รับมืออย่างไร? ถ้าน้ำในหูไม่เท่ากัน

เวียนหัวเก่ง แถมคลื่นไส้อีก นี่ถ้าเป็นผู้หญิง คงเตรียมแสดงความยินดีที่กำลังจะได้เป็นคุณแม่แล้ว ติดที่ว่าไม่ใช่ผู้หญิง แถมยังไม่มีใครอีกนี่สิ เพราะแบบนี้เรื่องตั้งท้องคงต้องปัดตกไป เหลือที่ดูเข้าข่ายก็น่าจะเป็น “น้ำในหูไม่เท่ากัน” ซึ่งโรคนี้เราอาจเคยชะล่าใจ คิดว่ามีแต่คนสูงอายุที่เป็นกัน เราเลยต้องให้ พญ.นภารัตน์ จิระวัฒนผลิน โสตศอนาสิกแพทย์ และศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลพญาไท 3 มาคลายความสงสัยว่า

" น้ำในหูจะเกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวได้หรือไม่?
และจะเกี่ยวอะไรกับการที่น้ำเข้าหูหรือเปล่านะ? "



น้ำในหูไม่เท่ากัน VS บ้านหมุน

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ด้วยชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นโรคที่เกิดความผิดปกติในหู ซึ่งหูของคนเราจะแบ่งออกเป็นสามชั้นด้วยกัน คือหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน โดยภาวะน้ำในหูไม่เท่ากันเป็นการเกิดความผิดปกติบริเวณหูชั้นใน ที่มีหน้าที่ควบคุมการได้ยินและการทรงตัว เมื่อน้ำในหูไม่เท่ากัน จะมีของเหลวอยู่ในหูชั้นในมากกว่าปกติ เป็นที่มาของแรงดันที่เพิ่มขึ้นและไปขวางการทำงานของระบบประสาท ทำให้มีอาการหูอื้อ มีเสียงในหู เวียนศีรษะ หรือบ้านหมุนได้ “บ้านหมุนเป็นอาการส่วนหนึ่งของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน และความจริงแล้วบ้านหมุนก็สามารถเกิดจากความผิดปกติอย่างอื่นได้ด้วย อย่างคนที่เป็นโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน ก็มีอาการบ้านหมุนได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการวินิจฉัยให้ลึกลงไปอีกว่า จริง ๆ แล้วอาการบ้านหมุนที่มีเกิดจากอะไร” ส่วนอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน คุณหมอบอกว่ามักจะมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน มีเสียงในหู ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเสียงดังข้างเดียว ส่วนในเคสที่มีเสียงในหูทั้งสองข้างพบได้บ้าง แต่ถือว่าเป็นส่วนน้อย



เพราะอะไรที่ทำให้น้ำในหู...ไม่เท่ากัน

ถ้าเป็นสาเหตุที่มาจากอาหารการกิน คุณหมออธิบายว่าอาจจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด มีโซเดียมสูง อย่างขนมอบหรือเบเกอรี่ต่างๆ ซึ่งก็เป็นสาเหตุได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากว่ามีโซเดียมแฝงอยู่ รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มที่คาเฟอีนที่มากเกินไป นอกจากนี้ก็จะเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์การทำงานคนในยุคนี้ ที่ทำงานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน มีความเครียด นอนไม่หลับ หรือตื่นนอนกลางดึก ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ และนั่นทำให้ในปัจจุบันโรคนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่วัยรุ่น วัยทำงาน หรือคนหนุ่มสาวก็ป่วยเป็นโรคนี้กันมากขึ้น ด้วยการทำงานที่หนักและเกิดความเครียดได้ง่าย โดยจะสังเกตได้ว่ากลุ่มคนทำงานที่เป็นโรคนี้มีจำนวนไม่น้อยเลยที่มาพร้อมอาการออฟฟิศซินโดรม เพราะระบบต่างๆ ภายในร่างกายนั้นมีการเชื่อมโยงถึงกันหมด 

ซึ่งอาการที่กล่าวมา เมื่อมีอาการเวียนศรีษะหรือบ้านหมุน ในตอนที่กำลังอยู่บนบันไดหรือที่สูง รวมถึงตอนที่เรากำลังขับรถอยู่ จะเป็นอันตรายมากที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพราะอาการเหล่านี้เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน



การรักษา…หากว่าน้ำในหูไม่เท่ากัน

คุณหมอบอกว่าการจะรักษาโรคนี้ก่อนอื่นเลยคงต้องเริ่มจากการดูแลตัวเอง ซึ่งก็จะมีความสอดคล้องไปกับเรื่องของสาเหตุและความเสี่ยง คือเราจะต้องปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร ลดเค็ม ลดโซเดียม สำหรับเครื่องดื่มคาเฟอีนคุณหมอบอกว่าก็ยังคงดื่มได้ แต่ไม่ควรมากเกินไป นอกจากนี้การใช้ชีวิตก็ให้พยายามไม่เครียด ผ่อนคลายตัวเองอยู่เสมอ “ส่วนการรักษาของแพทย์ก็จะมีการให้ยาเพื่อควบคุมความดันในหู อาจมีการให้ยาขยายหลอดเลือด โดยในบางกรณีอาจต้องมีการผ่าตัด ซึ่งจะต้องพิจารณาไปตามระดับความรุนแรงของโรคในคนไข้แต่ละคน ยิ่งไปกว่านั้นคือการทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชา เพราะโรคนี้ต้องอาศัยการทำงานของแพทย์ที่เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อย่างอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ หรือแม้กระทั่งการนอนไม่หลับ ก็อาจจะเชื่อมโยงไปถึงภาวะซึมเศร้าที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์” และถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรือทำได้แค่รับการรักษาและรับประทานยาเพื่อคุมโรคไม่ให้กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่เมื่อบวกกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร การทำงาน และการใช้ชีวิต คุณหมอบอกว่าก็จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
-->