4 เรื่องของสารให้ความหวานที่คุณต้องรู้



เราแอบได้ยินมา…ว่ามีหลายคนสงสัยเกี่ยวคุณประโยชน์ของเจ้าสารแทนความหวาน อารมณ์แบบ…สรุปแล้วยังไง? มันเฮลท์ตี้จริงหรือเปล่า? รวมไปถึงข่าวลือและงานวิจัยล่าสุดที่บอกว่า สารให้ความหวานบางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเราด้วย  วันนี้เลยขอสรุป นำเรื่องราวสำคัญแบบคร่าวๆ เกี่ยวกับเจ้าสารนี้มาฝากกัน และนี่คือ 4 เรื่องของ "สารให้ความหวาน" ที่คุณต้องรู้ 

#1   อะไร? ที่เราเรียกว่า “สารให้ความหวาน”   
ก่อนอื่น…คุณต้องเข้าใจก่อนว่ารสชาติหวานในอาหารส่วนใหญ่มันมาจากไหน? ถ้าคิดตามหลักคอมมอนเซนส์ง่ายๆ มันก็มาจาก “น้ำตาล” นี่แหละ! และอย่างที่รู้กันว่าเจ้านี่สร้างผลเสียให้แก่ร่างกายเราอยู่พอสมควร จึงเป็นเหตุให้ต้องหันมาใช้สิ่งที่เรียกว่า “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล”  เป็นการเพิ่มความเฮลท์ตี้  ช่วยเซฟร่างกายไม่ให้มีน้ำตาลมาสะสมอยู่มากเกินไปยังไงหล่ะ  

#2  ทำความรู้จักกับประเภทของสารให้ความหวาน…
เว็บไซต์ estevia-herb.com บอกว่า เจ้าสารให้ความหวาน  หรือ Artificial sweeteners นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มดังนี้!

 1. กลุ่มที่ให้พลังงาน เช่น ฟรุกโทสที่มาจากผลไม้/ แลคโตสที่มาจากนม/ และไซลิทอลในผักผลไม้บางชนิด 

 2. กลุ่มที่ให้พลังงานต่ำหรือไม่ให้พลังงานเลย เช่น Stevia จากหญ้าหวาน/ Inulinจากกระเทียมและหัวหอมใหญ่/ หรือซูคราโลสที่สังเคราะห์มาจากน้ำตาลซูโครสอีกที   
…ซึ่งถ้าใครได้ศึกษาเพิ่มเติมก็จะพบว่า แต่ละชนิดมีระดับความหวานที่น้อยและมากกว่าตัวน้ำตาลแตกต่างกัน เช่น หญ้าหวานที่อาจให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 450 เท่า เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือไซลิทอลที่นำมาใช้ผลิตหมากฝรั่งแก้ฟันผุนั่นเอง

แต่! ก็ไม่พ้นมีข้อถกเถียงกันว่า สารให้ความหวานบางตัวนั้นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเราได้ ยกตัวอย่างเคสข้างล่างนี้…

#3  Artificial sweeteners ชนิดนี้ เขาว่า “อันตราย”
ล่าสุดเราไปเจองานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก University of Sussex ซึ่งวิจัยโดยศาสตราจารย์  Erik Millstone และ ศาสตราจารย์ Elisabeth Dawson งานศึกษาของพวกเขาเล่าถึง การประเมินของหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารประจำสหภาพยุโรป  (EFSA) ในปี 2556 ว่ามีข้อบกพร่อง  เพราะสารแอสพาร์เทม (สารให้ความหวานแทนน้ำตาลสร้างมาจากกรดแอมิโน) ที่บอกว่าปลอดภัยนั้น อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค  ซึ่งการประเมินนี้ไม่ได้พูดถึงเคสกลุ่มคนที่คาดว่าจะมีปัญหาด้านสุขภาพหลังจากรับสารสารแอสพาร์เทมนี้เข้าสู่ร่างกาย แต่เลือกที่จะพูดถึงความปลอดภัยของสารนี้เพียงอย่างเดียว...

...จากการให้สัมภาษณ์ของศาสาตราจารย์อีริค เขาเล่าว่ามีผู้ประสบปัญหากว่า 250 รายมาหาพร้อมมั่นใจว่าสารนี้อาจเป็นอันตรายต่อทุกคน ที่สำคัญ! ระบบประสาทของพวกเขายังได้รับผลกระทบจากสารนี้อีกด้วย ทำให้อีริคตัดสินใจยื่นข้อเรียกร้องกับสหภาพยุโรปให้มีการระงับใช้สารให้ความหวานชนิดนี้จนกว่าจะมีการนำมาทดสอบและวิเคราะห์กันอย่างละเอียดอีกครั้ง 

#4  ถ้าบริโภค "Aspartame" อย่างเหมาะสม ก็จะไม่เกิดอันตราย 
ข้อมูลจากเว็บไซต์ foodnetworksolution บอกว่า ถ้านำแอสพาร์เทมมาใช้ในอาหารตามปริมาณและวิธีการที่บ่งบอกไว้อย่างถูกต้อง สารนี้จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อใครเลย ส่วนข้อควรระวังในการบริโภคนั้นมีไว้สำหรับผู้เป็นโรคความผิดปกติทางพันธุกรรมอย่าง ฟีนิลคีโทนูเรีย" (Phenylketonuria-PKU)  ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ควรบริโภคเจ้าสารนี้เลยหล่ะ เพราะภาวะร่างกายไม่สามารถรับสารนี้เข้าไปได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดการคั่งของกรดฟินิลไพรูวิกในเลือดซึ่งเป็นอันตรายต่อสมองนั่นเอง

เป็นยังไงกันบ้าง? เอาเป็นว่า เราขอแนะนำอย่างงี้ละกัน ก่อนจะใช้สารให้ความหวานแบบไหน อย่าลืมอ่านฉลากข้างขวดหรือซองว่า ต่อวันเราควรบริโภคได้เท่าไหร่ และเพื่อความชัวร์คุณอาจสอบถามแพทย์ผู้เชียวชาญให้แน่ใจไปเลยว่า โรคประจำตัวที่เป็นอยู่นั้นสามารถรับสารให้ความหวานนั้นๆ ได้หรือเปล่าจะเป็นวิธีป้องกันการเกิดปัญหาได้ดีที่สุด 




 
-->