ป่วยใจจนป่วยกาย คิดไปเองหรือเป็นจริง?

ล่าสุด นางเอกชื่อดังแดนมังกร “จ้าว ลู่ซือ” ได้ออกมาบอกว่าเธอป่วยเป็น Conversion Disorder จากความเครียดและควาามกดดันจากต้นสังกัดของเธอ ซึ่ง Conversion Disorder คือ โรคที่ปัญหาสุขภาพจิตไปรบกวนการทำงานของสมอง ซึ่งความเครียดส่งผลให้เกิดการป่วยกาย มีภาวะร่างกายอ่อนแรงและการรับรู้ทางประสาทลดลง 



เครียดจนป่วย? โรคนี้ไม่ใช่การเรียกร้องความสนใจ แต่คือโรคที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมได้
Conversion Disorder เรียกง่ายๆ คือความเครียดและความกดดันที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายโดยตรงจนทำให้ป่วยได้เลย บางคนอาจมีอาการ ตัวชา ชัก พูดไม่ได้ ตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไปถึงเดินไม่ได้ หรือไม่ได้ยินเสียงเลย พญ.เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ (แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ รพ.วิมุต)  ได้ยกตัวอย่างคนไข้ที่น่าสนใจว่า “มีวัยรุ่นทะเลาะกับแม่แล้วกรี๊ดออกมา หลังจากนั้นก็พูดไม่ได้เลย แต่ยังไอและทำเสียงอืออาได้ปกติ หลังจากนั้น 2-3 วันก็กลับมาพูดได้”

นอกจากนี้ สมัยก่อนเราอาจได้ยินชื่อ “โรคฮิสทีเรีย” ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์ได้จัดให้อยู่ในกลุ่ม Conversion Disorder โดยส่วนใหญ่มีอาการการคล้ายกัน อย่างการพูดหรือเดินไม่ได้แบบฉับพลัน อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือทหารในช่วงสงครามโลก เพราะต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันในสนามรบสูงมากจนเกิดอาการทางกายจากโรคนี้

โรคนี้รักษาได้ไหม แล้วต้องทำยังไง?
หลักๆ จะเริ่มจากการวินิจฉัยกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับ Conversion disorder โดยจะประเมินด้วยเจตนาและเป้าหมายของผู้ป่วยว่าจริงๆ แล้วมีอาการเป็นยังไง แล้วต้องการอะไร
  • Conversion Disorder เป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่มีเจตนาในการแสดงออก และอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการจริงที่ไม่สามารถอธิบายได้จากการตรวจร่างกาย 
  • Factitious Disorder เป็นภาวะที่ผู้ป่วยแกล้งเพื่อเรียกร้องความสนใจ
  • Malingering ภาวะที่ผู้ป่วยเจตนาแกล้งป่วยแบบผลประโยชน์ หรือหลีกเลี่ยงในการทำอะไรบ้างอย่าง

ดังนั้นก่อนรักษาเลยต้องตรวจอย่างละเอียดก่อน ว่าเป็นอะไรกันแน่เพื่อการรักษาอย่างถูกวิธี  เพราะถ้าหากรักษาผิดพลาด หรือไม่ถูกวิธี สามารถทำให้ผู้ป่วยแย่ลงได้ การรักษาโรค Conversion Disorder สามารถทำได้ทั้งวิธีจิตบำบัด, กายภาพบำบัด หรือการใช้ยา โดยแพทย์ผู้รักษาจะเลือกวิธีที่เหมาะสมตามอาการ

หัวใจสำคัญ คือการให้กำลังใจและคอยซัพพอร์ตอยู่เคียงข้างเพื่อให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น 
พญ.เพ็ญชาญา กล่าวว่า สิ่งที่ไม่ควรทำเลย และต้องระวังคือคำพูด เช่น ตรวจแล้วก็ปกติดีหนิ คิดไปเองหรือเปล่า? นอกจากจะไม่ช่วยให้ดีขึ้นแล้ว อาจทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลงได้ เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น จิตใจเริ่มมั่นคงขึ้น เราจะค่อยๆอธิบายถึงที่มาที่ไปของอาการเหล่านี้ และหาวิธีรับมือกับสิ่งที่จะมากระทบจิตใจจนทำให้แสดงอาการ โดยคนรอบข้างก็เป็นคนสำคัญที่สามารถช่วยได้ด้วยเช่นเดียวกัน 

“อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า Conversion Disorder ทำให้เกิดความผิดปกติทางกายได้จริง ไม่ใช่การแกล้งทำหรือการเรียกร้องความสนใจ ตัวผู้ป่วยเองก็มักจะสับสนและกังวลกับอาการที่เกิดขึ้นมากอยู่แล้ว เราก็ควรช่วยผู้ป่วยด้วยการให้กำลังใจและรับฟังผู้ป่วยให้มาก ๆ และไม่กดดันหรือเร่งให้ผู้ป่วยหาย แต่ควรให้เวลาในการรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเราสร้างเซฟโซนให้ผู้ป่วย จิตใจพวกเขาก็จะดีขึ้น และอาการทางกายก็จะหายดี”
-->