รู้จักโรควิตกกังวล กับอาการที่คุณเองอาจนึกไม่ถึง

เป็นเรื่องน่ายินดีที่สังคมไทยตระหนักถึงประเด็นปัญหาเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น โดยโรคที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีคือโรคซึมเศร้า (Depression) แต่ยังมีอีกโรคที่กรมสุขภาพจิตบอกว่าเป็นภัยเงียบของคนไทย นั่นคือ “โรควิตกกังวล” (Anxiety disorders) 

โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา มีคนไทยมากถึง 1.4 แสนคนป่วยเป็นโรคนี้ สาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางจิตใจ หรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง แต่ที่น่ากังวลคือผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ทำให้ไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน โรคนี้ยังเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยคิดเป็น 18% ของผู้ใหญ่เลยทีเดียว

ความวิตกกังวลดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคนี้ งั้นมาดูกันดีกว่า ว่านอกจากกระสับกระส่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น โรคนี้ส่งผลต่อร่างกายของเราอย่างไรบ้าง


Photo by Fernando @cferdo on Unsplash
• ปากแห้งแตก
Shoshana Ungerleider แพทย์จากแคลิฟอร์เนีย บอกว่าเมื่อเราเริ่มรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล การไหลเวียนของน้ำลายในช่องปากจะน้อยลง ผลคือทำให้ปากแห้งในที่สุด... ถ้าคุณยังปล่อยวางไม่ได้ ทางที่ดีก็ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น ก็ช่วยได้เหมือนกันนะ 
 
• มือเท้าเย็น
Ungerleider  บอกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะระดับอะดรีนาลีนจะถูกปล่อยออกมาในร่างกายมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายหลายอย่าง ซึ่งเป็นกลไกทางธรรมชาติที่มีมาแต่ครั้งบรรพกาล ที่ช่วยให้เราพร้อมและตื่นตัวกับสิ่งอันตราย โดยเลือดจะไม่ไหลเวียนมาที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า รวมถึงกลุ่มกล้ามเนื้อขนาดใหญ่บริเวณสะโพกและต้นขา... ผลก็คือเมือเท้าเย็น ซึ่งคุณอาจต้องมีเสื้อกันหนาวหรือผ้าคลุมติดตัวไว้
 
• ท้องอืด หรือเรอบ่อย
อาการนี้อาจฟังดูแปลกสักหน่อย แต่เป็นเรื่องจริงที่ต้องยอมรับคือเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดหรือวิตกกังวล ก็มักจะเรอหรือบางคนอาจผายลมออกมา โดยมีที่มาจากกรดแก๊สในกระเพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง
 
• ท้องผูก ท้องเสีย หรือรู้สึกไม่สบายท้อง
ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและลำไส้แปรปรวนอย่างท้องผูก ท้องเสีย และความรู้สึกไม่สบายท้อง ที่เราเองก็หาสาเหตุไม่ได้ อาจมีที่มาจากความวิตกกังวล
Dr. Jennifer Stagg แพทย์ด้านธรรมชาติบำบัดจากคอนเนตติกัต อธิบายว่า ระบบประสาทส่วนกลาง เชื่อมโยงกับระบบประสาทในลำไส้และภาวะวิตกกังวล ผลคือมักจะท้องเสียเมื่อวิตกกังวล
 
• หาวบ่อย
เรามักตีความว่าคนหาวคือคนง่วงหรือนอนไม่พอ แต่คนที่อยู่ในภาวะวิตกกังวลจะพบว่าตัวเองหาวบ่อยทั้งที่ไม่ได้อดนอน
Ungerleider อธิบายว่า ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทำไมเราหาวบ่อยขึ้นตอนที่วิตกกังวล แต่นักวิจัยบางคนเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย หรือการเพิ่มขึ้นของระดับคอร์ติซอลในเลือด ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเมื่อเราเจอความเครียด

• นอนไม่หลับ
ถ้าคุณใช้เวลานานในการนอนพลิกไปพลิกมาบนเตียง กว่าจะหลับได้ต้องใช้เวลาครึ่งค่อนคืน นั่นอาจเพราะความวิตกกังวลเป็นต้นเหตุ
“หลายครั้งที่ภาวะวิตกกังวลเป็นต้นเหตุของปัญหานอนไม่หลับ คนกลุ่มนี้มักจะคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา กังวลกับอนาคตที่ยังไม่มาถึง ภาระรับผิดชอบอันหนักอึ้ง หรือรู้สึกตื่นเต้นเกินเหตุกับเรื่องบางเรื่อง” Ungerleider แพทย์จากแคลิฟอร์เนีย อธิบายไว้
 
• กลิ่นผี... ได้กลิ่นสิ่งจากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง
การเห็นภาพหลอนอาจเป็นอาการทั่วไปของโรควิตกกังวล แต่ยังมีอีกอาการที่หลายคนอาจไม่รู้ว่ามีอยู่นั่นคือ “กลิ่นผี” หรือได้กลิ่นในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง
Dr. Janelle Louis แพทย์ด้านธรรมชาติบำบัดจากแคนซัส สหรัฐอเมริกา บอกว่า “การป่วยเป็นโรควิตกกังวลหรือคนที่อยู่ในอาการแพนิคมักได้กลิ่นของสิ่งที่ไม่มีอยู่ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่า phantosmia... ถ้าคนๆ หนึ่งต้องเจอกับสถานการณ์ตึงเครียดพร้อมกับได้กลิ่นๆ หนึ่ง จะเกิดการเชื่อมโยงในสมองส่วนที่ควบคุมกลิ่นกับส่วนที่เกี่ยวกับภาวะความกลัวหรือความกระวนกระวาย ผลคือครั้งต่อไปที่คุณรู้สึกวิตกกังวลหรือนึกถึงเรื่องราวในอดีต ก็มักจะได้กลิ่นนั้นๆ ทั้งที่ไม่มีต้นตอของกลิ่นอยู่เลยก็ตาม"

ถ้าใครที่มีอาการอย่างที่เราบอก ควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยถึงปัญหา จะได้แก้ไขที่ต้นเหตุได้จริงๆ อีกอย่างการไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือน่ากลัวตรงไหนเลยนะ


 
-->