หมออิ๊ก กับเส้นทางชีวิตที่ทำให้เธอเป็นหญิงไทยคนเดียวใน BBC 100 Women 2018

เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับ ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ หรือหมออิ๊ก คนที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหา “สุขภาพจิต” ในสังคมไทยมาตลอด โดยใช้ประสบการณ์ตรงบวกกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาต่อยอดช่วยเหลือคนอื่น ให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคได้ นั่นทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเธอจึงได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน BBC 100 Women ของปี 2018 ที่ผ่านมา




การประกาศรายชื่อจะเรียงตามลำดับตัวอักษร ทำให้ชื่อของหมออิ๊กอยู่ในลำดับที่ 88 (ภาพจาก BBC100Women)

ประสบการณ์ตรง...จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้
“ช่วงที่ยังเรียนอยู่คณะทันตแพทย์ มีอาการนอนไม่หลับ หลับยาก หลับได้ 1-2 ชั่วโมงต่อคืน เป็นแบบนี้นานหลายเดือน เราไม่สามารถจัดการชีวิตประจำวันได้ ไม่มีสมาธิ คิดว่าต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งตอนนั้นก็ได้ปรึกษากับอาจารย์จิตแพทย์ หลังจากเรียนที่จบก็ไปทำงานที่ต่างจังหวัด ซึ่งยังคงต้องพบหมออยู่ เราสังเกตเห็นว่าปัญหาที่หลายคนต้องเจอคือนัดยาก นัดลำบาก ถ้าไปโรงพยาบาลก็ต้องใช้เวลา ต้องเดินทางข้ามจังหวัด และไม่รู้จะนัดหมอคนไหน ซึ่งส่วนตัวเรามองว่าการหาหมอเหมือนการเลือกคู่ ต้องเป็นคนที่พูดแล้วรู้สึกเข้าใจกัน” นี่คืออีกหนึ่งจุดที่ทำให้เธออยากจะครีเอทบางสิ่งเพื่อปิดช่องว่างที่เกิดขึ้น 

เมื่อเข้าใจ...ก็สามารถอยู่ร่วมกันสิ่งที่เป็นได้ 
เมื่อได้ศึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามากขึ้น เธอเข้าใจในตัวโรคและสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้ “ประเภทของโรคซึมเศร้าแบ่งได้หลายประเภท คือโรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น (Major Depression) โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia Depression) และโรคซึมเศร้าแบบไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์ (Bipolar disorder) ซึ่งที่เราป่วยเป็นแบบดิสทีเมียคือความรุนแรงน้อย แต่เป็นต่อเนื่อง เรื้อรัง คือ นานๆ ทีจะมีช่วงที่จิตตก อยู่ใน crisis บ้าง ซึ่งต้องพูดคุยกับจิตแพทย์ หรือมียาบางอย่างที่ช่วยให้หลับก็ดีขึ้นมาก มีกระบวนการที่ดำเนินไปแล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตเรา เราเดินทางร่วมไปกับมันได้ เป็นสิ่งที่อยู่กับเราไปแบบนี้”

การรักษา “ซึมเศร้า” ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่รักษาได้
ทั้งประสบการณ์ตรงที่ได้ บวกกับการทำงานเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ป่วยและผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหา ทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ทำให้เธอเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น “สภาพจิตใจของคนเรานั้นหลากหลาย ไม่สามารถตัดสินได้ว่าป่วยแล้วต้องกินยา เพราะสาเหตุที่ทำให้ป่วยนั้นมีหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายใน สภาพแวดล้อมที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป หรือสังคมรอบตัวกดดัน การเรียน การทำงาน ทุกอย่างเป็นปัจจัยร่วมกันจนเกิดสภาพอย่างหนึ่งออกมา การจะหายหรือไม่หายต้องใช้หลายอย่างรวมกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ด้วย”

