ปัญหาผิวแก่แดด ที่หลายๆ คนต้องเจอ
“ปัญหาผิวแก่ก่อนวัย ที่คนไทยเจอกันเยอะ” นอกจากปัจจัยภายในอย่างอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังมีปัจจัยภายนอกอีกหลายอย่างที่ทำให้ผิวแก่ขึ้น และอีกหนึ่งสาเหตุหลักๆ ก็คือแสง UVA, UVB จากแสงแดดที่เราต้องเจอเป็นประจำ ส่งผลให้ผิวเสื่อมสภาพ หรือแก่ก่อนวัยได้ ซึ่งเราเรียกว่า “Photoaging” หรือ “ผิวแก่แดด”
กว่า 80% สัญญาณแห่งวัยมาจากการได้รับรังสียูวีเป็นเวลานาน
ดร.ริชาร์ด กาโญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจาก UCSD อธิบายว่า เมื่อผิวสัมผัสแสงแดด รังสี UV พลังงานสูงจะเข้าไปทำลาย DNA, โปรตีน และ โมเลกุลสำคัญ ในเซลล์ผิว จนเป็น Photoaging หรือผิวแก่แดด ซึ่งผลกระทบของผิวหนังที่เกิดจากรังสียูวี ส่งผลให้..
- กระตุ้นให้ผลิต เม็ดสีผิวมากเกินไป – เกิดฝ้า กระ จุดด่างดำ
- ทำลายเส้นใยคอลลาเจนและอิลาสติน – ผิวขาดความยืดหยุ่น เกิดริ้วรอยก่อนวัย
- แดดในระดับปานกลางจะช่วยให้เราได้วิตามินดี แต่ถ้าแดดแรง มันไม่ใช่แค่ร้อน…แต่ทำร้ายผิวลึกกว่าที่คิด
UVA กับ UVB ต่างกันยังไง?
- UVB - รังสียูวีที่สามารถส่องผ่านถึงผิวหนังชั้นกำพร้า (Epidermis) จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระและกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีผิว (Melanocyte) ทำงานหนักขึ้น จึงทำให้ผิวเราเกิดความหมองคล้ำ หรือถ้าการกระจายตัวของเม็ดสีผิว (Melanin) ไม่เท่ากัน จะเกิดฝ้า กระ หรือจุดด่าดำนั้นเอง
- UVA - รังสียูวีที่ส่องผ่านลึกลงไปกว่า UVB ส่งผลให้มีการสร้างเอนไซม์มากขึ้น ซึ่งเป็นเอนไซม์ตัวดีในการย่อยสลายคอลลาเจนหรืออิลาสตินในใต้ชั้นหนังแท้ (Dermis) จะทำให้ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น อ่อนแอลง รวมไปถึงการเก็บความชุ่มชื่นน้อยลง ทำให้เกิดริ้วรอยร่องลึก ผิวแห้ง และความหย่อนคล้อยของผิวได้
แล้วใครบ้างที่เสี่ยงต่อผิวแก่แดด (Photoaging)?
