คอนเฟิร์มกันให้ชัด! ล้างไต ทำให้ตัวดำ จริงมั้ย?
หลายๆ คนอาจจะรู้แค่ว่าไตมีหน้าที่กรองของเสีย แต่ไม่รู้ว่าที่จริงแล้ว ไตนั้นเป็นอวัยวะหลักที่รับหน้าที่สำคัญมากต่อร่างกาย เพราะถ้าหากไตของเราทำงานไม่ปกติ ก็จะส่งผลให้ระบบอื่นๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติตามไปด้วย นอกจากนี้หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าการฟอกไตทำให้ตัวดำคล้ำขึ้นจริงมั้ย? วันนี้เราเลยพามาหาคำตอบกับ พญ.โชติมา พิเศษกุล แพทย์ศูนย์อายุรกรรมโรคไต โรงพยาบาลพญาไท 3 กันเพราะโรคไต…ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
คุณหมออธิบายว่าสาเหตุของโรคไตที่พบได้บ่อยๆ นั้นมักจะเกิดจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น เรื่องของอายุ เบาหวาน และโรคอ้วน ส่วนใครที่คิดว่าการไม่กินเค็มแล้วจะรอด ต้องบอกเลยว่าไม่เสมอไป “สาเหตุอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้กินอาหารที่มีรสเค็มก็สามารถเกิดโรคไตได้เหมือนกัน เช่น เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต มีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือแม้แต่โรคทางพันธุกรรม ก็สามารถทำให้เกิดไตเสื่อมได้เหมือนกัน”
อายุน้อย…ก็ใช่ว่าจะรอดความเสี่ยง
หลายคนอาจเกิดการเข้าใจผิดว่าคนเป็นโรคไตก็ต้องอายุมากเท่านั้น แต่จริงๆแล้วคุณหมอบอกว่าโรคไตเกิดขึ้นได้กับทุกคน “อายุน้อยก็สามารถเป็นได้ ที่พบได้บ่อยเลยก็คือโรคไตอักเสบ อย่างเคสของคนที่มีความดันสูงตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็ควรต้องเข้ามาเพื่อรับการตรวจเพิ่มเติ่ม อย่างเช่น ถ้าอายุ 20-25 ปี มีความดันสูงกว่าปกติ ก็แนะนำให้มาตรวจเพิ่ม เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดไตอักเสบได้เหมือนกัน”
เป็นไต…แค่ต้มสมุนไพรก็หาย จริงหรือ ?
มาดูความเชื่อที่ถูกแชร์ในกลุ่มไลน์ของแม่ๆ หรือผู้สูงวัยกันบ้าง เกี่ยวกับเรื่องการกินสมุนไพรแล้วจะทำให้หายจากโรคไตได้นั้น คุณหมออธิบายว่า “คนชอบเข้าใจผิดคิดว่าไปหาสมุนไพรมากินเองก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น เม็ดลิ้นจี่ ตับหมู หญ้าปักกิ่ง หญ้าหนวดแมว แต่หมออยากแนะนำว่าการรักษากับแพทย์โดยตรงจะดีที่สุด เพราะสมุนไพรเหล่านั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาของโรค ซ้ำอาจจะยังเป็นอันตรายต่อคนไข้ได้”
การฟอกไต…อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน
หลายๆ คนอาจมีความเข้าใจผิดว่าถ้าเป็นโรคไตต้องเข้ารับการฟอกไตเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว โรคของไตเป็นโรคที่กว้างมาก จึงต้องให้แพทย์พิจารณาว่าจำเป็นต้องฟอกหรือไม่ ซึ่งสำหรับโรคที่จำเป็นจะต้องฟอก เช่น โรคไตเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยบางเคสอาจไม่ต้องเข้ารับการฟอกไตก็ได้ “ถ้าเป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถ้าผู้ป่วยอยู่ในระยะ 3-4 อาจยังไม่ถึงกับต้องฟอกไต จะเป็นการปรับยา คอยมาตรวจเลือด ปรับเรื่องอาหาร เพราะผู้ป่วยเป็นโรคไตก็จริงแต่ยังไม่ถึงระยะที่ 5“
ใครต้องฟอกไต…ใช้อะไรเป็นเกณฑ์
