จริงหรอ? 35 อัพก็มีลูกได้แบบโนวอรี่

พอดีแอบไปเห็นคำถามที่ชาวเน็ตทิ้งไว้ในเว็บต่างๆ เกี่ยวกับการเป็นคุณแม่ตอนอายุ 30 ปลายๆ วันนี้เราเลยมีโอกาสจับเข่าคุยเพื่อหาคำตอบให้คุณซะเลย โดยมีแพทย์หญิง เยาวภา จงเป็นสุขเลิศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยาก และ คุณหมอลินลดา วิจักขณ์อุรุโรจน์ จากคลินิกสูติกรรม รพ.พญาไท3 ที่จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ของคุณแม่ที่ท้องตอนอายุมาก  รวมถึงปัญหาสุขภาพอะไรบ้างที่คุณแม่วัยนี้ควรวอรี่มากที่สุด? และภาวะนี้มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่?  
 

 ภาวะมีบุตรยากคืออะไร? 

ความจริง American Society for Reproductive Medicine ได้เคยให้ความหมายของคำว่า  “ภาวะมีบุตรยาก” หรือ Infertility เอาไว้ว่า คือภาวะที่คู่สมรสไม่สามารถมีการตั้งครรภ์ได้ โดยทั้งคู่ต้องมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วันโดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นระยะเวลา 1 ปี  หรือระยะเวลา 6 เดือนในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป 
 
คุณหมอเยาวภาเล่าว่า "ปัจจุบัน อายุเฉลี่ยส่วนใหญ่ของคุณแม่ที่เข้ารับการรักษาและมีปัญหามีบุตรยากนี้อยู่ที่ประมาณ 30-40 ปี โดยมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับสถิติในปี 2562 และปี 2563  คาดว่าอาจเป็นเพราะไลฟ์สไตล์ของคุณผู้หญิงยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป เช่น การทำงานหรือการเป็น Working Woman ที่มีเป้าหมายในการประสบความมสำเร็จในชีวิต"
 

 สาเหตุของ ภาวะบุตรยากนั้นคืออะไรกันแน่?

จากที่คุยกับคุณหมอทั้งสองท่าน ทำให้ทราบว่าสาเหตุและปัจจัยในการมีบุตรยากของคู่สมรสเกิดได้จากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แบ่งได้ดังนี้
 

1.สาเหตุที่ทำให้เกิด “ภาวะมีบุตรยาก” ในผู้หญิง  ยกตัวอย่างเช่น

=> มีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่ เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่บริเวณนอกโพรงมดลูก บางครั้งก็อาจกระจายไปสู่อวัยวะอื่นซึ่งอยู่ไกลออกไป เช่น กระบังลม ปอด และ ช่องเยื่อหุ้มปอด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะปวดท้องน้อยเรื้อรัง รู้สึกเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ซึ่งทำให้คุณผู้หญิงต้องเลี่ยงกิจกรรมบนเตียงไป ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์เลยน้อย ทำให้ลดโอกาสการตั้งครรภ์ไปด้วย 
 
=> มีความผิดปกติในช่องเชิงกราน เช่น มีเยื่อพังผืดหรือเนื้องอกยึดเบียดจนทำให้ท่อนำไข่ทำงานได้ไม่ปกติ
 

และ 2.สาเหตุที่ทำให้เกิด “ภาวะมีบุตรยาก” ในผู้ชาย  ยกตัวอย่างเช่น

คุณผู้ชายอาจมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้มีลูกยากตามนี้…
 
 =>เสพติดสุรา : ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลพญาไทบอกว่า การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจะไปทำให้ปริมาณอสุจินั้นลดลง ไม่แข็งแรง เคลื่อนไหวไม่ดี และยังทำให้เกิดลักษณะของอสุจิผิดรูปไปด้วย  ที่สำคัญยังมีส่วนทำให้โอกาสในการมีลูกลดลงมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์  

=>ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์: Feiby Nassan นักวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบอกว่าคุณผู้ชายที่กินอาหารประเภท junk food เช่น พิซซ่า อาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง และขนมหวานจะทำให้เชื้ออสุจิลดน้อยลงกว่าเกณฑ์ปกติถึง 25 เปอร์เซ็นต์
 
=>มีภาวะมีการหลั่งอสุจิเร็วเกินไป (premature ejaculation) :ภาวะนี้คือการที่ฝ่ายชายไม่สามารถควบคุมการหลั่งของอสุจิให้นานพอที่จะทำให้ฝ่ายหญิงรู้สึกแฮปปี้ได้ ส่งผลให้ฝ่ายหญิงรู้สึกไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ด้วยบ่อยๆ  ในบางเคสมีการหลั่งอสุจิออกมาภายในเวลาเพียง 15 วินาทีเท่านั้น ซึ่งความจริงค่าเฉลี่ยของการหลั่งอสุจิในผู้ชายจะต้องอยู่ที่ 2-10 นาที

แล้วอะไรคือ “สาเหตุหลัก” ที่ทำให้คุณแม่วัย 35 อัพมีลูกยาก?

