เปิดประสบการณ์ครูสอนดำน้ำ กับเป้าหมาย 'ความสุข' ของเพื่อนร่วมทริป
ความลึกลับ เย้ายวน และชวนค้นหาของโลกใต้ท้องทะเล กลายเป็นเสน่ห์มัดใจในทันทีที่ได้สัมผัส และยิ่งเวลาผ่านไปเขายิ่งทุ่มเทกับการดำน้ำมากขึ้น จนวันหนึ่งที่เขาอยากให้ “เพื่อน” ได้มาสัมผัสกับความงามเหล่านั้น และนี่ล่ะคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ช้าง-เศรษฐวิชญ์ พัชรฑีฆะสุข ตัดสินใจผันตัวเป็น “ครูสอนดำน้ำ” อย่างจริงจัง
จุดเริ่มต้น...ที่ตกหลุมรักการดำน้ำ
ครูช้างเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการดำน้ำลึกว่า “ผมชอบกิจกรรมทางน้ำ ชอบทะเลตั้งแต่เด็ก ได้เที่ยวทะเลของไทยหลายๆ ที่ จนเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว ได้ดำน้ำตื้นที่หมู่เกาะพีพี คือแค่ดำน้ำตื้นก็เห็นว่าทะไลไทยปะการังอุดมสมบูรณ์ และมีปลาเยอะมาก พอเห็นกลุ่มนักดำน้ำต่างชาติไปดำน้ำลึก ตอนนั้นได้แต่คิดในใจว่าต้องสวยมากแน่ๆ เพราะน้ำตื้นยังสวยขนาดนี้ ลึกลงไปคงมีอะไรให้ดูมากกว่านี้แน่”
หลังจากศึกษาข้อมูลจนมั่นใจ เขาจึงไปเรียนดำน้ำลึกที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี “ก่อนลงน้ำก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน แต่พอได้ลงไปแล้วรู้สึกเลยว่า ‘ใช่’ ในโลกใต้น้ำมันเหมือนเราลอยอยู่ในอวกาศ เราเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระท่ามกลางฝูงปลา ปะการัง ได้เห็นความสวยงามและพฤติกรรมของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว”
จาก Open Water Diver สู่ Open Water Scuba Instructor
เมื่อเกิดความชอบ ก็ต่อยอดไปถึงการเรียนรู้ “ตอนแรกเริ่มจากคอร์ส Open Water Diver โดยเป็นขั้นที่ดำน้ำในระดับความลึกไม่เกิน 20 เมตร ก่อนจะต่อด้วยคอร์ส Advance ที่เพิ่มระดับความลึกเป็น 30 เมตร” และด้วยความที่อยากค้นหาโลกใต้น้ำให้มากขึ้น เขาจึงตัดสินใจเทคคอร์ส Rescue Diver ต่อตามคำแนะนำของครู ซึ่งคอร์สนี้แหละที่ทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีการดูแลตัวเอง และดูแลผู้อื่นเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน “มันทำให้เราสามารถประเมินประสบการณ์และวิธีการช่วยเหลือได้ ซึ่งหลังจากจบคอร์สนี้ เราก็ไปต่อที่คอร์ส Divemaster”
และตลอดระยะ 6 ปีหลังจากที่เขาหันมาจริงจังกับการดำน้ำ เขาได้เดินทางไปยัง Dive Site ต่างๆ ทั่วโลก ได้โพสต์ภาพใต้น้ำลงในโซเชียลมีเดียมากมาย จนเพื่อนๆ ต่างให้ความสนใจ จนเกิดคำถามว่า “ทำไมช้างไม่เป็นครูล่ะ ถ้าเป็นแล้วจะมาเรียนด้วย” ประโยคนั้นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาตัดสินใจเรียนอย่างจริงจังเพื่อจะเป็นครูสอนดำน้ำ (Instructor)
ความปลอดภัย คือหัวใจสำคัญของนักดำน้ำ
แม้จะเป็นครูแล้ว แต่ก่อนที่จะให้ความช่วยเหลือใคร ต้องมั่นใจก่อนว่าตัวเองปลอดภัย “เพราะหัวใจหลักคือเราต้องปลอดภัยก่อนจะให้ความช่วยเหลือคนอื่น ถ้าคนที่ให้การช่วยเหลือตัวเล็กกว่าคนที่ประสบอุบัติเหตุ แม้ว่าคนตัวเล็กจะเรียน Rescue diver มาแล้ว ก็อาจเกิดอันตรายได้เพราะโดนล็อกคอจากคนที่ตัวใหญ่กว่า”