ใครได้ยินว่าต้องฟอกไตก็คงต้องร้องโฮ เพราะทั้งกลัว ทั้งเศร้าในเวลาเดียวกัน แต่มาฟังคุณหมอก่อนว่าคุณหมอมีวิธีการยังไงบ้าง “ถ้าเป็นเรื่องของการฟอกไต จะเป็นโรคไตในระยะสุดท้ายแล้ว หรือเรียกได้ว่าเป็นระยะที่ 5 ของไตเสื่อมนั่นเอง ระยะที่ 5 หมายความว่าไตยังทำงานอยู่ก็จริง แต่เหลือประสิทธิภาพการทำงานน้อยกว่า 15% โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะมีอาการบวม ตอบสนองกับยาขับปัสสาวะน้อยลง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ตัวซีด เหนื่อย อ่อนเพลีย อาการที่กล่าวมาก็จะรู้แล้วว่าคนไข้ร่างกายเริ่มไม่ค่อยไหว แพทย์ก็จะพิจารณาให้ใช้ยาและทำการฟอกไต หรือเปลี่ยนถ่ายไต แต่ถ้าในอีกกรณีนึงที่คนไข้ในระยะที่ 5 ยังไหว เช่น ตัวไม่บวมมาก ไม่มีน้ำท่วมปอด ภาวะซีด เมื่อแก้ด้วยยาแล้วยังได้ผลดีและสามารถกินข้าวได้ แบบนี้ยังสามารถที่จะประทังด้วยการใช้ยาก่อนได้เหมือนกัน”
ทำความเข้าใจเมื่อต้องฟอกไต…ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว
“หมอต้องอธิบายก่อนว่า การฟอกไตเหมือนกับเซเว่นที่ทำงาน 24 ชม. แม้เรานอนหลับไตก็ยังทำงานเหมือนเดิม ตื่นมาเราก็ยังปัสสาวะ เพราะฉะนั้นไตปกติทำงานตลอดเวลา แต่เมื่อเรารับการฟอกไตก็เหมือนกับเรามีตัวช่วย 8-12 ชม. ต่อสัปดาห์ ถ้าไตธรรมชาติจะสามารถขับของเสียออกได้ตามปกติเลย แต่เวลาเราฟอกไตก็ยังไม่สามารถที่จะเอาของเสียออกได้เท่ากับไตปกติ เพราะจะมีของเสียบางประเภทที่ยังตกค้างอยู่ อาจทำให้รู้สึกว่าฟอกไตไปสักพักนึงผิวคล้ำและแห้ง ก็เพราะเรามีของเสียอยู่ในตัว จึงต้องมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องได้รับการฟอกไตเพื่อเอาของเสียออกมานั่นเอง”
หมดข้อสงสัย ‘เมื่อฟอกไต ทำไมตัวดำ’
“การฟอกไตอย่างที่บอกยิ่งถ้าเป็นการฟอกไตแบบมาตรฐานเนี่ย ของเสียที่เป็นขนาดโมเลกุลที่ใหญ่หน่อยจะไม่ค่อยออกมาหมด พวกนี้จะทำให้ตกค้างในร่างกาย เพราะยิ่งมีสิ่งตกค้างในร่างกายจะเป็นตัวกระตุ้นเม็ดสีผิวให้ทำงานมากกว่าปกติ ทำให้สีผิวดำและแห้งกว่าปกติ นอกจากเรื่องผิวคล้ำแล้วก็ยังมีเรื่องของตัวของเสียที่ตกค้างจะทำให้มีการอักเสบเรื้อรังของเส้นเลือดอีกด้วย เส้นเลือดจะเสื่อมเร็วขึ้น มีผลกับคุณภาพการนอน หรืออาการคันตามร่างกาย”
ทางเลือกใหม่…เครื่องฟอกไต Online Hemodiafiltration
ผู้ป่วยโรคไตอาจคุ้นเคยกับเครื่องฟอกไตแบบมาตรฐาน แต่เครื่องฟอกไต Online Hemodiafiltration ก็ถือว่าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยที่ดีต่อใจ เพราะดูเหมือนจะทำให้สีผิวดำคล้ำน้อยกว่า เมื่อเทียบกับคนไข้ที่ฟอกไตด้วยวิธีมาตรฐาน เนื่องจากสามารถนำเอาของเสียออกจากร่างกายได้ในโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น ทำให้การตกค้างของของเสียในร่างกายลดน้อยลง การกระตุ้นเม็ดสีที่ทำให้ผิวดำคล้ำจึงลดน้อยลงไปด้วย รวมถึงช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ได้
สุดท้ายคุณหมอได้ฝากไว้ว่า เมื่อคนไข้ที่รู้ตัวว่าเป็นโรคไตแล้ว อยากให้ทำความเข้าใจตัวโรคจริงๆ เพราะส่วนใหญ่เมื่อคนไข้รู้ว่าเป็นโรคนี้ คนไข้จะไม่เปิดรับการรักษา ดังนั้นหมอแนะนำให้คนไข้คุยกับหมอประจำตัวให้เข้าใจก่อนว่าโรคไตที่เป็นคือโรคไตอะไร ระยะไหน และมีเป้าหมายในการรักษาอย่างไร เมื่อมีเป้าหมายที่ตรงกันแล้ว การรักษาก็จะได้ง่ายขึ้น และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเรามีความเข้าใจในตัวโรค