สาเหตุที่ทำให้คุณผู้หญิงวัยนี้เจอกับปัญหามีลูกยาก คุณหมอเยาวภาบอกว่ามีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักนั้นได้แก่... 
 
1. อายุที่มากขึ้น  เพราะยิ่งอายุมาก ร่างกายอาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน เช่น อาจมีภาวะไข่ไม่ตก (Anovulation) คือภาวะของการไม่มีฟองไข่ตกออกมาจากรังไข่เพื่อไปรอรับการปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิประมาณวันที่14หลังการมีประจำเดือน
 
2. มีโรคประจำตัว เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) อย่างที่เราอธิบายไปก่อนหน้า 

 เมื่อมีลูกยาก คุณหมอเขาทำยังไงคุณถึงมีลูกได้?

ปัจจุบันมีนวัตกรรมหลากหลายมากที่เข้ามาช่วยให้คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ได้สมความตั้งใจ และหนึ่งในนั้นคือ การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF(In vitro fertilization) ที่เป็นการนำไข่และอสุจิมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการก่อนจะนำไข่ที่ได้รับการผสมแล้วกลายเป็นตัวอ่อนย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูกของคุณผู้หญิง 
 
เมื่อทำการย้ายตัวอ่อนได้สำเร็จ สำหรับบางเคส เราไปค้นเจอข้อมูลเพิ่มเติมที่อธิบายว่า คุณหมออาจจะจ่ายฮอร์โมนโพรเจสเตอร์โรนเพื่อเพิ่มโอกาสในการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูกเพื่อป้องกัน “ภาวะตัวอ่อนไม่ฝังตัว”หรือการไม่ตั้งครรภ์หลังจากมีการย้ายตัวอ่อนไปแล้ว การใช้ยานี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่เก็บเซลล์ไข่หรือวันที่ทำการย้ายตัวอ่อน  วิธีที่เป็นที่นิยมใช้กันมากคือการนำมาใช้ในรูปแบบของยาเหน็บช่องคลอดหรือยาเม็ดที่ใช้รับประทาน โดยจะมีส่วนช่วยทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์นั้นอยู่ที่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ได้ สิ่งที่คุณต้องเตรียมพร้อมคือค่าใช้จ่ายเป็นหลัก เพราะการทำแต่ละครั้งไม่สามารถการันตีได้ว่าจะให้ผลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์  

 วิธีป้องกันความเสี่ยง “ภาวะพิการ” ในทารกก่อนการตั้งครรภ์

หากคุณแม่อยากลดความเสี่ยงไม่ให้ทารกมีภาวะพิการในอนาคต หรือลดความเสี่ยงนี้ให้เหลือน้อยลงที่สุด คุณหมอลินลดาแนะนำว่า คุณผู้หญิงควรท้องก่อนอายุ 35 จะเป็นการลดความเสี่ยงได้ดีที่สุดระดับนึง  
 
แต่กรณีที่ท้องตอนอายุเยอะแล้ว ภาวะพิการที่แม่ต้องคำนึงหลักๆ คือ “ภาวะพิการในกลุ่มดาวน์ซินโดรม” ซึ่งก่อนที่จะทำให้แม่มีการท้องนั้น จะสามารถคัดกรองได้ในระดับหนึ่งด้วยการทำ IVF โดยจะมีการตรวจเช็กตัวอ่อนเพื่อคัดกรองตัวอ่อนที่แข็งแรงที่สุดก่อนการนำไปผ่านกระบวนการ ส่วนโอกาสที่ทารกจะเสี่ยงมีภาวะพิการนั้นมีระบุไว้ในรายงานแค่ว่า "โอกาสเกิดนั้นต่ำ" ซึ่งเรายังไม่เจอรายงานเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนว่าโอกาสที่จะเกิดความพิการในทารกนั้นอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์กันแน่  

 วิธีสังเกตภาวะเสี่ยงต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์

การสังเกตภาวะครรภ์เสี่ยงต่างๆ มีหลากหลาย เราขอยกแค่บางกรณี เช่น การเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ที่คุณแม่ต้องโฟกัสเรื่องอาการผิดปกติ เช่น  รู้สึกกระหายน้ำบ่อย อ่อนเพลียมาก โดยอาจจะป้องกันไวด้วยการเน้นทานอาหารที่มีไฟเบอร์อย่างผัก  ส่วนกรณีครรภ์เป็นพิษที่สาเหตุอาจเกิดจากการฝังรกที่ผิดปกติ อาการผิดปกติ อย่างคลื่นไส้และอาเจียนหนัก คุณแม่ก็ต้องคอยสังเกตตัวเองให้ดีดีแล้วรีบไปพบแพทย์

