นักศิลปะบำบัดรุ่นใหม่ ใช้งานศิลปะสร้างความสมดุล
ยอมรับว่า เราก็ไม่เคยเข้าใจเรื่องของศิลปะบำบัดมาก่อนเลย จนได้มาเจอสาวสวยและเท่มากคนนี้ เธอคือครูสอนศิลปะและนักศิลปะบำบัด ที่หาได้น้อยมากในเมืองไทย คุณปัท ปรัชญพร วรนันท์ (อายุ 31 ปี) นอกจากเธอเป็นอาจารย์พิเศษคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาศิลปะศึกษา และนักศิลปะบำบัดแล้ว ตอนนี้เธอกำลังเปิดสตูดิโอชื่อว่า “Persona” ที่เธอบอกว่าอยากให้เป็นพื้นที่ที่ให้คนทุกเพศทุกวัยทุกแบบ เข้ามาสร้างผลงานศิลปะอะไรก็ได้ และช่วงเวลานี้ล่ะที่จะเป็นการปรับสมดุลภายในใจ ซึ่งศิลปะที่ว่าจะรวมทั้งการเพ้นท์ การปั้น การเคลื่อนไหว (Theatre) และอื่นๆ อีกมากมาย ทีนี้เรามาเริ่มจากมารู้จักศาสตร์ของศิลปะบำบัดกันก่อน
ปรัชญพร วรนันท์ (ปัท) 31 ปี
HOW TO BE AN ART THERAPIST
เริ่มจากการเป็นลูกคนเดียวและใช้เวลาอยู่กับการทำศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ หลังจากที่เรียนจบครุศาสตร์จุฬาฯ และมีความคิดว่าอยากเรียนด้านแฟชั่น เธอเลยเรียน London College of Fashion ไปพักใหญ่ “แต่ทันทีที่คิดได้ว่า เราไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองเลย ว่าในอนาคตอันยาวไกล เราอยากทำอะไร แล้วอะไรเป็นแพชชั่นจริงๆ ของเรา พอตั้งคำถามปุ๊ป เราเริ่มกลับมารู้จักตัวเองอีกครั้ง ว่าเราชอบศิลปะ เราชอบสอน เราชอบทำงานในพื้นที่ๆ ไม่ใหญ่โต” เธอเลยลาออกทันทีและตัดสินใจไปเรียนวิชา Apply Imagination in the Creative Industries ที่ Central St. Martin ทำวิทยานิพนธ์ เพื่อค้นหาว่า Creative Arts จะช่วยเรื่องของระบบความคิดของเด็กๆ ในระบบการศึกษายังไงได้บ้าง
“เราเริ่มจากประสบการณ์ของตัวเองว่าเด็กต่างชาติเวลาเรียนเขาตั้งคำถาม ยกมือถามมากมาย แล้วทำไมเด็กไทยไม่มีเซ้นส์แบบนั้นเลย ระบบการศึกษาเด็กไทย คือป้อนอะไรไปก็ฟังอย่างเดียว ครูพูดอะไรก็เชื่อ ปัทเองก็เพิ่งจะมาตั้งคำถามก็เมื่อเราเรียนปริญญาโทแล้ว เลยทำโปรเจ็คท์สอนศิลปะเพราะเชื่อว่าศิลปะจะช่วยให้เด็กมี Critical Thinking มีการตั้งคำถาม พอได้อยู่กับเด็กๆ เลยเกิดแรงบันดาลใจและตั้งคำถามต่อว่า ศิลปะทำอะไรได้อีกบ้าง นอกจากการแค่เป็นการสอน ปัทก็เลยเรียนต่อด้านศิลปะบำบัด Integrative Arts Psychotherapy เกี่ยวกับการผสมผสานมีเดียมต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการทำศิลปะบำบัด มีทั้งหมด 7 มีเดียม Visual Art, Sand Play, Music Therapy, Puppet (หุ่นมือ) , Poetry, Clay Therapy และ Movement Therapy แล้วก็จะมีการผสมผสานกันระหว่างเดียมในการทำกระบวนการซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละบุคคล”
“ศิลปะบำบัดเป็นกระบวนการหนึ่ง ซึ่งใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการทำ ผู้ที่ทำจะต้องมีการอบรมมา และออกแบบกระบวนการเพื่อใช้ในบริบทที่แตกต่างกันทั้งสำหรับบุคคล หรือสำหรับกลุ่ม คือใช้การสร้างงานศิลปะเป็นพื้นที่ปรับสมดุลในใจ ใช้กระบวนการศิลปะเพื่อที่จะรู้จักตัวเองหรือเชื่อมโยงกับตัวเองอีกครั้งนึงนั่นเอง อย่างปัททำงานเป็นนักศิลปะบำบัดที่โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง และไปร่วมโครงการ Art for Cancer คือไปร่วมบำบัดผู้ป่วยมะเร็งในโรงพยาบาล เปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วย และผู้ดูแลมาร่วมกันทำงานศิลปะ ที่ทั้งมีความหมายกับตัวเราเอง และยังได้รู้สึกเชื่อมโยงกับคนในกลุ่มด้วย”
ศิลปะบำบัด ใช้กับใครได้บ้าง?
