ยาแก้ปวดกับโรคไต ต้องกินยังไงก่อน
กินยาเก่งเป็นขนม อย่าดีใจ เพราะนี่ไม่ใช่คำชม แต่อยากเตือนไว้ให้ระวังไตจะพังไม่รู้ตัว โดยเฉพาะยาแก้ปวดที่กินได้ (ง่าย) กินดี (หรอ?) กินทั้งๆ ที่ยังไม่ชัวร์ว่าต้องกินแบบนี้ยิ่งต้องระวัง เพราะข้อมูลและสถิติจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไตพบว่าเพิ่มขึ้น ประมาณ 2 หมื่นรายต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะแบบนี้ถึงต้องไปขอคำปรึกษาจาก พญ.ศิริกุล ชัยพิสุทธิ์สกุล อายุรแพทย์โรคไต ประจำโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน จะได้รู้ว่ายาแก้ปวดกับโรคไตควรต้องกินยังไง (ถึงจะ) ดี
ยาตัวไหนใช้แก้ปวดได้...บ้าง
เมื่อพูดถึงยาแก้ปวด จะหมายถึงยาที่ใช้ระงับความรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งทำงานโดยจะไปแก้ไขสมดุลของสารเคมีในสมองและสารสื่อประสาทให้เกิดความสมดุล ทำให้ลดความรู้สึกเจ็บปวดได้ ซึ่งคุณหมอบอกว่าสามารถแบ่งแยกชนิดและประเภทได้ดังนี้
“ประเภทของยาแก้ปวดสามารถแบ่งได้หลายประเภท แต่ที่นิยมคือ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
ยาตัวไหนใช้แก้ปวดได้...บ้าง
เมื่อพูดถึงยาแก้ปวด จะหมายถึงยาที่ใช้ระงับความรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งทำงานโดยจะไปแก้ไขสมดุลของสารเคมีในสมองและสารสื่อประสาทให้เกิดความสมดุล ทำให้ลดความรู้สึกเจ็บปวดได้ ซึ่งคุณหมอบอกว่าสามารถแบ่งแยกชนิดและประเภทได้ดังนี้
“ประเภทของยาแก้ปวดสามารถแบ่งได้หลายประเภท แต่ที่นิยมคือ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
OPIOIDS คือยาแก้ปวดอนุพันธ์ของฝิ่น แยกเป็น
- WEAK OPIOIDS เช่น CODEINE PENTAZOCINE หรือ TRAMADOL ใช้กรณีลดปวดที่ไม่มาก ฤทธิ์เสพติดก็จะน้อยกว่า
- STRONG OPIOIDS เช่น MORPHINE, PETHIDINE, FENTANYL, METHADONE, BUPRENORPHINE เหล่านี้ก็จะเป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์ลดปวดได้มาก แต่ก็จะมีฤทธิ์ที่ทำให้เสพติดได้มากเช่นกัน
NON OPIOIDS คือกลุ่มที่ไม่ใช่อนุพันธ์ฝิ่น แบ่งเป็น
- NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (IBUPROFEN) ไดโคลฟีแน็ก (DICLOFENAC) ไพร็อกซิแคม (PIROXICAM) เป็นต้น เป็นยากลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ แต่เอามาใช้ลดอาการปวดได้
- กลุ่ม ACETAMINOPHEN เช่น พาราเซตามอล (PARACETAMOL) หรือ SALICYLATES เช่น ASPIRIN
- ยาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาแก้ปวดแต่มีฤทธิ์แก้ปวด เช่น ยาต้านความกังวลกลุ่ม TRICYCLIC ANTIDEPRESSANT ยาต้านความเครียด อะมิทริปไทลีน (AMITRIPTYLINE) ยากันชักบางตัว เช่น ยากาบาเพนติน (GABAPENTIN) ที่ออกฤทธิ์ลดปลายประสาทชา อักเสบ แล้วก็ลดปวดไปได้ด้วย ก็เอามาช่วยลดอาการปวดได้ นอกจากนี้ก็มียาความดันบางตัวที่ใช้ลดปวดได้อีกเช่นกัน คล้ายกับว่าเป็นผลข้างเคียง แต่เป็นผลข้างเคียงที่ดี ที่นำมาใช้ลดปวด”
ปวดที่ไหน ก็มาลงที่...ไต
ไม่ใช่แค่ยาแก้ปวดเท่านั้นที่มีผลต่อตับและไต แต่ขึ้นชื่อว่ายา ถ้าใช้มากเกินไปหรือใช้ผิดวิธี คุณหมอบอกว่ามีสิทธิ์เป็นอันตรายได้ทุกตัว
“ถ้าถามว่ายาแก้ปวดตัวไหนที่มีผลกับไต หมอขอตอบว่า ยากลุ่ม NSAIDs เป็นยาที่มีผลต่อไตโดยตรงที่สุด คือไปออกฤทธิ์ลดเลือดไหลเวียนไปที่ไต ทำให้มีปัญหากับการทำงานของไต ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไตเสื่อมง่ายขึ้นคือ การใช้ยาต่อเนื่อง การใช้ร่วมกันหลายตัว การใช้ในคนสูงอายุ โดยเฉพาะอายุเกิน 60 ปี การใช้ในขณะร่างกายขาดน้ำเช่น ตอนท้องเสีย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ยาทุกชนิด หากใช้มากเกินไป ก็จะมีผลเสียได้เช่นกัน ควรเลือกใช้ให้พอเหมาะ“
ใช้ยาแก้ปวดแบบไหนดีต่อ...ไต (ใจ)
ด้วยประเภทของยาที่มีหลากหลาย ทั้งที่มีผลโดยตรงและอ้อม การใช้จึงไม่ใช่จะสักแต่ว่าใช้ตัวไหนก็ได้อย่างที่เคยชิน แต่จำเป็นต้องให้แพทย์แนะนำ
“สำหรับการใช้ยาหมอขอแนะนำให้วิธีการใช้ยาแก้ปวด เพื่อลดโอกาสเกิดอันตรายต่อไตและร่างกาย ดังนี้
- ใช้ลดปวดตามระดับความปวด เช่นถ้าปวดไม่มาก เริ่มใช้ยาอ่อนๆ อย่างกลุ่ม พาราเซตามอลดูก่อน หากจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดต่อเนื่อง ควรตรวจเลือดดูค่าการทำงานของไตบ้าง ถ้าปวดมากขึ้น ค่อยพิจารณายากินกลุ่มอื่น เช่น WEAK OPIOIDS อย่าง TRAMADOL หรือ NSAIDs ระยะสั้นๆ
- ในรายที่ปวดมากอย่างกลุ่มคนไข้หลังผ่าตัด หรือเป็นมะเร็ง จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดแบบออกฤทธิ์แรง ต้องปรึกษาแพทย์ เพราะยากลุ่มนี้มักเป็นยารูปแบบฉีดเพื่ออกฤทธิ์เร็ว หรือเป็นยาที่ควบคุม โดยการใช้ยากลุ่มนี้แพทย์มักจะมีการตรวจติดตามการทำงานของตับและไตอยู่เป็นระยะ เพื่อที่จะสามารถใช้บรรเทาอาการปวดได้อย่างปลอดภัย การซื้อยาแก้ปวดกินเองหรือแม้แต่ที่ไปพบแพทย์ อย่าลืมแจ้งโรคประจำตัวของตน หรือประวัติแพ้ยา เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเลือกใช้ยา ได้เหมาะสมและปลอดภัย”
ถ้ารู้จักใช้ยาให้ถูกวิธีแบบนี้ก็จะได้ไม่มีเรื่องทำให้ปวด...ใจ (ไต)