ซึ่งนอกจากคุณวุฒิแล้ว เขามองว่าเรื่องของ “ทัศนคติและวัยวุฒิ” ก็สำคัญในการเป็นครูสอนดำน้ำ “PADI (Professional Association of Diving Instructors) ซึ่งเป็นสถาบันด้านการดำน้ำกำหนดว่าคนที่เป็นครูสอนดำน้ำต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ในความเป็นจริงผมคิดว่าการเป็นครูต้องใช้วัยวุฒิ เพราะมันคือความรับผิดชอบต่อชีวิตของคนที่มาเรียนกับเรา... ผมเริ่มงานนี้ด้วยความรัก ทำตามขั้นตอน และอยากให้คนใกล้ตัวได้สัมผัสกับโลกใต้น้ำ”
ว่ายน้ำไม่เป็น ก็ดำน้ำได้... แค่ต้องรับมือกับ “ความกลัว”
เขาบอกว่านี่เป็นคำถามที่พบบ่อยมาก “การดำน้ำคือการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ให้เป็น รู้ว่าอุปกรณ์ที่อยู่รอบตัวใช้อย่างไรเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ ซึ่งนักเรียนชาวไทยกับชาวต่างชาติจะมีความต่างกันตรงที่นักเรียนไทยต้องการความใส่ใจมากกว่า บางครั้งการสอนแบบตัวต่อตัวก็ทำให้เราสามารถโฟกัสที่นักเรียนได้มากกว่าการสอนหลายๆ คนพร้อมๆ กัน เพราะนักเรียนบางคนอาจจะยังไม่สามารถจัดการกับความกลัว หรือความ Panic ของตัวเองได้... ผมเคยให้นักเรียนคนหนึ่งไม่ผ่านเพราะเขาหายใจออกทางจมูก ทั้งที่ความจริงเวลาอยู่ใต้น้ำเราต้องหายใจเข้าออกทางปาก เพราะการหายใจออกทางจมูกของเขาอาจทำให้มีเศษน้ำเข้ามาในหน้ากาก เขาจะมีความรู้สึกเหมือนสำลักน้ำและพุ่งตัวขึ้นผิวน้ำทันที ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เช่น ดำน้ำที่ความลึก 20 เมตรแล้วจู่ๆ ขึ้นมาผิวน้ำโดยไม่หยุดเพื่อปรับแรงดัน อาจจะทำให้ปอดแตกได้”
สภาพแวดล้อม ก็มีส่วนทำให้เกิดอาการ Panic ได้
หลังจากเรียนภาคทฤษฎีและปฏิบัติในสระว่ายน้ำแล้ว ก็ถึงเวลาสอบในทะเลซึ่งครูช้างบอกว่า นักเรียนบางคนอาจเกิดความกลัวจนเปลี่ยนใจและเลิกดำน้ำไปเลย “จุดเปลี่ยนว่าคนจะดำน้ำต่อหรือเปล่าอยู่ที่ตอนสอบในทะเล คือถ้าเขาเจอน้ำขุ่น กระแสน้ำแรง เม่นเยอะ ไม่เห็นปลาอะไรเลย อาจทำให้หมดแรงบันดาลใจที่จะดำน้ำต่อ ดังนั้นถ้าเป็นนักเรียนที่เรียนกับผม จะบอกเขาเลยว่าถ้ามีกำลัง (เงิน) ก็อยากให้สอบที่ชุมพรในพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง เพราะทะเลค่อนข้างสมบูรณ์ และน้ำใสกว่าอ่าวไทยตอนบน ซึ่งนักเรียนจะเกิด First impression ที่ดีกว่า”
นอกจากความแข็งแรงทางกาย... ใจก็นิ่งขึ้น
“การดำน้ำเหมือนการฝึกสติ ให้เรามีสติตลอดเวลา โฟกัสกับลมหายใจเข้า-ออก... ครูผมสอนว่าหากเกิดอะไรขึ้นให้ ‘Stop-Think-Act’ หยุด หายใจเข้า-ออก แล้วคิดหาสาเหตุ คิดวิธีแก้ไข แล้วค่อยแอคชั่นออกไป นั่นคือสิ่งสำคัญ” ครูช้างบอกอีกว่าการดำน้ำยังสอนให้เราไม่คาดหวัง บางคนดำน้ำด้วยความคาดหวังว่าต้องเจอฉลามวาฬ เมื่อไม่เจอก็ทุกข์ ทั้งๆ ที่มีสิ่งสวยงามอยู่ตรงหน้าให้ดูอีกเพียบ ทั้งปะการัง ฝูงปลา และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างทาก กุ้ง ปู
เป้าหมายสูงสุด คือความสุขของเพื่อนร่วมทาง
เป้าหมายของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป แต่สำหรับครูช้างแล้ว นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง “พาคนไปดูฉลามวาฬได้นี่คือสำเร็จที่สุดแล้ว ส่วนเป้าหมายสูงสุดคือคนที่ดำน้ำกับเราได้รับความสุขกลับไป ได้เห็นสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เห็นสภาพแวดล้อมที่แท้จริงว่าแตกต่างจากในสารคดียังไง” เขายังเสริมอีกว่า “หลายคนที่ดำน้ำอาจอยากเจอกระเบน เจอฉลามเสือ มีภาพคู่กับฉลามวาฬ ถ้าผมพาพวกเขาไปเจอสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ นั่นแหละผมคิดว่างานประสบความสำเร็จแล้ว”