Probiotics จุลินทรีย์ชีพตัวจิ๋ว ที่ยิ่งรู้จัก...ยิ่งรักเธอ


เรามักจะได้ยินเรื่องโพรไบโอติกส์ (Probiotics) กันมาตลอด แต่มีใครรู้บ้างว่าจริงๆ แล้วโพรไบโอติกส์ที่ว่านี้มันสำคัญยังไงกับร่างกาย ที่ได้ยินมาว่าช่วยเรื่องการย่อย หน้าที่เขามีแค่นั้นจริงๆ หรือเปล่า วันนี้เราพามารู้จักจุลินทรีย์ตัวนี้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หมอเพื่อน-พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี หัวหน้าศูนย์พรีเมียร์ไลฟ์ เซ็นเตอร์ โรงพยาบาลพญาไท 2 





“โพรไบโอติกส์” เรารู้จักกันดีแค่ไหน
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า Probiotics ที่ว่านี้หมายถึงอะไร ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ อุทัย เก้าเอี้ยน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้คำจัดกัดความไว้ว่า โพรไบโอติกส์เป็นจุลชีพที่มีประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดโรคต่อร่างกาย คือช่วยส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรง ระบบต่างๆ สามารถทำงานได้ดี ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่หมอเพื่อนได้อธิบายให้เราฟังแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า “โพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์ตัวดีที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร และสร้างวิตามิน ช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกาย ซึ่งในร่างกายเรานั้นจะมีทั้งจุลินทรีย์ทั้งตัวที่ดีและตัวที่ไม่ดี แต่โพรไปโอติกส์จะไปช่วยเสริมสร้างสมดุลที่ดี ทั้งทางด้านอารมณ์ การนอน การย่อยอาหาร รวมถึงความอ้วนด้วย” 

 

“Probiotics มีจำนวนเซลล์ 100 ล้านล้านเซลล์ เอาเซลล์ทั้งหมดของร่างกายเรามารวมกันยังมีน้อยกว่าเขาตั้ง 9 เท่า ในสมัยก่อนการจะวัดจำนวนหรือสายพันธุ์นั้นต้องนำไปเพาะเชื้อ แต่ในปัจจุบันสามารถวัดทางพันธุกรรม หรือ Genes ได้แล้ว ซึ่งเขามีผลวิเคราะห์ออกมาแล้วว่ามีประมาณ 35,000 กว่าสายพันธุ์”



เชื่อมั้ย? ทุกคนมี “โพไบโอติกส์” ติดตัวมาทั้งแต่เกิด
ในช่วงแรกเกิดนั้นทุกคนจะมีโพรไบโอติกส์อยู่ที่ 0 เท่ากันหมด และจะเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราโตขึ้น “การคลอดแต่ละแบบก็จะทำให้เราได้รับ Probiotics คนละแบบด้วยเหมือนกัน เด็กที่เกิดจากการคลอดทางช่องคลอดก็จะได้รับโพรไบโอติกส์ทางช่องคลอด ส่วนเด็กที่เกิดจากการผ่าคลอดก็จะได้รับโพรไบโอติกส์ผ่านทางหน้าท้อง ซึ่งพอผ่านไป 2 ชั่วโมง เด็กก็จะมีจำนวนจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นในร่างกายเป็น 10,000 ล้านตัวโดยอัตโนมัติ พอผ่านไป 1 อาทิตย์ ก็จะขยับเป็น 100 ล้านล้านตัว” ซึ่งการที่ร่างกายของเรามีจำนวนจุลินทรีย์ตัวดีมากๆ ก็จะช่วยสร้างสมดุลที่ดี ช่วยในการย่อยอาหาร และสร้างวิตามิน เพราะบางทีการที่เราทานผักเข้าไป การสร้างวิตามินนั้นจะต้องอาศัยตัวช่วยเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งตัวช่วยนั้นก็คือ Probiotics หรือจุลินทรีย์ตัวดีนั่นเอง

เมื่อมีแล้ว...ทำไมเรายังต้อง “เติม” เพิ่มเข้าไปอีก
แม้ว่าร่างกายจะสามารถสร้างจุลินทรีย์เองได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในร่างกายเรานั้นก็มีทั้งจุลินทรีย์ตัวดีและตัวร้าย ซึ่งปริมาณตัวดีและตัวร้ายในแต่ละคนนั้นจะมีแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมส่วนตัว “คนที่ชอบนอนดึก ดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะทำให้ตัวดีถูกทำลาย เพราะฉะนั้นเมื่อร่างกายมีตัวร้ายมากกว่าตัวดีก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายตามมา บางคนมีอาการซึมเศร้าหรือ Depression หรือมีอาการของ Metabolism ภาวะการเผาผลาญทำงานไม่ดี กลายเป็นโรคอ้วนได้” ซึ่งเราเรียกความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันนี้ว่า “Gut Brain Skin Axis”