 อย่าลืมบำรุงร่างกายระหว่างท้องด้วย  “กรด Folic Acid”

คุณแม่ควรทานกรด Folic Acid อย่างน้อยวันละ 1 เม็ด หรือจะทานก่อนการตั้งครรภ์ล่วงหน้าก็ได้เพราะ Folic Acid คือวิตามินบีชนิดหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างการผลิตเซลล์ใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ตั้งครรภ์ และอาจช่วยป้องกันการแท้งบุตร ความพิการแต่กำเนิดที่เกี่ยวกับสมองและกระดูกสันหลังของทารกได้

ทำไมตั้งท้องตอนแก่ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด? 

 
“ที่จำได้คือเคยมีเคสนึง คุณแม่เริ่มท้องตั้งแต่อายุ 20 กว่า แต่ท้องกี่ครั้งเขาก็แท้งเรื่อยๆ ทำให้มีลูกไม่สำเร็จซักที  แต่มารับการรักษาช่วงอายุใกล้เลขสี่ก็เจอว่าร่างกายเขามีความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้เกิดการต่อต้านตัวอ่อน เลยจ่ายยาเพื่อให้เขาตั้งครรภ์ได้ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของเราอย่างเคร่งครัด แล้วเขาก็มีน้องได้สำเร็จ”
                                                                                   - แพทย์หญิง เยาวภา จงเป็นสุขเลิศ-
 
จากเคสที่คุณหมอเยาวภาเล่า พบว่า การแท้งซ้ำๆ จะเรียกว่า “ภาวะแท้งซ้ำซาก” (Recurrent pregnancy loss) ซึ่งทางสมาคมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ของสหรัฐอเมริกาได้ให้คำนิยามไว้ว่า หมายถึง การแท้งบุตรมากกว่าหรือเท่ากับสองครั้งติดต่อกัน สาเหตุการแท้งที่ทำให้มีบุตรยากนั้นมีหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับอายุของหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ที่แท้ง ประวัติโรคประจำตัวและการใช้ยา ซึ่งหากมีการแท้งซ้ำติดต่อกัน 3 ครั้ง ครรภ์ต่อไปก็จะมีโอกาสแท้งมากถึง 73-84 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหานี้จะไม่น่ากังวล เมื่อคุณปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและปฏิบัติตัวภายใต้คำแนะนำอย่างเคร่งครัด 
 

นอกจากนี้ Do you Know? ความจริงแล้วคนอายุน้อยก็มีลูกยากได้เหมือนกัน!

แม้ว่าความหมายของการมีภาวะมีบุตรยาก (Infertility) ที่ทางการแพทย์บอกนั้นหมายถึง คู่สามี-ภรรยาอายุ 35 ปีขึ้นไป ในความเป็นจริง คุณแม่อายุน้อยกว่าก็มีภาวะนี้ได้เช่นกัน 
 
คุณหมออธิบายว่า “คุณแม่ที่มีปัญหาด้านมีบุตรยากส่วนใหญ่อายุจะ 35 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ แต่ในเคสของคนอายุน้อยก็มีเหมือนกัน อย่างในกรณีที่มีโรคประจำตัว เช่น มีเนื้องอกในมดลูก ความผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้นในอุ้งเชิงกราน หรือเยื่อบุในโพรงมดลูกเจริญผิดที่”

ก่อนไป...ขอทิ้งท้ายเรื่องสุดเซอร์ไพรส์! รู้ยัง? อายุ 50 อัพคุณก็ยังมีลูกได้นะ
โดยหลักการธรรมชาติ เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โอกาสในการตั้งท้องนั้นต่ำมาก แต่ถ้าใช้วิทยาศาสาตร์เข้าช่วย เช่น การทำเด็กหลอดแก้วที่มีการใช้ไข่ที่คุณรับมาจากคนอื่น(ไข่บริจาค) มาสร้างการปฏิสนธิกับสเปิร์มก่อนย้ายตัวอ่อนสู่โพรงมดลูก ต่อให้อายุ 50 คุณก็ยังสามารถทำได้ และอีกหนึ่งข้อสำคัญคือ “คุณต้องมีมดลูก” เพราะหากสูญเสียมดลูกไป คุณผู้หญิงจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก
 
บทสรุปเรื่องการมีลูกในวัยสามสิบปลายอัพคือ “มีได้และไม่น่ากลัว” เพราะหากอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เรื่องการท้องกับภาวะเสี่ยงอันตรายต่างๆ ก็ไม่น่าทำให้คุณต้องวอรี่


 
 
 
 
-->