ดูแลจิตใจจากอาการ Post-Traumatic Stress Disorder

เหตุการณ์สะเทือนใจที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ในประเทศไทย คงเป็นอะไรไม่ได้นอกจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและนี่อาจเป็นเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจครั้งแรกในชีวิตของใครหลายๆ คน! 


เราได้มีโอกาสฟังงานเสวนาและพูดคุยกับ รศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร แพทย์เฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น แผนกศูนย์จิตเวช LET’S TALK โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน เกี่ยวกับความรู้เรื่องโรค PTSD และแนวทางดูแลจิตใจตัวเองหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ มาดูกันว่าเราควรรับมืออย่างไร ไม่ให้ใจพังหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง 

PTSD  หรือ Post-Traumatic Stress Disorder คืออะไร?
PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder คือสภาวะทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบเทือนร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คุกคามถึงชีวิตและสวัสดิภาพ เช่น การสูญเสียคนรัก อุบัติเหตุการโดนทำร้ายร่างกาย สงคราม หรือภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น จนอาจทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ ทำให้รู้สึกเครียด วิตกกังวล จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการนี้แตกต่างจาก Panic disorder หรือโรคแพนิก ที่บางทีไม่ต้องมีแรงกระตุ้นก็สามารถเกิดอาการแพนิกได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของความสมดุลของสารเคมีในสมอง และปัจจัยอื่นๆ 

อาการแบบไหน? ถึงเข้าข่าย PTSD 
  • Re-experiencing: อาการหลอน ยังรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานการณ์นั้น ความรู้สึกวนเวียนอยู่ในห้วงนั้น อาจเป็นเกี่ยวกับประสาทสัมผัส ภาพจำ หรือความรู้สึกในช่วงนั้นย้อนกลับมาซ้ำๆ อาการนี้มักเป็นเวลาอยู่คนเดียว เงียบๆ ซึ่งอาจเริ่มเกิดหลังจากเหตุการณ์นั้นจบไปแล้ว 
  • Avoidance: พยายามที่จะหลีกเลี่ยงสถานที่นั้นๆ ไม่อยากไป ไม่อยากเห็น ไม่อยากรับฟัง และไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  • Cognition & Mood change: อาจมีอาการสะดุ้งหรือผวาง่าย รวมไปถึงนอนไม่หลับเนื่องจากสมองส่วนนึงมีการทำงานเยอะขึ้น 
  • Hyperarousal & Reactivity: การที่ประสาทตอบสนองไวเกินไป เช่น พอได้ยินข่าวหรือคนพูดว่าตึกโคลง ตึกโยก เราก็พร้อมที่จะหยิบกระเป๋าแล้ววิ่งทันที 

พวกนี้เป็นอาการสำคัญที่อาจเกิดขึ้นได้หลังเจอเหตุการณ์สะเทือนขวัญในหลายๆ มุม ไม่ใช่แค่เรื่องเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่สามารถรวมไปถึงการสูญเสียคนรัก การถูกทำร้าย หรือแม้กระทั่งการถูกข่มขืนก็ตาม แต่เรายกตัวอย่างเหตุการณ์ที่หลายคนเพิ่งเผชิญมาอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพราะเหตุการณ์นี้อาจทำให้เราเห็นภาพและเข้าใจอาการเหล่านี้มากที่สุด



ปัจจัยสำคัญ หรือ Risk factors ที่กระตุ้นอาการ PTSD  
  • ระยะเวลาในการรู้สึกกลัว เช่น คนที่วิ่งลงมาจากชั้นสูงจะมีเวลากลัวนานกว่าคนที่อยู่ชั้นล่างๆ ความคิดของพวกเขาจะวนเวียน ความกลัวตายมากๆ จากชั้นบนจนถึงชั้นล่าง อาจทำให้ยิ่งวนเวียนในสมองจนเอาออกไปไม่ได้
  • อาการบาดเจ็บ ที่อาจเกิดจากการวิ่งหนี หรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่เหมือนเป็นการย้ำเตือนว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับพวกเขา หรือแม้กระทั่งได้เห็นความเป็น ความตายตรงหน้าเช่นเดียวกัน
  • การที่ต้องโยกย้าย Location หลังจากบ้านหรือห้องคอนโดได้รับผลกระทบก็ส่งผลต่อจิตใจได้เช่นเดียวกัน 
  • ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเสพข่าว ซ้ำไปซ้ำมา ทำให้รู้สึกตกอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ ไม่สามารถออกมาได้ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบนึงของ Re-experiencing นั้นเอง
  • คนที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มที่มีอาการของโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว รวมไปถึงภาวะวิตกกังวล หรือโรคแพนิก เพราะเหตุการณ์พวกนี้อาจกระตุ้นให้อาการของคนกลุ่มนี้รุนแรงกว่าปกติได้