Photo Credit: MDPI


 
“Gut Brain Skin Axis” ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวก้อยกันไปมา
นี่เป็นความสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ในลำไส้ สมอง และผิวหนัง ซึ่งคุณหมอได้อธิบายว่า “ลำไส้มีส่วนสัมพันธ์กับโรคทางผิวหนัง รวมถึงสมอง ไม่ว่าจะเป็นผิวที่เป็นสิวอักเสบ Acne หรือว่าเป็นผื่นภูมิแพ้ ใครที่เป็นๆ หายๆ หรือแม้แต่คนที่เป็นหอบหืด ก็ล้วนมาจากการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในร่างกายตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปัจจุบัน” และเมื่อร่างกายของเรามีจุลินทรีย์ที่ดีมาก มันก็จะช่วยควบคุมดูแลไม่ใช่แค่เรื่องทางเดินอาหาร การย่อยอาหาร แต่ยังรวมไปถึงสมอง ผิวหนังและลำไส้ด้วย ในขณะเดียวกันถ้าเรามีตัวร้ายมากกว่าตัวดี ก็อาจส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคกระเพาะ กรดไหลย้อน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอนไม่หลับ ไมเกรน หรือแม้แต่โรคที่ทุกคนไม่อยากเจออย่าง “มะเร็ง” 

 

“เมื่อไหร่ที่เราทานอาหารไม่ดี Probiotics ก็จะย่อยตัวที่ไม่ดี ทำให้เกิดเป็นสารฟีนอล และสารอื่นๆ ที่เมื่อรวมตัวกันแล้วก่อให้เกิด Carcinogen ที่ทำให้เกิดเป็นมะเร็งได้” 


 
Gut Microbiome ตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์ ชี้เป้าตัวดีตัวร้าย
เมื่อรู้แล้วว่าทำไมร่างกายของเราควรมีจุลินทรีย์ตัวดีเยอะๆ คำถามก็คือแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าตอนนี้ร่างกายเรามีตัวดีมากพอหรือยัง “Microbiome คือการที่เราไปศึกษาสมดุลทั้งหมดของลำไส้ โดยสมัยก่อนจะใช้เวลาค่อนข้างนานในการเพาะเชื้อ เพื่อที่จะดูว่าแต่ละเชื้อมีมากน้อยเท่าไหร่ แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันได้มีการวิจัยที่วิเคราะห์โดยไล่รหัสพันธุกรรมของจุลินทรีย์แต่ชนิดให้เรารู้ และนำมาตรวจว่าแต่ละคนมีตัวดีตัวร้ายมากน้อยเท่าไหร่ มีสายพันธุ์อะไรบ้าง” ซึ่งการตรวจนี้คุณหมอบอกว่าจะใช้การตรวจผ่านอุจจาระ เพราะลำไส้เป็นแหล่งรวมจุลินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุด เราจึงต้องดูส่วนที่ออกมาจากทางเดินอาหารเพื่อให้เกิดความชัดเจนที่สุดนั่นเอง

สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าแล้วการที่เราเดินไปซื้อโพรไบโอติกส์มาทานเองนั้นสามารถทำได้หรือไม่ คุณหมอก็ไม่ได้ห้าม เพราะมันก็เป็นการเติมจุลินทรีย์ตัวที่ดีเข้าไป เพียงแต่ว่าผลลัพท์ที่ได้ก็จะเป็นรวมๆ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงหรือแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดที่สุด “Probiotics ที่ทานกันทุกวันนี้ ค่อนข้างที่จะเป็นตัวเดียวกันหมด ทุกคนได้รับตัวเดียวกันหมด แต่ที่สำคัญคือจริงๆ แล้วร่างกายเราอาจจะไม่ได้ต้องการทั้งหมดในนั้นก็ได้ สิ่งที่เราต้องการคือการเติมในตัวที่เราต้องการจริงๆ เพราะฉะนั้นการตรวจจะทำให้เรารู้ว่าต้องเติมตัวไหนเข้าไป เพื่อใส่ให้ถูกตรง ให้ตรงกับสิ่งที่ขาดจริงๆ และตรงกับสายพันธุ์ของเขา”

 

“จุลินทรีย์ของคนในแต่ละเชื้อชาติจะมีความแตกต่างกัน เช่น ไทย จีน สหรัฐฯ เพราะฉะนั้นการดูโดยการวิเคราะห์ว่าเรามีสายพันธุ์อะไร ก็จะช่วยให้เราได้เติมเต็มได้ตรงจุดมากที่สุด”


 
ถึงตอนนี้เราเชื่อว่าทุกคนคงจะรู้จัก พรีไบโอติกส์ กันมากขึ้นแล้ว รวมถึงเข้าใจความสำคัญของการมีจุลินทรีย์ตัวดีนี้ในร่างกาย เดี๋ยวครั้งหน้าเราจะมาแชร์เทคนิคการเติม Prebiotics แบบง่ายๆ ที่ทำได้ทุกวัน กันต่อ ถ้าไม่อยากพลาด ปักมุดรอเลย!
-->