แค่ขี้ลืมหรือกำลังมีอาการของ 'โรคสมองเสื่อม' กันแน่
อาการขี้ลืมนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน ลืมกุญแจรถบ้าง กุญแจบ้านบ้าง ลืมหยิบของโน่นนั่นนี่บ้าง ลืมบ่อยซะจนต่อมเอ๊ะเริ่มทำงานแล้วว่ายังไม่ได้อายุเยอะแต่ทำไมลืมได้ขนาดนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของความรักอยากจะลืมกลับจำ และอิงค์ วรันธรเคยบอกเอาไว้ว่า “การลบไม่ได้ช่วยให้ลืม” ซึ่งเป็นเรื่องของหัวใจไม่ใช่สมอง แต่อาการขี้ลืมที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้อาจเกี่ยวข้องกับสมองและพฤติกรรมที่เราต้องหมั่นคอยสังเกต เพื่อดูว่าเราแค่เป็นคนขี้ลืมหรือกำลังมีอาการบ่งชี้ว่าเป็นโรคสมองเสื่อมกันแน่
ต้องรู้ก่อนว่า... อาการแบบนี้อาจน่าสงสัยเป็นโรคสมองเสื่อม
อาการของโรคสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้นหรือมักพบในคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเกิดจากเซลล์ในสมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิม หรือก็คือเซลล์สมองเสื่อมเหมือนรถเก่าที่เครื่องยนต์เริ่มทำงานได้ไม่ดีเท่ารถที่ซื้อมาใหม่ๆ เมื่อเซลล์สมองเสื่อมลงสารสื่อประสาทในสมองก็ทำงานได้ไม่ดีด้วยเช่นกัน ส่งผลกระทบกับความคิด ความจำ พฤติกรรมรวมถึงการใช้ภาษาด้วย ซึ่งการจะแยกคนที่ขี้หลงขี้ลืมกับคนที่เป็นอัลไซเมอร์ก็พอจะสามารถแยกได้ในบางพฤติกรรม
ซึ่งพญ.นภาศรี ชัยสินอนันต์กุล แพทย์จากคลินิกอายุรกรรมประสาท โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้ให้ข้อสังเกตเอาไว้สำหรับคนที่มีอาการสมองเสื่อมจะมีพฤติกรรมเหล่านี้
ซึ่งพญ.นภาศรี ชัยสินอนันต์กุล แพทย์จากคลินิกอายุรกรรมประสาท โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้ให้ข้อสังเกตเอาไว้สำหรับคนที่มีอาการสมองเสื่อมจะมีพฤติกรรมเหล่านี้
#1 ความจำไม่ดี ขี้ลืมจนกระทบกับชีวิตประจำวัน บางครั้งในคนที่มีอาการสมองเสื่อมการลืมสิ่งต่างๆ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทั้งบทสนทนาหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่นานอาจส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันได้เช่น การอาบน้ำ การรับประทานอาหารที่เพิ่งทำไปแต่กลับลืมว่าทำไปแล้วหรือยัง และในบางบทสนทนาเมื่อเราคุยกับคนที่มีอาการสมองเสื่อมก็จะเหมือนคนย้ำคิดย้ำทำ ถามในคำถามเดิมๆ ทั้งที่เราเพิ่งคุยจบกันไปเมื่อกี้ รวมถึงการทำงานที่อาจมีประสิทธิภาพลดลง จากเดิมที่เคยคิดเงินอย่างรวดเร็วกลับใช้เวลาคิดนานขึ้น กิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่เคยทำเป็นประจำกลับไม่สามารถทำได้อย่างดีเท่าที่เคย
#2 ความสามารถในการตัดสินใจหรือการแก้ปัญหาต่างๆ ลดลง พฤติกรรมของคนสูงอายุกับคนที่มีอาการสมองเสื่อมอาจจะคล้ายหรือทับซ้อนกันในบางเรื่อง อย่างเช่น การตัดสินใจในเรื่องที่ง่ายๆ เช่น การเปลี่ยนชุดก่อนออกจากบ้านหรือการอาบน้ำแปรงฟันหลังทานอาหารเสร็จหรือก่อนนอน ในบางครั้งคนที่มีอาการสมองเสื่อมอาจไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ และมีอาการเบื่อหน่ายจนบางครั้งอาจไม่ทำเลยจนละเลยกิจวัตรประจำวันไปก็ได้เหมือนกัน
#3 สับสนเรื่องเวลาและสถานที่ อีกหนึ่งพฤติกรรมสำหรับคนที่มีอาการสมองเสื่อมที่คล้ายจะเป็นเรื่องปกติแต่ไม่ปกติเช่น การจำวันเดือนปีหรือฤดูกาลต่างๆ ผิดไป จำสลับสับสนบ่อยครั้งนี่อาจส่งสัญญาณถึงอาการสมองเสื่อมได้
