APS โรคที่คุณหมอบอกว่า “คุณแม่มือใหม่” ต้องระวัง!
ใครที่มีแพลนจะผลิตลูก บอกเลยว่านอกจากต้องฟิตร่างกายให้พร้อมแล้ว ยังต้องหันมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเสี่ยงต่างๆ ของการตั้งครรภ์ไว้ด้วย เพราะเดี๋ยวนี้มีโรคให้ต้องระวังมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือ APS โรคที่แม้คุณหมอจะบอกว่ามีโอกาสเกิดได้น้อย แต่ผลของมันก็อันตรายมากเลยทีเดียววันนี้เรามีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับ นายแพทย์ อดิศร อักษรภูษิตพงศ์ สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ถึงเรื่องนี้กันแบบเจาะลึก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้เข้าใจ และเรียนรู้วิธีการรับมือ
APS โรคนี้...เป็นยังไง
โรคนี้มีชื่อเต็มว่า Antiphospholipid Syndrome เป็นโรคที่มีสาเหตุจากการเกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติของคุณแม่ที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ ซึ่งในคุณแม่ตั้งครรภ์บางคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติก็อาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีโรคนี้แอบแฝงอยู่ด้วยซ้ำหากไม่มีการตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และอันตรายของโรคนี้ก็คือ อาจทำให้เกิดการแท้ง โดยเฉพาะการแท้งซ้ำซากติดต่อกันหลายครั้ง รวมถึงภาวะผิดปกติต่างๆ ได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ รกเสื่อม ทารกตัวเล็ก หรือเจ็บท้องก่อนกำหนด
ความน่ากลัวคือ...โรคนี้ไม่มีอาการบอกชัดเจน
"อาการของโรคที่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจน “คุณแม่ต้องมีผลเลือดและอาการหรือประวัติการเจ็บป่วย มายืนยันกับแพทย์ว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อน หรืออาจมีความเสี่ยง ถ้ามีโรค SLE ซึ่งความจริงแล้วแม้จะมีผลเลือดผิดปกติก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรค APS กันทุกคน เพราะ 1-5% ของคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจมีผลผิดปกติได้แต่ยังไม่เป็นโรค APS เพราะค่าผลเลือดที่ผิดปกติเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการเกิดโรคนี้เท่านั้น”
มองภาพให้ชัด...อาจคล้ายโรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน
คุณหมออธิบายเพื่อให้เราเห็นภาพได้ง่ายขึ้นว่า “โรคนี้จะทำให้ลิ่มเลือดแข็งตัวง่าย เมื่อเส้นเลือดดันไปอุดตันตามแขนหรือขา จะสังเกตได้ว่าบริเวณนั้นก็จะบวมขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับคนที่ไม่ได้ท้อง มันก็คล้ายกับโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน ที่เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้ แต่ในเคสที่เกิดกับคนท้อง ตัวโรคจะทำให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือดแดง เส้นเลือดดำ จนส่งผลให้เกิดความแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ตามมาได้นั่นเอง”
ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ...ทำให้แท้งลูกได้ยังไง
“ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติของแม่จะไปทำลายฟอสโฟไลปิด หรือไขมันที่เยื่อหุ้มเซลล์ต่างๆ ทำให้การทำงานของเซลล์ต่างๆผิดปกติ และส่งผลให้การไหลเวียนของเส้นเลือดเกิดปัญหา เพราะเมื่อเกิดการอุดตัน ก็ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเด็กในครรภ์ได้ และหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาก็มีโอกาสเกิดการแท้งได้ในที่สุด” แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะคุณหมอยังเล่าว่าอีกภาวะหนึ่งที่อาจเจอได้ก็คือเส้นเลือดของรกมีปัญหา ทำให้ทารกที่คลอดออกมามีขนาดตัวเล็ก หรือแย่กว่านั้นคือแม่อาจมีภาวะครรภ์เป็นพิษที่อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์
คุณแม่กลุ่มไหน เข้าข่ายมี “ความเสี่ยง”
แม้คุณหมอจะบอกว่าไม่มีข้อมูลบอกไว้ชัดเจนว่าพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระวังคืออะไร แต่สิ่งที่ยืนยันได้ว่ากลุ่มนี้แหละที่ต้องเฝ้าระวัง ก็คือ คุณแม่ที่มีโรคประจำตัวอย่าง SLE, เคยมีประวัติแท้งลูกบ่อย, เคยมีลูกเสียชีวิตในครรภ์, มีอาการเจ็บท้องก่อนกำหนดจากครรภ์เป็นพิษ หรือรกเสื่อมในช่วงที่อายุครรภ์น้อยๆ แต่อาการเหล่านี้จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อผ่านการตั้งครรภ์มาก่อน ดังนั้นสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่อยากรู้ภาวะเสี่ยงของตัวเอง เราแนะนำให้เข้าไปตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า เพื่อผลตรวจที่แม่นยำ
จุดเริ่มต้นการรักษา...ฟังผลการวินิจฉัยจากแพทย์
อย่างที่เราบอก การเข้ารับการตรวจผลเลือด หรือวินิจฉัยจากเพทย์ผู้เชี่ยวชาญคือทางออกที่ดีที่สุด การรักษาหลักที่คุณหมอจะให้กับคุณแม่หลังรู้ผลตรวจ อาจเริ่มจากการให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันความผิดปกติของเลือด โดยที่การให้ยานี้ก็มีผลเสียอยู่ เพราะทำให้เลือดออกได้ง่าย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่และคุณลูก ดังนั้นคุณแม่ที่ยังไม่ได้ผ่านการวินิจฉัยว่าเป็น APS ก็จะยังไม่ได้รับการรักษาทันที
รักษาได้ตั้งแต่ Day 1...โดยไม่ต้องรอเวลา
แต่หากรู้ตัวว่าเริ่มตั้งท้อง คุณแม่สามารถเข้ารับการรักษาได้เลยหลังจากรู้ผล โดยหมอจะให้ยามาทาน ถ้าหลังจากการตั้งครรภ์สักระยะ พบว่าทารกแข็งแรงดี อาจจะเปลี่ยนมาเป็นการรักษาแบบฉีดยาแทน ยาวไปจนถึงการคลอด หรือหลังคลอด แล้วแต่สุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์เป็นหลัก และถึงแม้รักษาลูกให้พ้นภาวะของโรคนี้ตอนอยู่ในครรภ์ได้ ตัวโรคจะยังอยู่ในตัวของคุณแม่ ทำให้ในอนาคตก็ยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในแขน ขา หรือสมอง(Stroke) ทำให้บางคนอาจต้องทานยาต่อเนื่องไปตลอดชีวิตเลยก็มี
อย่างที่บอกว่าถึงแม้โรคนี้จะเจอได้ไม่บ่อย แต่หากเกิดแล้วก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตของเด็กได้เลยเหมือนกัน ดังนั้นทางที่ดีเราอยากให้คุณแม่หมั่นตรวจเช็คสุขภาพ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวคุณแม่และคุณลูกในครรภ์