“ยา อาจช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่บางคนไม่ต้องกินยา บางคนต้องการการพูดคุยถึงปมในใจ เอาตัวเองออกจากสภาวะที่บั่นทอนจิตใจ เราจึงไม่สามารถฟันธงถึงแนวทางการรักษา แต่อย่างน้อยคือต้องพบแพทย์เพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริง เราไม่สามารถวินิจฉัยตัวเองหรือซื้อยากินเอง ไม่มีใครสามารถนั่งคิดเอาเองได้ว่าฉันน่าจะเป็นหรือไม่เป็นอะไร”

วงจรของความไม่เข้าใจ...สิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหา “ซึมเศร้า”
แม้ในปัจจุบัน สังคมจะเข้าใจและตระหนักถึงสาเหตุและผลกระทบจากโรคซึมเศร้ามากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังคงมีความเข้าใจผิดที่คงอยู่แบบเป็นวงจรในสังคมไทย “ที่มาทำอูก้าเพราะเรามองว่าอุตสาหกรรมเรื่องสุขภาพจิตต้องการการผลักดัน ก่อนหน้านี้คนไปหาจิตแพทย์ ก็จะมีคนพูดว่า 'เป็นบ้าหรอ เสียเงินไปคุยทำไม' ซึ่งเป็นภาพที่เรามองว่าถ้ายังมีความเข้าใจผิดเป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ความรู้ความเข้าใจจะไม่โต หรือไม่ค่อยมีคนเข้ามาในพื้นที่นี้เพื่อพัฒนาวงการ บุคลากรก็น้อยซึ่งอาจจะน้อยกว่าสาขาวิชาอื่น หรือเรียนมาแล้วไม่มีอาชีพรองรับ เมื่อบุคลากรน้อย ก็ไม่มีคนช่วยส่งเสริมความเข้าใจให้สังคม กลายเป็นวงจร...เรามองตัวเองเป็นฟันเฟืองที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้หมุนไป จิตแพทย์เองก็ได้รับค่าตอบแทนจากคุณค่าที่เขามอบให้สังคม”

มองว่า “รางวัล” ยังไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จ
หมออิ๊ก เล่าย้อนว่า “ก่อนหน้านั้นประมาณ 7-8 เดือน คุณลาล่า โอเว่น ผู้สื่อข่าวบีบีซีจากอังกฤษที่ทำประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงได้ติดต่อสัมภาษณ์เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ สอบถามข้อมูลเยอะมาก และสัมภาษณ์อาจารย์ในระบบของเรา เรื่องของอูก้าน่าสนใจประมาณหนึ่ง ตัวโปรดักส์เป็นเรื่องดี ส่วนความเป็นมาก็ฟังดูน่าตื่นเต้น ซึ่งทางบีบีซีอังกฤษก็มีทีมงานที่ทำเรื่อง BBC 100 WOMEN อยู่แล้ว เราเองก็สนใจที่คุณลาล่าส่งชื่อเราเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับคัดเลือกด้วย”

ช่วงเวลาที่ทราบผลนั้น หมออิ๊ก บอกว่า “ตอนนั้นออกไปกินอาหารกับทีมงาน แล้วมีคนส่งข่าวมาให้ดูซึ่งเรารู้สึกขอบคุณ แม้จะเป็นบรรทัดเล็กๆ ในข่าวแต่ก็ช่วยให้สังคมรับรู้ว่ามีคนทำอะไรแบบนี้...รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ ให้โดยสำนักข่าวระดับโลก แต่ส่วนตัวคิดว่ายังไม่เป็นการวัดความสำเร็จ แต่เป็นเรื่องดีที่คนจำเราได้และบอกต่อ ซึ่งเป็นโอกาสให้คนเข้าถึงเรามากขึ้น”

สุดท้ายเธออยากฝากว่า  “ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสสังคมทำให้คนให้ความสำคัญและสนใจเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ในภาพยนตร์หรือละครที่ผลิตในช่วงหลังๆ และศิลปินดาราก็มีส่วนทำให้ประเด็นนี้ได้รับความสนใจ แต่เรายังคงเห็นข่าวคนฆ่าตัวตายที่มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คือถึงแม้จะมีความตระหนัก แต่ก็ต้องส่งเสริมให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตคนจริงๆ

หมายเหตุ: ดูรายชื่อ BBC100Women2018 ทั้งหมดได้ที่นี่


 
-->