ของหวานแก้เครียด...เรื่องจริงหรือแค่ข้ออ้าง
“กินของหวานแล้วทำให้อารมณ์ดี” ฮั่นแน่ รู้นะว่าหลายๆ คนก็เคยแอบใช้ประโยคนี้มาเป็นข้ออ้างทำให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลงเวลากินของหวาน โดยที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าที่อารมณ์ดีขึ้นมานั้น เพราะน้ำตาลในของหวานไปทำปฏิกิริยาในร่างกาย หรือแค่ว่าติดความหวานกันแน่ และถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสกอตแลนด์ ที่ศึกษาพบว่าการกินน้ำตาลช่วยให้ความจำดีขึ้น จดจำได้มากขึ้น แถมยังต่อสู้กับโรคสมองเสื่อมได้อีก ก็อย่าได้ชะล่าใจไป เพราะถ้าขืนกินมากไป นอกจากจะทำให้น้ำหนักพุ่งขึ้นมาโดยไม่ทันรู้ตัวแล้ว ยังอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้อีก แล้วอย่างนี้จะกินของหวานอย่างไรให้ร่างกายยังคงได้รับประโยชน์ และไม่เสี่ยงอันตราย คงต้องให้ นพ.ต่อศักดิ์ โหระวงศ์ แพทย์อายุรกรรมทั่วไป โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 มาไขข้อข้องใจให้กับสายหวานยืนหนึ่งได้รู้กัน
น้ำตาลช่วยให้อารมณ์ดี...คำพูดนี้จริงแค่ไหน
“ก็อาจจะมีส่วนจริงอยู่บ้างนะครับ ในกรณีที่ถ้าเกิดช่วงนั้นเราไม่ได้กินอาหาร หรือมีน้ำตาลในเลือดตกก็อาจจะหงุดหงิดง่าย ซึ่งถ้าได้สารอาหารที่เป็นน้ำตาลก็จะดีขึ้น และอีกกรณีก็อาจจะมีผลในเรื่องของฮอร์โมนบางตัวที่เพิ่มมากขึ้น เช่น เอนโดฟีนก็เลยทำให้ความรู้สึกอารมณ์ดีมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องของอารมณ์แล้วของหวานก็มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยเหมือนกัน เพราะจัดอยู่ในกลุ่มอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ที่ให้พลังงาน และมีส่วนช่วยในระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายด้วย” นพ.ต่อศักดิ์ อธิบาย
ของหวาน...กินแค่ไหนถึง (พอ) ดี
ในส่วนของการกินน้ำตาลนั้น โดยปกติอาหารแต่ละชนิดก็มีค่าน้ำตาล หรือดัชนีความหวาน ในอาหารหรือผลไม้แต่ละอย่างไม่เท่ากัน ดังนั้นต้องดูปริมาณโดยรวมต่อวันในอาหารแต่ละชนิดที่เราได้รับ เช่น ถ้าเป็นน้ำอัดลมก็อาจจะมีปริมาณน้ำตาลสูงหน่อยต่อหน่วยที่เท่ากัน 100 กรัม เพราะฉะนั้นก็ต้องดูเป็นชนิดๆ ไปมากกว่า นอกจากนี้ก็อาจจะต้องดูในเรื่องของอายุ และกิจกรรมที่ทำของแต่ละคนด้วย ถ้าเกิดว่าเป็นคนที่มี activity เยอะ ใช้พลังงานเยอะ ก็อาจจะบริโภคได้เยอะหน่อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เฉลี่ย 4 – 8 ช้อนชา หรือคิดเป็น 16 – 32 กรัมต่อวัน สำหรับในบุคคลทั่วๆ ไป แต่ในปัจจุบันสังเกตว่าคนมักจะติดเครื่องดื่มรสหวาน อย่าง ชานม ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็อาจจะใส่ความหวานไม่เท่ากัน หรือมีให้เลือกหลายระดับความหวาน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะใส่น้ำตาลค่อนข้างสูง
ดังนั้นถ้าหากว่ากินทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละแก้ว ก็ต้องลองกลับไปดูอาหารอื่นๆ ที่กินด้วย บางคนนอกจากชานมแล้วก็ยังมีขนมเค้ก มีผลไม้หวานๆ ซึ่งพวกนี้พอเรากินเข้าไปก็จะไปรวมๆ กัน เพราะฉะนั้นต้องคำนวนอาหารทั้งหมดที่กินเลย หรือบางคนถ้ากินชานมวันละแก้ว แล้วไม่ได้กินอาหารอื่นเลย ก็อาจจะดูเหมือนว่ากินน้ำตาลไม่เยอะ แต่ในความเป็นจริงก็จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้เหมือนกัน หรือคนทำงานที่มีความเครียดจนต้องกินของหวานทุกวัน ถ้าหากว่าเขากินของหวานจนได้รับพลังงานเกินต่อวัน มีภาวะน้ำหนักขึ้น น้ำหนักเกิน ก็มีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้นได้ เพราะถ้าหากว่าเขาใช้พลังงานนั้นไม่หมด ก็จะเกิดการกระตุ้นอินซูลิน ซึ่งถ้ามีการกระตุ้นบ่อยๆ เข้า ก็เกิดภาวะดื้ออินซูลินจนเป็นเบาหวานได้เหมือนกัน
ลดน้ำตาลก่อนเบาหวานถามหา
คุณหมอต่อศักดิ์ ฝากทิ้งท้ายสำหรับคนที่ติดหวาน… ให้พยายามลดน้ำตาลลงในอาหารแต่ละชนิด หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง โดยอาจจะเริ่มจากการลดลงทีละนิด เพื่อให้ร่างกายของเราค่อยๆ ปรับไปเอง คือเมื่อเรากินหวานน้อยลง ความรู้สึกอยากของหวานก็จะค่อยๆ ลดลง รวมถึงในเรื่องของการรับรสหวานถ้าหากว่าเราไม่ได้กินหวานจัดเป็นระยะเวลาหนึ่ง พอกลับไปกินหวานอีกครั้ง การรับรสของเราจะทำให้ความรู้สึกว่าสิ่งที่กินนั้นหวานเกินไป นอกจากนี้ก็อาจจะใช้สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลแทนได้ โดยสารที่ให้ความหวานนี้ส่วนมากมักจะใช้ในกลุ่มคนไข้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาล หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน เพื่อให้ร่างกายไม่ได้รับพลังงานเยอะเกินไป หรือมีภาวะน้ำตาลสูงเกินไป จึงสามารถช่วยลด หรือช่วยควบคุมให้เราไม่ต้องกินน้ำตาลเยอะได้เช่นกัน เพราะสารแทนความหวานหลายชนิดก็เป็นสารที่ไม่ได้ให้พลังงาน เพียงแค่มีรสชาติหวาน และโดยมากก็มักจะมีรสหวานกว่าน้ำตาลหลายเท่าตัว ทำให้สามารถใช้ได้ในปริมาณที่น้อยกว่า