่งผลทำให้เซลล์กล้ามเนื้อตายได้ ซึ่งนั่นจะไม่ใช่ปัญหา ถ้าไม่ได้มีการเกิดซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเซลล์เก่าตาย เซลล์ใหม่ที่เกิดขึ้นมา ระดับค่า SGOT และ AST ที่เป็นเอ็นไซม์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีความเสียหายของตับ ตับอ่อน เม็ดเลือดแดง หัวใจ กล้ามเนื้อ รวมถึงไตก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่ค่า SGOT และ AST สูงนั้นก็สามารถมาจากเหตุผลอื่นๆ ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

เสี่ยง...ไตวาย
ได้มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร American Journal of Kidney Disease ชื่อ Kidney Injury and Repair Biomarkers in Marathon Runners ที่ทาง Dr.M.D.Chiraq Parikh จากมหาวิทยาลัย Yale เกี่ยวกับการค้นพบว่าหลังจากการวิ่งมาราธอน ไตของนักวิ่ง 82% เสื่อมลงอย่างฉับพลัน โดยทำการวิจัยในกลุ่มนักวิ่ง 22 คน พบว่าหลังจากวิ่งเสร็จมาราธอนเสร็จค่าครีเอตินินในเลือด (ของเสียที่วัดได้) เพิ่มขึ้นจาก 0.81 mg/dl มาเป็น 1.28 mg/dl ซึ่งเมื่อวัดอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นค่าก็ยังคงสูงอยู่ ทำให้นักวิจัยหันมาตรวจดูค่าการกรองของไต (glomerular filtration rate-GFR) อย่างละเอียด โดยดูตัวชี้วัดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เศษโปรตีนที่ขับออกมากับปัสสาวะ หรือซากของเซลล์ของไต ปรากฎว่ามีการเสื่อมตัวของไตจริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อาจจะต้องเกิดจากพฤติกรรมซ้ำ เป็นเวลานานๆ สำหรับใครที่วิ่งครั้งละ 8-10 กิโลฯ หรือ 1-1.30 ชั่วโมง วีคละ 4-5 ครั้งก็ยังไม่ถึงกับต้องเป็นกังวล

เสี่ยง...ข้อเสื่อม
อันนี้อาจจะเป็นในแง่ของคนที่ใช้ร่างกายผิดวิธี หรือออกกำลังกายโดยที่ไม่ ‘วอล์มอัพ’ ร่างกายก่อน เพราะนั่นเท่ากับเรากำลังทำร้าย กระดูก กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของตัวเอง โดยเฉพาะใครที่ออกกำลังกายหนักๆ ที่มีแรงกด มีการเสียดสี มีการกระแทก ทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำๆ เรื้อรัง เป็นเวลานานๆ โดยที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ทำให้นำไปสู่การเสื่อมของไขข้อต่างๆ ได้ง่าย 

เป็นยังไงล่ะ ไม่ออกกำลังกายเลยก็ไม่ดี ออกกำลังกายหนักมากเกินไปก็ไม่ดี ทางที่ดีที่สุดคือหาจุดบาลานซ์ของตัวเองให้เจอ เพราะร่างกายเราแต่ละคนเกิดมาก็ไม่เหมือนกัน และเราก็จะเป็นคนที่รู้ว่าอันไหนร่างกายเราเหมาะแค่ไหนได้ดีที่สุด ใช้ร่างกายแล้ว ก็ต้องอย่าลืมดูแลเขาให้ดี ชีวิตนี้เกิดมาก็มีกันอยู่แค่คนละร่างเดียวนี่แหละ

 
-->