“ฝังแท่งยาคุม(กำเนิด)” ทางเลือกใหม่ของคู่รักที่ยังไม่พร้อมมีลูก
ถ้าไม่อยากเสี่ยงเรื่องนับวันพลาด หรือกลัวว่าถุงยางจะไม่เซฟพอ เดี๋ยวนี้เขามีการคุมกำเนิดแบบ “ฝัง” ที่จะทำให้คุณอุ่นใจในการใช้ชีวิต แต่การคุมกำเนิดแบบนี้จะเวิร์คแค่ไหน เรามาทำความรู้จักกันให้ลึกกันอีกหน่อยดีกว่า“ฝังแท่งยาคุมกำเนิด” คือ...
แพทย์หญิงสุขุมาลย์ สว่างวารี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลพญาไท 1 อธิบายให้ฟังว่า “การฝังยาคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบหนึ่ง ที่แพทย์จะฝั่งแท่งยาเล็กๆ ขนาดเท่าไส้ปากกาไว้ใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขนข้างที่ไม่ถนัด ซึ่งฮอร์โมน ‘โปรเจสโตเจน’ จะถูกปล่อยผ่านแท่งฝังคุมกำเนิดนี้ เพื่อไปยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่ ทำให้ไม่มีการตกไข่ในแต่ละเดือน รวมถึงไม่ทำให้เกิดการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับรังไข่ เนื่องจากมูกบริเวณปากช่องคลอดจะหนาขึ้น ทำให้อสุจิเข้าถึงช่องคลอดได้ยากขึ้นนั่นเอง”
การคุมกำเนิดวิธีนี้...เหมาะกับใคร
“หมอแนะนำว่า ควรเป็นคนที่ต้องการคุมกำเนิดในช่วงระยะเวลา 3-5ปี คนที่ขี้ลืม เช่น ลืมทานยาคุมเป็นประจำ หรือคนที่ไม่อยากทานยาคุมบ่อยๆ รวมถึงคนที่ห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) เช่น คนที่เป็นเบาหวาน SLE หรือ โรคหัวใจรุนแรง การฝังสามารถทำได้กับผู้หญิงในทุกช่วงวัย วัยรุ่นก็สามารถทำได้ เพราะการใช้ยาคุมฉุกเฉินไม่มีประสิทธิภาพคงที่เท่าวิธีนี้ และยังสร้างความไม่สมดุลให้เกิดขึ้นกับร่างกายในอนาคตได้อีก” ส่วนคนที่ห้ามใช้การฝังยาคุมกำเนิดโดยเด็ดขาด คือคนที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับ โรคเลือดออกง่ายที่ต้องทานยาเป็นประจำ ซึ่งถ้าใครที่ไม่แน่ใจว่าโรคที่เป็นอยู่จะกระทบต่อการฝังยาคุมหรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนจะดีที่สุด
เลือกประเภทแท่งฝังยังไง...ให้ลงตัว
ต้องบอกก่อนว่าปัจจุบันมีการฝังแท่งยาคุมกำเนิดอยู่ 2 ประเภท คือ แบบ 1 แท่ง และแบบ 2 แท่ง ซึ่งทั้งสองแบบนี้มีความต่างตรงที่จำนวนแท่งและระยะเวลาในการใช้งาน “การฝังแบบ 1 แท่งจะคุมกำเนิดได้นาน 3 ปี ในขณะที่การฝังแบบ 2 แท่ง จะช่วยคุมกำเนิดได้นาน 5 ปี ซึ่งทั้งสองแบบได้ประสิทธิภาพที่ดีเหมือนกัน คนไข้สามารถพูดคุยกับหมอเพื่อเลือกประเภทการฝังได้ตามที่ต้องการ หรือใครที่ต้องการเอาแท่งออกก่อนกำหนดเพื่อมีบุตร ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องรอประมาณ 3 อาทิตย์ก่อนเริ่มลงมือปฏิบัติภารกิจ แต่สำหรับผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี รัฐบาลได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นขึ้นเมื่อปี 2559 ให้สามารถรับการฝังได้ฟรีที่โรงพยาบาลทั่วประเทศ” เรื่อง “ขั้นตอน” ก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด
