'ฝังเข็ม' ศาสตร์โบราณที่รักษาโรคได้มากกว่าที่คิด

หากพูดถึงศาสตร์การแพทย์จีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 4,000 ปี คงอดไม่ได้ที่จะนึกถึง ”การฝังเข็ม” ศาสตร์ที่ถูกพบหลักฐานทางโบราณคดีครั้งแรกในยุคหินใหม่ จากการขุดพบเข็มที่ถูกฝนจากแท่งหินออกมาเป็นเข็มรูปร่างต่างๆ เช่น เข็มสามเหลี่ยม เข็มกลม และเข็มที่มีลักษณะคล้ายมีดสั้น สันนิษฐานว่าคนสมัยก่อนมีการทดลองและสังเกตพบว่าการกดนวดบริเวณที่รู้สึกเจ็บปวดสามารถบรรเทาอาการได้ ต่อมาในยุคราชวงศ์ฮั่น ก็ได้มีบันทึกคัมภีร์ซึ่งอธิบายโรคต่างๆ รวมถึงการใช้ยา และการรักษาด้วยเข็มไว้อย่างสมบูรณ์



เรียนรู้หลักการของ “การฝังเข็ม”
การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นวิธีการรักษาด้วยการแทงเข็มตามตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้หลักการรักษาตามตำราแพทย์แผนจีน ซึ่งมีการบันทึกมาตั้งแต่สมัยโบราณว่าแต่ละตำแหน่งของจุดฝังเข็มมีความสัมพันธ์และสำคัญกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยมีการบันทึกจุดฝังเข็มบนร่างกายไว้อย่างชัดเจนจำนวน 349 จุดด้วยกัน หลายคนอาจคิดว่าการฝังเข็มเจ็บเหมือนฉีดยา แต่ในความเป็นจริงแล้วเข็มที่ใช้ในการฝังนั้นมีลักษณะบางกว่าเข็มฉีดยาทั่วไปมาก ดังนั้นการฝังเข็มจึงไม่ได้เจ็บอย่างที่คิด

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยอมรับการฝังเข็มว่าสามารถรักษาโรคและอาการได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น อาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ ปวดศีรษะ ไมเกรน อาการปวดประจำเดือน  ภูมิแพ้ หอบหืด ไซนัสอักเสบ อัมพฤกษ์ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ ท้องผูก ท้องเดิน สายตาสั้นในเด็ก หรือแม้กระทั่งอาการซึมเศร้า 
และในเมื่อการฝังเข็มรักษาโรคได้มากมายขนาดนี้ เราจึงรวบรวมคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการฝังเข็ม เพื่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็มอย่างคุณหมอ ณัฐธยาน์ เฮงอุดมสวัสดิ์ แพทย์แผนจีนจากโรงพยาบาลเปาโล พระประเเดง

รักษาโรคต่างกัน...ใช้หลักการ “ฝังเข็ม” แบบเดียวกันหรือไม่?
การฝังเข็มใช้แนวคิดในการวินิจฉัยโรคแบบองค์รวม เราจะมองร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ละส่วนมีความเชื่อมโยงกัน และรักษาโรคตามสาเหตุของการก่อโรค ดังนั้นบางครั้งแม้แต่ในโรคเดียวกัน แพทย์อาจเลือกใช้วิธีการรักษาหรือจุดที่ฝังเข็มแตกต่างกัน เนื่องจากสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการต่างกัน  แต่ในขณะเดียวกันโรคที่แตกต่างกัน เช่น ปวดศีรษะและปวดท้องที่มีสาเหตุการเกิดโรคตรงกัน อาจใช้จุดฝังเข็มที่มีความคล้ายคลึงกันได้  

Photo by Corinne Kutz on Unsplash

ฝังเข็มช่วยรักษา “อาการออฟฟิศซินโดรม” ได้หรือไม่?
สำหรับมนุษย์ออฟฟิศที่กำลังบ่นปวดคอ บ่า หลังอยู่ คำตอบนี้จะกลายเป็นความสุขที่เฝ้ารอคอย เพราะคุณหมอบอกว่าการฝังเข็มสามารถช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของเลือด ช่วยคลายกล้ามเนื้อ  และก่อให้เกิดการหลั่งสารลดความเจ็บปวดขึ้นในร่างกาย ดังนั้นจึงสามารถช่วยรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม อาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง ได้เป็นอย่างดี

ไม่ใช่แค่รักษาโรค...แต่ “ความสวยความงาม” ก็ช่วยได้
การฝังเข็มสามารถช่วยรักษาในกลุ่มความงามได้เหมือนกัน เนื่องจากเมื่อใช้เข็มฝังลงบนบริเวณใบหน้าจะช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนโลหิต ทำให้ออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงบริเวณใบหน้ามากขึ้น เกิดการขับของเสีย ฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ กระตุ้นการเกิดใหม่ของคอลลาเจนใต้ผิวได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการฝังเข็มจึงสามารถช่วยฟื้นฟูผิวหน้า ทำให้ผิวสวย หน้าใส ดูสุขภาพดีได้จากภายในอย่างแท้จริง

Photo by Boxed Water Is Better on Unsplash

ฝังเข็ม...ช่วยเพิ่ม “ความสูง” ได้จริงหรอ?
การฝังเข็มเพื่อเพิ่มส่วนสูงนั้นสามารถทำได้จริง แต่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องอายุของผู้เข้ารับการรักษา คือต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี เพราะส่วนมากจะสามารถกระตุ้นการหลั่งได้ดีในช่วงวัยรุ่นตอนต้น เนื่องจากช่วยในกระตุ้นการหลั่ง growth hormone หากใช้การฝังเข็มร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนเพียงพอ จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

โรคฮิต! ที่คนชอบรักษาด้วยการฝังเข็ม
ส่วนใหญ่คนที่เข้ามารักษาด้วยการฝังเข็มมากที่สุด คุณหมอเล่าว่าจะเป็นอาการปวดต่างๆ ทั้งปวดไมเกรน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน กลุ่มที่รองลงมาจะเป็นพวกภูมิแพ้ นอนไม่หลับ ลำไส้แปรปรวน ปัสสาวะขัดจากต่อมลูกหมากโต ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี แต่คนอาจจะรู้กันน้อยว่าการฝังเข็มสามารถรักษาได้ ในส่วนของความงาม ฝังเข็มหน้าใสก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน 

ฝังเข็ม...มีผลข้างเคียงไหม?
จริงๆ แล้วการฝังเข็มเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งถ้าทำหัตถการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในส่วนของผลข้างเคียงจะมีน้อยมาก เช่น อาจมีรอยช้ำใต้ผิวหนังในบางจุด (ซึ่งรอยจะจางหายไปเองใน 1 สัปดาห์) หรืออาจมีอาการวิงเวียนศีรษะได้ง่าย ในผู้ป่วยที่ท้องว่าง หรือวิตกกังวลมาก  ดังนั้นก่อนมาฝังเข็มคุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารให้เพียงพอก่อนเข้ารับการรักษา รวมถึงระหว่างทำการรักษาให้ทำจิตใจสบายๆ ไม่กังวลหรือเกร็งมากจนเกินไป

เป็นยังไงกันบ้าง เราเชื่อว่าหลายคนคงมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการฝังเข็มกันมากขึ้น แต่ยังไงก็ตามเราขอย้ำเตือนกันอีกครั้งว่าการฝังเข็มไม่ว่าจะเพื่อการรักษาโรคหรือเพื่อความสวยงาม ก็ควรที่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด




 

-->