พูดได้ว่าทุกคนล้วนเสี่ยงต่ออาการนี้ เพราะเราเจอรังสียูวีในทุกๆ วัน แต่ระดับความเสียหายของผิวก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น โดนแสงแดดแบบไม่ป้องกันในระยะยาว สภาพผิวของแต่ละคน โดยทั่วไปคนที่มีผิวสีอ่อนจะมีความเสี่ยงต่อผิวแก่แดด และมะเร็งผิวหนังมากกว่า แต่ผิวเข้มก็สามารถถูกทำลายจากแดดและเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังได้เช่นเดียวกัน
สัญญาณเตือนในวัย 20 ต้นๆ ที่พบบ่อย ว่าผิวเริ่มเสียหายจากแสงแดด
- ริ้วรอย เริ่มมา
- การเปลี่ยนแปลงของสีผิว เช่น จุดด่างดำ ฝ้า กระ
- ผิวสูญเสียความยืดหยุ่นและความกระชับ
- ผิวไม่เรียบเนียน
- เส้นเลือดฝอยแตก (มักพบรอบจมูกและหน้าอก)
- ผิวแดงและมีสีผิวไม่สม่ำเสมอ
วิธีป้องกัน photoaging หรือผิวแก่แดด ง่ายๆ โดย
ทุกวันนี้แสงแดดแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราเลี่ยงไม่ได้ แต่เราป้องกันได้การเลือกกันแดดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญมาก และวิธีใช้อย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน จริงๆ แล้วก็ทากันแดดอยู่ทุกวันนะ แต่ถูกวิธีรึเปล่ามาลองเช็คกันดู
การเลือกประเภทของครีมกันแดด
- Chemical Sunscreen: กันแดดเคมี ทำงานเหมือนฟองน้ำที่ดูดซับ โดยซึมลงไปบนผิวชั้นบน เมื่อแสง UV มากระทบกันแดดตัวนี้จะดูดซับไว้ เกิดปฏิกิริยาเคมี เปลี่ยน UV ให้เป็นพลังงานรูปแบบอื่น ไม่ทิ้งคราบขาว ควรรอ 15-30 นาทีให้ซึมลงผิวและอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้
- Physical Sunscreen: กันแดดกายภาพ ทำงานเหมือนกระจกสะท้อนแสง โดยสร้างชั้นป้องกันผิวหนัง เมื่อ UV ตกกระทบจะสะท้อนและกระจายรังสีออก ไม่มีปฏิกิริยาเคมี จึงมักทิ้งคราบขาว โอกาสแพ้และระคายเคืองน้อยกว่า
- Hybrid sunscreen: มีส่วนผสมทั้ง physical และ chemical

ควรเลือกครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB ที่มีค่า SPF (Sun protection factor) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป และที่ขาดไม่ได้คือสัญลักษณ์ PA+++ หรือ PA ++++ ทั้งนี้ยังควรเลือกครีมกันแดดชนิดกันน้ำถ้าเราต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีเหงื่อมาก
ควรทากันแดดก่อนออกแดด 15-30 นาที ใช้ในปริมาณที่เพียงพอ คือ ครีม 2 ข้อนิ้วมือ หรือแบบโลชั่นขนาดประมาณ 1-2 เหรียญสิบ อย่าลืมว่าบริเวณหู คอ และหลัง ที่เรามักถูกมองข้าม เพราะบริเวณเหล่านี้ก็สามารถเกิดริ้วรอยและจุดด่างดำได้เช่นเดียวกัน
ระดับความเข้นข้นรุนแรงของสียูวี เปลี่ยนแปลงตลอด แต่ช่วงที่แสบผิว แผดเผารุนแรงที่สุดของวัน จะอยู่ในช่วง 10.00-16.00 น. ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เราจะได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์มากกว่าจำเป็น
ไม่ควรผสมครีมกันแดดกับเครื่องสำอาง
ดร.ริชาร์ด แบล็กเบิร์น อาจารย์ประจำสาขาวิชาวัสดุศาสตร์ที่ยั่งยืน จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ แนะนำว่า ไม่ควรผสม ครีมกันแดด เข้ากับเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอื่น ๆ เช่น มอยส์เจอไรเซอร์ เพราะครีมกันแดดหลายชนิดมี อนุภาคนาโนโลหะ อย่าง สังกะสีออกไซด์ (ZnO) หากนำไปผสมสุ่มสี่สุ่มห้า อาจเกิดปฏิกิริยากับสารเคมีในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทำให้ สารกันแดดเสื่อมประสิทธิภาพ ปกป้องผิวได้น้อยลงโดยไม่รู้ตัว
*หากคุณเป็นคนมีสภาพผิวที่บอบบาง แพ้ง่าย อาจปรึกษาแพทย์เฉพาะทางในการเลือกใช้ เพื่อความปลอดภัยของสภาพผิวคุณ
Source:
https://www.bbc.com/thai/articles/cjwv285d17do
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/sunscreen