“คำว่าบำบัดสำหรับปัทเป็นคำที่ละเอียดอ่อนมาก บำบัดอาจมีความหมายในนัยยะที่เข้มข้น ว่าเราเริ่มผิดปกติ แต่จริงๆ แล้วความไม่สมดุลเป็นเรื่องปกติ ที่ทุกคนเป็นได้ เราทุกคนมีความไม่สมดุล เพราะเราใช้ชีวิตอยู่ในเมือง มีความกดดันสูง ภาระความรับผิดชอบ เวลาที่จำกัด ชีวิตเร่งรีบมันทำให้เราเครียด ดังนั้นสภาวะความไม่สมดุลมันเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่เรารู้ตัวรึเปล่าว่าเริ่มที่จะมีสภาวะไม่สมดุลแล้ว ต้องสังเกตตัวเองจาก เราเริ่มจะนอนหลับไม่ดี เรากินเป็นยังไง อ่อนเพลียเหนื่อยล้ารึเปล่า พอเริ่มสังเกตแล้วก็ดูว่าเราจะจัดการยังไงต่อ ยกตัวอย่าง เวลาเราไม่สมดุล บางคนเลือกไปนั่งสมาธิ บางคนไปวิ่งก็หาย ถ้าเราแฮปปี้กับการวิ่ง บางคนไปกิน ไปทำอาหาร เล่นดนตรี ไปฟังเพลง ดูคอนเสิร์ต ทุกๆ อย่างสามารถเป็นตัวเลือกในการปรับสมดุลให้เราได้ แต่ศิลปะบำบัดนี้คือพื้นที่สำหรับมาเชื่อมโยงตัวเองอีกครั้งนึงด้วย Creative Process”
กระบวนการสร้างสรรค์...ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด
“บางคนเข้าใจว่าศิลปะบำบัดคือการที่ คุณวาดภาพมาภาพนึง แล้วนักบำบัดจะอ่านสิ่งที่คุณเป็นได้หมด แต่ปัทมองว่าคนที่สร้างงานศิลปะคือคนที่เล่าความหมายได้ดีที่สุด ส่วนเราเป็นผู้ทำกระบวนการ เป็นคนที่จะเดินทางไปพร้อมกับคนๆ นั้น เป็นกระบวนการทำงานกับทุกสิ่งที่อยู่ข้างในใจ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ปัทใช้เทคนิคนึงที่เรียกว่า Visual Thinking Strategy เราหยิบภาพขึ้นมาภาพนึง ถามว่านักเรียนเห็นอะไรในภาพบ้าง พอเขาเริ่มพูดจากสิ่งที่เขาเห็น ไดอะลอคจะเริ่มจากตรงนั้น เขาจะไม่กลัวผิด เพราะเขาพูดจากสิ่งที่เห็น บางคนอาจจะเห็นแพะ เห็นคนเดินมากับแพะ ปัทก็จะถามต่อว่าแล้วคิดว่าเขาทั้งสองคนเดินมาจากไหน แล้วก็ไม่มีใครถูกใครผิด เพราะว่าทุกๆ คนมีความคิดไม่เหมือนกัน มีประสบการณ์ต่างกัน แล้วเราก็เป็นผู้ดำเนินกระบวนการ”
“ทุกคนจะคิดว่าศิลปะเป็นสิ่งสำหรับเด็กๆ แต่จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ก็ต้องการเล่น ต้องการมือเลอะ ต้องการการฉีกกระดาษ ขยำกระดาษ เพราะแอคชั่นของการที่เราทำอะไรบางอย่างที่ผิดพลาด เราเลอะ มันเป็นความรู้สึกที่ฟิน ที่ให้เราเริ่มต้นใหม่ได้ ไม่อยากให้พวกเราลืมเรื่องนี้ไป ว่า ครีเอทีฟเป็นส่วนนึงที่จะช่วยเรื่องของการสร้างสุขภาวะหรือ well-being อยากให้ Persona เป็น Art Space for Well-being”
Persona สตูดิโอที่รอทุกคนเดินเข้ามาเปิดประสบการณ์ใหม่กับงานศิลปะ
“ปัทอยากจะให้ เพอโซน่าคือพื้นที่จะเปิดประสบการณ์ความเป็นไปได้ ด้วยกระบวนการของศิลปะ เหมือนกับเวลาเราใช้ชีวิต เราไปแฮงค์เอ้าท์ในห้าง เราไปอยู่คาเฟ่ เราไปดูหนัง แต่ปัทคิดว่ามันคงจะดีถ้ามีพื้นที่นึงที่อย่างน้อยเดือนนึงเรามาใช้เวลาสร้างอะไรบางอย่างให้ตัวเองด้วยศิลปะ แล้วเป็นที่ๆ ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ ปัทอยากจะจัดโอเพ่นกรุ๊ปโดยการใช้ศิลปะ สำหรับทุกๆ คนที่สนใจ ที่ไม่ต้องมีแบ็คกราวน์ศิลปะเลย ไม่ต้องวาดรูปได้ ไม่ต้องเป็นศิลปิน เพียงแค่สนใจที่จะมาลองประสบ
เห็นมั๊ย ว่า "ศิลปะ" ก็สามารถนำมาใช้บำบัดใจของเราได้ ว่างๆ ก็ลองชวนเพื่อนๆ ไปเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ Persona กันดูบ้างดีกว่า