ทำยังไงดี? กังวลไปหมด นอนก็ไม่หลับ จะต้องเป็นแบบนี้อีกนานไหม
ถ้าเหตุการณ์เพิ่งผ่านไปไม่นาน เราจะค่อยๆ ดีขึ้นเองลองทำตามที่คุณหมอแนะนำให้ช่วงแรกก่อน เพราะส่วนใหญ่ถ้าระยะเวลาที่เป็นน้อยกว่า 1 เดือน แพทย์อาจยังไม่วินิจฉัยว่าเป็น PTSD แต่อาจวินิจฉัยว่าเป็น Acute stress disorder หรือโรคเครียดฉับพลันนั้นเอง 

ตามวิจัยแล้วการป้องกัน PTSD เบื้องต้น ที่ WHO (World Health Organization) รองรับก็คือ Psychological First Aid (PFA): Look, Listen, Link นั้นเอง
  • Look ก็คือการมองหาความปลอดภัยให้ทั้งตัวเองและคนอื่น หรือเข้าช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ 
  • Listen คือการรับฟัง แต่เราจะไม่ยัดเยียดให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องฝืนพูดสิ่งที่ทำให้เขาเจ็บปวดขึ้นมา
  • Link คอยอัพเดตข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่เสพจนเยอะเกินไป เชื่อมโยงกับความต้องการเบื้องต้น หรือช่วยผู้ที่ต้องมองหาความช่วยเหลือ

จัดการยังไงด้วย Do and Don’t 
Don’t: สิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจทำให้สมองของเราไม่ได้พัก และทำให้ฟื้นฟูจากสภาวะเครียดได้ช้าลง 
  • เสพข่าวซ้ำไปซ้ำมา 
  • ใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเข้ามาช่วยบรรเทา
  • กินยานอนหลับ
  • บังคับให้ใครเล่าเรื่องสะเทือนใจซ้ำๆ

Do: สิ่งที่ทำได้ เริ่มต้นด้วยตัวเราเอง 
  • พยายามใช้ชีวิตให้ปกติที่สุด พูดคุยเรื่องทั่วไป พยายามไม่ยกหัวข้อสะเทือนใจ หรือแผ่นดินไหวมาพูดซ้ำๆ
  • ลองทำ Breath exercise การควบคุมลมหายใจเข้าออก วิธีนี้สามารถช่วยลดอาการแพนิกในระยะยาวหากเรารู้จักการควบคุมลมหายใจ เราจะไม่ตื่นตระหนกถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้อีก 
  • ถ้านอนไม่หลับ อาจลองหาอะไรผ่อนคลายฟัง เป็นการช่วยเรื่อง mindfulness ให้เราฮีลใจตัวเองได้


ถ้าไม่ไหว แล้วสัญญาณแบบไหนถึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ 
รศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร บอกว่า ถึงแม้ว่าถ้ามีอาการน้อยกว่า 1 เดือน อาจเป็นเพียงภาวะเครียดเฉียบพลัน แต่ถ้าหากรู้สึกไม่ไหว อาการเหล่านี้รบกวนการใช้ชีวิตมากเกินไป นอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้ ไม่ต้องรอให้ครบเดือนก็ได้ สามารถเข้าติดต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทันที 

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เรายังไม่รู้สึกสบายใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือต้องการพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ต้องกลัว สามารถติดต่อได้เลยที่ศูนย์ LET’S TALK ศูนย์จิตเวช โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน ทางศูนย์มีแพทย์เฉพาะทางที่สามารถให้ความช่วยเหลือดูแลอย่างครบวงจร แถมสถานที่ยังเน้นให้เรารู้สึกปลอดภัย และอบอุ่น คุณหมอทุกคนเป็นกันเองพร้อมดูแลทุกเพศทุกวัย

ติดต่อเพิ่มเติม: 
ศูนย์จิตเวช (LET'S TALK): โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน อาคาร 4 ชั้น 5 คลินิกจิตเวช
เวลาทำการ: เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 20.00 น.
เบอร์โทรศัพท์: Call Center 1772 ต่อ 40595-96

ขอบคุณข้อมูลจาก
รศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร แพทย์เฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น
แผนกศูนย์จิตเวช LET’S TALK โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน
https://iris.who.int/bitstream/handle/10665/44615/9789241548205_eng.pdf
-->