“ขั้นตอนในการฝัง หลังจากที่ฉีดยาชาเสร็จ คุณหมอจะฝังแท่งยาที่มีขนาดเล็กไว้ใต้ท้องแขน และค่อยๆ ฉีดตัวยาเข้าไปในแท่ง เสร็จแล้วดึงเข็มออก ซึ่งหัวของแท่งยาที่ฝังจะมีขนาดเล็กมาก ทำให้แผลขนาดของปากแผลก็ค่อนข้างเล็กมากตามไปด้วย ปกติจะใช้ระยะเวลาในการฝังไม่เกิน 1 นาทีโดยประมาณ หลังจากนั้นคุณหมอจะปิดพลาสเตอร์กันเชื้อโรคให้ สิ่งที่คนไข้ต้องทำก็คือหลังจากทำการฝังยาแล้ว ต้องดูแลบริเวณแผลนั้นไม่ให้โดนน้ำประมาณหนึ่งอาทิตย์” ซึ่งในการฝังยาคุมกำเนิดนั้นจะใช้เวลาทั้งหมดไม่เกิน 20 นาที จึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่คนไข้สามารถดูแลตัวเองได้โดยการดื่มน้ำ นอนพักผ่อน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการเวียนหัว และควรเลี่ยงการยกของหนักด้วยข้อศอก ประมาณ 3-5 วัน เพราะอาจทำให้เกิดรอยช้ำได้ ฝังยาคุมเวลาไหน...ที่ดูเวิร์คสุด
คุณหมอเล่าว่า การฝังแท่งยานั้นควรทำในช่วง 5 วันแรกของการมีประจำเดือน เพราะจะช่วยยับยั้งการตกไข่ได้เร็วขึ้น ส่วนข้อควรระวังเรื่องการใช้ยาก็คือ การเกิดภาวะตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว “คนที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมาแบบกะปริดกะปรอย ควรจะต้องตรวจให้แน่ใจก่อนว่าไม่มีภาวะตั้งครรภ์เกิดขึ้น เพราะหากยาถูกฝังขณะที่ตั้งครรภ์ จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างการแท้งตามมาได้” หลังการฝังแท่งยาคุม...นี่คือสิ่งที่ “อาจ” เกิดขึ้นได้
30% ของคนที่ฝังแท่งยาคุมกำเนิดอาจยังมีประจำเดือนอยู่ ในขณะที่อีก 30% อาจไม่มีประจำเดือนอีกเลยเป็นเวลากว่า 30 ปี “บางคนมีประจำเดือนตลอดทั้งเดือน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ไม่ต้องตกใจ เพราะมันเป็นปฏิกิริยาที่มีผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตกไข่” นอกจากนี้ผลข้างเคียงที่อาจจะเจอได้ก็คือ น้ำหนักตัวที่อาจเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ อาการปวดแขนบริเวณที่ฝังแท่งยาคุมกำเนิด รวมถึงอารมณ์แปรปรวนและการมีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
อย่าเข้าใจผิด! “การฝังยาคุม” ไม่ได้ป้องกัน “เชื้อ HIV”
หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าการฝังแท่งยาคุมนี้ป้องกันเชื้อเอชไอวีได้ ทางสถาบัน New Zealand Family Clinic ยืนยันว่า “วิธีการคุมกำเนิดแบบนี้ ไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” ซึ่งตรงกับที่คุณหมอบอกเราว่า “การฝังแท่งยานี้จะทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้นขึ้น เชื้อเอชไอวีเลยเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง แต่การที่เชื้อเอชไอวีเข้าได้น้อยไม่ได้หมายความว่า วิธีนี้ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ เพราะร่างกายยังมีอวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น ปากช่องคลอด หรือทวารหนัก ซึ่งหากมีแผลฉีกขาดเกิดขึ้นจะทำให้เกิดการติดเชื้อ และเชื้อนี้ก็สามารถเข้าสู่ร่างกายทันที ดังนั้นหากพบว่าตัวเองมีภาวะเสี่ยง เช่น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเซ็กส์แบบไม่ป้องกันเป็นประจำ ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับข้อวินิจฉัยและวิธีการรักษาที่ถูกต้องจะดีกว่า”
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่สนใจจะใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบนี้ เราก็ขอย้ำว่าควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันผลข้างเคียงที่อาจส่งอันตรายต่อตัวคุณได้