ระวังให้ดี! เมื่อ ‘การซุบซิบนินทา’ ที่ดูเป็นเรื่องปกติในที่ทำงาน อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าไม่รู้ตัว

เชื่อเลยว่ามีหลายๆ ออฟฟิศจะต้องมีสายเม้าท์มอย และเป็นเหมือนหน่วยเก็บข้อมูลประจำออฟฟิศ เรียกว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร คนนี้รู้หมด แต่รู้มั้ยว่า ความปกติทั้งหมดนี้ กำลังทำให้อีกหลายคน เผชิญกับภาวะซึมเศร้าแบบไม่รู้ตัว



แค่นินทา อาจส่งผลเสียมากกว่าที่คุณคิด

“ทำงานได้แค่นี้ พี่ยังทำได้ดีกว่าเขาเลย”
“คนนี้ดูสนิทสนมกับหัวหน้าเราเนอะ สงสัยจะเป็นเด็กเส้นแน่ๆ เลย”

คำพูดบางคำ บางครั้งเราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่คำพูดเหล่านี้มันอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับใครอยู่ก็ได้ ในมุมหนึ่ง ถ้าการพูดคุย เม้าท์มอยสนุกขำๆ อาจจะไม่ได้มีความรุนแรงอะไร แต่ถ้ามีมากขึ้น บ่อยขึ้นก็ไม่แน่ เพราะการกล่าวถึงบุคคลที่ 3 ในด้านลบ ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ถูกกล่าวหา

เรื่องไม่ใหญ่แน่นะวิ! เมื่อกลางปี 2021 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix ไล่พนักงานออก 3 คน เพียงเพราะเขาเหล่านั้น นินทาเพื่อนร่วมงานผ่านแอปพลิเคชัน Slack ซึ่งการกล่าวโทษถึงขั้นไล่ออก ฟังดูแล้วอาจจะรุนแรง แต่นี่กลับไม่ใช่การกระทำเพียง 1 ครั้ง แต่มากกว่านั้น แถมงานนี้ Netflix ยังบอกอีกว่า การกระทำในลักษณะนี้ เป็นการขัดต่อวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท

เมื่อการทำงาน (อาจ) ทำให้การนินทานั้นเกิดขึ้น
ถ้าทุกคนเป็นแฟนพันธุ์แท้ของบริษัทอย่าง Netflix จะทราบดีเลยว่า การทำงานของ Netflix เข้มข้นมาก แน่นอนว่า Netflix กำหนดขอบเขตการทำงานอย่างชัดเจนและโปร่งใสที่สุด เพราะพนักงานสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานซึ่งกันและกันได้ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นต่อหน้าเท่านั้น โดยการวิพากษ์วิจารณ์นั้นกลับทำให้ผลงานที่ออกมานั้นออกมาดี มันก็แน่นอนละ ถ้าเราทำงานแล้วมีคนเสนอ คนแนะนำ หรือคนค้าน งานมันก็จะออกมาดีแน่นอน งานนี้ไม่ได้คิดเองแน่ ให้ทุกคนลองดูผลงานก็แทบจะการันตีแล้วว่า วิธีการทำงานของ Netflix ประสบความสำเร็จมากเลยทีเดียว

เมื่อเราพูดถึงประเด็นของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ถ้าหากเราหยิบเอาเรื่องนี้มาพูดในแง่มุมของการทำงาน เพราะการแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนา ถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานในรูปแบบของทีม ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือ การวิพากษ์วิจารณ์ควรมีขอบเขตเฉพาะเรื่องงานเท่านั้น และถ้าจะให้ดี ไม่ควรมีอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง และทุกเรื่องที่เห็นแย้ง หรือเห็นต่าง เราทุกคนควรเคารพสิ่งเหล่านั้นให้ได้ ทั้งหมดนี้จะทำให้เราปราศจากอคติและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข

โดยบ่อยๆ อาจเสี่ยง ‘ภาวะซึมเศร้า’
การเป็นผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะด้วยทางกายหรือทางใจ ก็ทำให้เราบอบช้ำได้ทั้งนั้น แม้โลกนี้จะกล่าวไว้ว่า ‘คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก’ ซึ่งเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนินทา มักเป็นเรื่องราวด้านลบ นั่นจึงเป็นที่มา ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำ มีผลกระทบต่อสุขภาพทางจิตใจ เพราะรู้สึกแย่ เกิดความกลัว และไม่มีความมั่นใจ ดังนั้นหากเรารู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ ให้เราเตรียมตัวรับมือกับคนที่จ้องจะโจมตีเรา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
 
  • โนสน โนแคร์ ถ้าใครทำข้อนี้ได้ คุณจะหลุดพ้นจากทุกสิ่งบนโลกใบนี้ บางครั้งการไม่สนใจและใส่ใจอาจจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เพราะเราไม่ต้องเอาเรื่องเหล่านั้นมาคิดให้ปวดหัว แถมยังช่วยสร้างสุขภาพจิตของเราได้ดีขึ้นอีกด้วย
  • เผชิญกับความเป็นจริง เพราะความจริงคือสิ่งไม่ตาย ในเมื่อสิ่งที่เราถูกนินทาไม่ใช่เรื่องจริง เราก็เผชิญกับทุกสถานการณ์ด้วยความจริง ใช้ข้อเท็จจริงและหลักฐานในการสู้ เพื่อทำให้คนที่นินทาเรา หยุดพฤติกรรมเหล่านั้นไปในที่สุด เผลอๆ เราอาจจะทำให้ทุกคนรอบตัวเราได้รู้ความจริง และทำให้ทุกคนรู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร
  • ออกจากวงจรการถูกนินทา เราไม่ควรทนในสิ่งที่เราไม่โอเค ดังนั้นหากเรารู้สึกว่ากดดันและรู้สึกไม่ดีกับสถานการณ์นั้นๆ ให้เราออกมาจากจุดนั้น มันจะช่วยให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้ คิดในแง่ดี การที่เราออกไปจากจุดที่เขานินทา เขาอาจจะเลิกนินทาเราไปโดยปริยายก็เป็นได้
  • พบจิตแพทย์ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีความรู้สึก บางครั้งเราอาจจะไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง หรือใครรู้สึกว่า สถานการณ์นี้ฉันต้องการความช่วยเหลือโดยด่วน แบบ SOS เราขอแนะนำให้คุณพบจิตแพทย์ การพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติและน่าอาย การได้รับคำแนะนำ และรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นเหยื่อ เพียงเพราะคำพูดสนุกปากของพวกเขาเหล่านั้น เราขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจดีๆ ให้กับทุกคน ❤️❤️❤️
-->