#4 อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไป เมื่อเซลล์ประสาททำงานได้ไม่ดีเท่าที่เคย อาจส่งผลกระทบกับอารมณ์ที่แสดงออกมาด้วยเช่นกัน การพาคนที่มีอาการสมองเสื่อมไปในที่แปลกใหม่ หรือสถานที่ที่มีคนเยอะอาจทำให้อารมณ์ของเขาแปรปรวนขึ้นมาได้ อาจเกิดอาการหงุดหงิด หวาดระแวงหรือวิตกังวลได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปหลังจากได้ปรับตัวกับสถานการณ์เหล่านั้น
#5 ลืมของ แม้ว่าการลืมของจะดูเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ใครๆ ก็สามารถลืมกันได้ แต่สำหรับคนที่มีอาการของสมองเสื่อมมักจะลืมของแล้วเมื่อหาไม่เจอจะทึกทักเอาไว้มีคนหยิบไปหรือขโมยไป หรือมีการวางสิ่งของในที่ที่ไม่ควรวางผิดที่ผิดทางไปหมด
แต่ถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้อาจแค่เบลอๆ อ๊องๆ ก็เป็นได้
หากลองเช็คลิสต์พฤติกรรมของตัวเองแล้วว่าไม่น่าจะเข้าข่ายการเป็นโรคสมองเสื่อม ก็อาจจะได้คำตอบกับตัวเองแล้วว่าเราอาจจะแค่เป็นคนขี้ลืมจริงๆ อาจเบลอบ้าง อ๊องบ้าง จำไม่ได้จริงๆ บ้าง อาจจะต้องลองสังเกตพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของความขี้ลืมของเราดูแล้วว่าเกิดจากสิ่งไหน แล้วเราจะทำยังไงให้ความขี้ลืมของเราลดลงได้บ้าง
พฤติกรรมความขี้ลืมอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ
# เหนื่อย
ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันและเครียด เมื่อสมองเหนื่อยล้าจากการนอนหลับไม่เพียงพอ การทำงานหนักมากเกินไป หรือจากความเครียดไม่ว่าจะเครียดด้วยเรื่องใดก็ตามอาจส่งผลต่อสมอง ซึ่งอาจทำให้สมองเบลอได้เหมือนกัน สมองทำงานหนักเกินไปก็ทำให้เราสามารถหลงลืม หรือไม่โฟกัสกับสิ่งตรงหน้าได้ ลืมสิ่งที่คนเพิ่งพูดไปเมื่อกี้หรือลืมว่าจะต้องพูดอะไรต่อได้เหมือนกัน
# การทานยาบางชนิด
ในยาบางตัวในกลุ่มแอนตี้โคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) เมื่อทานเข้าไปแล้วจะไปขัดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทด้านความจำ ทำให้เมื่อทานยาเข้าไปแล้วบางครั้งส่งผลให้เกิดอาการขี้ลืมขึ้นได้ ซึ่งยาจำพวกนี้สามารถเจอได้ในยาประเภทยาแก้ภูมิแพ้ ยาโรคประสาท ยาโรคหัวใจ ยาโรคความดันโลหิต เป็นต้น
# โรคซึมเศร้า
คนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็มีโอกาสสูงจะเป็นคนขี้หลงขี้ลืม เพราะบางครั้งอาจไม่ได้จดจ่อหรือโฟกัสกับสิ่งตรงหน้า สารสื่อประสาทในสมองบางชนิดหรือการที่สารสื่อประสาทในสมองผิดปกติก็อาจส่งผลต่อความจำและการนึกคิดได้เหมือนกัน
# ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
หลายคนคงเคยประสบปัญหาเมื่อดื่มแอลกอฮอล์หนักๆ หรือเมาตอนกลางคืน ตื่นมามักจะจำอะไรไม่ค่อยได้เมื่อคืนได้ทำอะไรลงไปบ้าง เกิดอาการขาดสติขึ้นมาชั่วขณะเวลาถึงห้องและหลับไปโดยไม่รู้ตัวเหมือนวาร์ปกลับห้องมา นี่คือฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่ทำให้เราไม่สามารถจำบางสิ่งบางอย่างได้ชั่วเวลาหนึ่ง
แต่ถ้าหากลองสังเกตตัวเองแล้วว่าพฤติกรรมเราเปลี่ยนไปและเข้าข่ายของโรคอัลไซเมอร์แถมยังขี้ลืมเป็นประจำอีกด้วยอาจจะต้องลองเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวัดและทดสอบสมรรถภาพของสมองและประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติถึงพฤติกรรมและอาการต่างๆ ก่อน แล้วแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าควรทำการทดสอบสมรรถภาพของสมองหรือควรใช้ห้องตรวจปฏิบัติการเพื่อเอ็กซเรย์สมองถึงสาเหตุของอาการสมองเสื่อมที่เกิดขึ้น